โจทย์สำคัญหลังขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวสำเร็จ

โจทย์สำคัญหลังขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวสำเร็จ

“การจัดการแรงงานต่างด้าวของรัฐทำสำเร็จด้วยความยากลำบากก็จริง แต่การจะรักษาความสำเร็จเอาไว้ให้ได้ยิ่งยากกว่า

หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเอาไว้ 3 ล้านคนเศษนั้น ควรจัดทำฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวเป็น Big Data เพื่อให้สามารถนำมาใช้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแบบ Real time ให้เร็วที่สุด บทสรุปจากการจัดระเบียบให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย

การปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service - OSS) ไปเมื่อ 30 มิ.ย. 2561 ถือว่าเป็นการสิ้นสุด “การนิรโทษกรรม” แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายและลักลอบทำงาน ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ประการแรก แรงงานต่างด้าวที่รอพิสูจน์สัญชาติจำนวนมากกว่า 900,000 คน รัฐบาลได้ใช้เวลาในการพิสูจน์สัญชาติได้แล้วเสร็จผ่านระบบ OSS ในพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวทำงานอยู่แล้ว ประการที่สอง รัฐบาลยังใจดีนิรโทษกรรมนายจ้างให้พาแรงงานที่ทำงานกับนายจ้างก่อน 31 มี.ค. 2561 แต่หลักฐานไม่ตรงและ/หรือไม่มีหลักฐานเอกสารใดๆให้สามารถนำไปจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อยภายใน 30 มิ.ย. 2561 ซึ่งก็ได้ใจนายจ้างเป็นจำนวนมากที่หาจังหวะนำแรงงานมาจดทะเบียนไม่ได้สักทีเพราะกลัวกฎหมายใหม่ที่จะทำโทษนายจ้างค่อนข้างรุนแรง ถึงแม้จะบ่นเกี่ยวกับการทำงานกระบวนการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติว่ายุ่งยากซับซ้อนมากจนต้องพึ่งนายหน้าก็ตาม แต่ทุกฝ่ายก็ช่วยกันดำเนินการจนผ่านไปได้ด้วยดี

และเมื่อสิ้นสุดเวลาผ่อนผันคาดว่าจะเป็น “ครั้งสุดท้าย” จำนวนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติทำงานเต็มปีและแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่นๆ คาดว่าจะมีจำนวนโดยประมาณดังนี้

1) พิสูจน์สัญชาติเดิม 1,315,615 คน

2) นำเข้าตามกรอบ MOU 637,770 คน

3) รวม (1 + 2) 1,953,385 คน

4) แรงงานต่างด้าวรูปแบบอื่นๆประมาณ 236,483 คน

5) รวม (3 + 4) 2,189,868 คน

6) พิสูจน์สัญชาติช่วงมีนาคม-มิถุนายน 2561 1,170,000 คน

7) รวม (5 + 6) 3,359,868 คน

หมายเหตุ *รวบรวมโดยผู้เขียน (ก.ค. 2561) อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลเป็นทางการ

จากตัวเลขข้างต้นถ้านับเฉพาะแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ น่าจะทำงานในประเทศไทยอยู่ประมาณ 3 ล้านคนเศษ หรือประมาณ 8% ของกำลังแรงงานของคนไทย นับว่าเป็นอัตราที่ตลาดแรงงานไทยต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวทุกประเภทค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานได้จัดระเบียบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายได้มากกว่า 90% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่หน้าที่ของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จบ เนื่องจากตลาดแรงงานต่างด้าวมีความเป็นพลวัตในตัวของมันเอง นั่นคือจะต้องมีคนเข้า-ออกจากงานอยู่ทุกวัน อันเนื่องมาจากแรงงานต้องการออกเองเพื่อกลับภูมิลำเนา หรือถูกนายจ้างไล่ออก หรือออกเพราะไม่พอใจสภาพการทำงานและค่าตอบแทน หรืออาจจะประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งทำให้จำนวนแรงงานพร่องลงไป ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแรงงานต่างด้าวใหม่มาทดแทนแรงงานข้ามชาติที่หายไปถ้าไม่สามารถหาแรงงานไทยมาทดแทนได้

โจทย์ที่สำคัญก็คือ 1) จะเติมเต็มแรงงานต่างด้าวที่ออกจากงาน (Turn Over)ได้อย่างไร เช่น ถ้ามีคนงานออก 2-5% คิดเป็นคนงานต่างด้าวที่ทยอยออกประมาณ 60,000 - 150,000 คนตลอดปี ในเมื่อจะไม่มีการจดทะเบียนใหม่อีกแล้ว 2) คนงานจำนวนดังกล่าว ถ้าอายุของ Passport และอายุ Work Permit ยังไม่หมด แต่กลายเป็นคนผิดกฎหมายเพราะไม่มีนายจ้างจะทำอย่างไร ถ้าแรงงานเหล่านั้นบางส่วนยังไม่อยากกลับบ้าน 3) ทางรัฐบาลไทย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ถ้าจะยังต้องการรักษาความสำเร็จที่ได้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวครั้งนี้จนสำเร็จเอาไว้ให้ได้ 4) ทำอย่างไรกับการลักลอบเข้ามาเพื่อหางานทำของแรงงานต่างด้าวใหม่และต่างด้าวผิดกฎหมายที่ค้างอยู่

การแก้ปัญหาข้างต้นตามความคิดเห็นส่วนตัวอาจจะทำได้ดังนี้ กรณีที่ 1 แรงงานต่างด้าวที่มีหลักฐานถูกต้องแต่กลายเป็นคนผิดกฎหมายและไม่ประสงค์ที่จะทำงานในไทยอีกต่อไป ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากดำเนินการส่งกลับสถานเดียว กรณีที่ 2 กรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายและพบว่าแรงงานไม่มีหลักฐานใดๆเกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำงานโดยรัฐ จะต้องทำประวัติไว้แล้วและต้องส่งกลับทันที (เพื่อลดภาระรายจ่ายของรัฐ) กรณีที่ 3 กรณีที่แรงงานต่างด้าวยังมีระยะเวลาวีซ่าผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยและเคยมีใบอนุญาตทำงานและประสงค์จะอยู่ในประเทศไทย (เท่าที่เวลาที่เหลือ) รัฐบาลอาจจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์บางประเภทเพื่อรับแจ้งจดทะเบียนผู้ประสงค์จะทำงานเหล่านี้ก็ได้ จะไปเปิดที่บริเวณชายแดนหลักๆของไทย เช่น สระแก้ว หนองคาย แม่สาย แม่สอด เป็นต้น สำหรับนายจ้างที่ต้องการแรงงานและมีโควตาอยู่แล้วก็สามารถแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวเอาไว้ที่ศูนย์จัดหางานชายแดน และสามารถ Matching กับแรงงานต่างด้าวได้โดยตรง กรณีที่ 4 ถ้านายจ้างที่มีโควตาอยู่แล้วก็อาจจะรับคนงานใหม่ผ่านกระบวนการ (MOU) มีการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดหายไป กรณีสุดท้าย ทางหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเอาไว้ 3 ล้านคนเศษนั้นจะต้องรับจัดทำฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวเป็น Big Data เพื่อให้สามารถนำมาใช้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแบบ Real time ให้เร็วที่สุด

จึงขอเสนอทางเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะนี้โดยเร่งด่วนไม่มากก็น้อยเพื่อให้มาตรการของรัฐที่ได้ดำเนินการไปแล้วจนสำเร็จสามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจนเข้ารูปเข้ารอยไปแล้วไม่สูญเปล่า

 

โดย... 

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)