เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (1) ***

เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (1) ***

เค้าโครงเศรษฐกิจของ ท่านปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์

 การจะสถาปนาให้เกิดระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงได้ต้องอาศัยการอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ การอภิวัฒน์เฉพาะทางการเมืองไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง

หากพิจารณา “เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง จะพบว่า ตั้งอยู่บนรากฐานของความคิดแบบภราดรภาพนิยม แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialism) ผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม บวกกับ หลักพุทธธรรมและมนุษยธรรม โดยท่านจะให้ความสำคัญต่อการวางรากฐานประชาธิปไตยให้เข้มแข็งแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการศึกษา การต่างประเทศ และการวางแผนทางเศรษฐกิจ

ในช่วงทศวรรษ 2470 นอกจากสยามจะพบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ยังมีกระแสต่อต้านระบอบอภิสิทธ์และสัมปทานผูกขาดของนักธุรกิจชาติตะวันตกในสยาม สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการกีดกันการเติบโตของทุนสยามและทุนจีนอพยพในสยาม พ่อค้าชาวตะวันตกได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทำให้ได้เปรียบพ่อค้าไทยจีน สนธิสัญญาที่เราไปทำกับชาติตะวันตกแล้วเสียเปรียบถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระแสเศรษฐกิจชาตินิยมเริ่มเกิดขึ้น กลุ่มพ่อค้าไทยจีนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนขบวนการอภิวัฒน์ 2475 เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจนำมาสู่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ดีขึ้น

2 เดือนหลังการเข้ายึดอำนาจ มีการเสนอให้จัดตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศโดยกลุ่มทุนท้องถิ่น มีความเคลื่อนไหวของ นายมังกร สามเสน เสนอต่อรัฐสภาให้ก่อตั้งสภาแห่งชาติเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของสยาม เป้าหมายก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศแข่งขันกับต่างชาติ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวจึงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากชาตินิยมทางเศรษฐกิจ

ท่านปรีดีมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมากในฐานะ ‘มันสมองของคณะราษฎร’ และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา

ในช่วงต้นของการยึดอำนาจ เศรษฐกิจไม่ดีและมีคนว่างงานจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่เร่งวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามที่ได้สัญญาเอาไว้ตามหลัก ๖ ประการด้วยการหางานให้ราษฎรทำ ทั้งที่มีแรงกดดันให้เร่งรัดเค้าโครงการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับจากสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะจากกลุ่มก้อนผู้สนับสนุนท่านปรีดี

ในวันที่ 21 ก.ย. รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยการลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าที่สวน อีกราว 1 เดือนถัดมา รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คณะราษฎรได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปเพียงบางส่วนในช่วงแรกหลังยึดกุมอำนาจรัฐ

ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ ความเหลื่อมล้ำในโอกาส ช่องว่างระหว่างรายได้และการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน โดยปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ได้มีการนำเสนอแนวทางแก้ไขไว้ใน เค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดี โดยที่แนวทางบางอย่างยังนำมาปรับใช้ในปัจจุบันและอนาคตได้ แต่นโยบายหรือมาตรการบางเรื่องอาจจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัย

สาระสำคัญหลักของเค้าโครงการเศรษฐกิจจะพบว่าสอดคล้องกับ แนวคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ในเรื่องบทบาทของรัฐในการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข ระบบประกันสังคมและการประกันการว่างงาน การจัดเก็บภาษีมรดกภาษีทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นแหล่งรายได้ของรัฐในการนำมาพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวความคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนของ ดร. ป๋วย นั้นมีความโน้มเอียงมาในทางเสรีนิยมมากกว่าแนวคิดในเค้าโครงสมุดปกเหลือง ขณะที่เค้าโครงสมุดปกเหลืองจะสะท้อนแนวคิดแบบสังคมนิยมและชาตินิยมมากกว่าแนวคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ความแตกต่างนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพแวดล้อมและบริบทที่ต่างกันด้วย

ส่วนแนวทางการจัดสวัสดิการในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อมา พัฒนาเป็น หลักประกันสุขภาพ หรือ นโยบายเรียนฟรี 12 ปี เรียนฟรี 15 ปี ล่าสุดจะมีการจดทะเบียนประชาชนรายได้น้อยเพื่อรัฐจะได้จัดสวัสดิการได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย การมีภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นโยบาย มาตรการ กฎหมายต่างๆ ที่ถูกพัฒนาในภายหลังจำนวนไม่น้อยเป็นไปในทิศทางเดียวกับพื้นฐานแนวคิดที่เป็นสาระสำคัญในเค้าโครงสมุดปกเหลือง

ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมค่อนข้างต่ำ ในปี 2551 ค่าใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมทั้งหมดเท่ากับ 2.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.8% ของGDP(จีดีพี) เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีกับประเทศในกลุ่ม OECD จะเห็นว่าไทยมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านนี้ต่ำกว่ามาก หากพิจารณาเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการด้านสุขภาพ คนไทยทุกคนมีสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบข้าราชการ จะทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับประชากรกลุ่มอายุวัยเด็ก (0-15 ปี) เท่ากับ 5,003 บาท วัยทำงาน (16-59 ปี) 6,999 บาท และวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 32,848 บาท และประมาณว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเท่ากับประมาณ 8 แสนล้านบาท หรือประมาณ 4.24% ของจีดีพี (อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแท้จริง 4% ต่อปี)[1]

ช่วงปี 2552-2557ร ายได้ของรัฐบาลกว่า 90% มาจากภาษีอากร รัฐมีรายได้ทั้งหมดประมาณ 1.7-2.3 ล้านล้านบาท รายได้จากภาษีคิดเป็นไม่เกิน 20% ของจีดีพี หรือประมาณ 1.5-1.9 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่มีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็งจะมีรายได้ภาษีเทียบกับจีดีพีสูงกว่าไทยมาก(อ่านต่อ ตอนที่ 2)

 

*** ชื่อเต็ม: เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สู่ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน​(1)