จุดท้าทาย‘แก่งกระจาน’ มรดกทางธรรมชาติ

จุดท้าทาย‘แก่งกระจาน’  มรดกทางธรรมชาติ

จ.เพชรบุรี ยังอยู่ในภาวะเฝ้าระวังน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน เมื่อวานผมไปเมืองเพชร เห็นคนที่ออกจากบ้านเพื่อหนีน้ำ กำลังขนของออกจากโรงแรม กลับบ้าน

ชาวบ้านบางคนบอกว่า ขนของขึ้นมา 7 วันแล้ว แต่ก็ปลอบใจตัวเองเพราะฝนใหญ่จะมาอีกในเดือนต.ค.-พ.ย.

อีกด้านเหตุการณ์ครั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องมาทบทวนสถานการณ์การโค่นป่าเหนือเขื่อน ไม่ใช่แค่ลดความเสี่ยงน้ำท่วม แต่เป้าหมายใหญ่คือ การขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 2 ของประเทศไทย

ความสำคัญของผืนป่าแก่งกระจาน คือความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางธรรมชาติ ไม่ปฏิเสธว่ากลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในผืนป่านี้ มาก่อนที่รัฐจะประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบลงไป และนั่นย่อมกระทบวิถีการทำไร่เลื่อนลอย ของกลุ่มชนเผ่าอย่างเลี่ยงไม่ได้

รัฐเข้าใจถึงสภาพปัญหานี้ดี จึงพยายามช่วยเหลือชนกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งมติครม.30 มิ.ย.2541 และคำสั่งคสช.66/2557 ให้ชนเผ่าอยู่กับป่าได้แต่ต้องไม่บุกรุกป่าเพิ่ม

เมื่อกลุ่มชนเผ่าได้รับสัญชาติ ได้รับสิทธิความเป็นคนไทย ย่อมจะต้องอยู่ใต้กฎหมายไทย ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับวิถีกลุ่มชาติพันธุ์

เพื่อเป้าหมายการขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องไม่มีความขัดแย้งระหว่างคนที่อยู่ในป่ากับเจ้าหน้าที่ ดังนั้น จึงแต่งตั้งผู้นำผู้บ้านโป่งลึก บางกลอย ร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมวางแนวทางชุมชนในการรักษากติกา และไม่ทำผิดกฎหมาย