“ความกล้าหาญ” “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ความเพ้อฝัน”

“ความกล้าหาญ” “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ความเพ้อฝัน”

ด้วยเหตุที่มีเนื้อที่ในการนำเสนอค่อนข้างจำกัดเพราะส่งต้นฉบับเป็นรายท้ายสุด จึงคิดอ่านอยู่นานว่าน่าจะนำเสนอเรื่องที่จะต้องเข้าประเด็น

แบบร่วมสมัยและสามารถเชิญชวนให้คนอ่านได้คิดตาม ได้ช่วยกันตรวจสอบทั้งตัวท่านเองและหน่วยงานของทุกท่านว่ามีปัญหาเหล่านี้อยู่ด้วยหรือไม่ ย่อมถือว่าเป็นการเชียนอันบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้โดยสมบูรณ์

ชื่อเรื่องอาจดูเหมือนจะไปรบทัพจับศึกกับใครถึงต้องมี “ความกล้าหาญ” แต่แท้จริงแล้ว คำนี้เป็นเรื่องของสามัญสำนึกในการแสดงความรับผิดชอบและปฎิบัติหน้าที่ของคนเราด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม โดยไม่หวั่นเกรงกับอิทธิพลหรือแรงบีบคั้นที่เข้ามาแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นจากภายนอกหรือด้วยกิเลศ ตัณหา อคติสี่ประการ อันได้แก่ ความรัก โลภ โกรธ หลง ที่มักพกพาไปด้วยความอยากได้อยากมี รวมไปถึงความเกลียดชังริษยาอาฆาต อันเป็นบ่อเกิดแห่งการสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงในการตัดสินใจประกอบกิจการงานต่างๆ ของมนุษย์โดยทั่วไป

เป้าหมายการปฎิรูปประเทศ จึง“อยากได้” คนที่เราพูดกันติดปากว่า “ต้องทั้ง เก่ง และ ดี” มาเป็นคนนำองค์กร หรือเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งที่เมื่อจะให้ต้องปฎิบัติงานในหน้าที่ จำเป็นต้องมี “ความกล้าหาญ” ด้วยประการทั้งปวง แต๋ที๋ได้พบเห็นในหลายเหตุการณ์ในหลายองค์กรตามที่เป็นข่าวในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์บ้าง โลกเสมือนจริงบ้าง บางทีสะท้อนการก้าวไปไกลเกินเลย “ความกล้าหาญ” ขนาดที่พยายามจะมองว่า เป็นเรื่องของ “ความคิดสร้างสรรค์” ยังดูว่าน่าจะเลยเถิดกลายเป็นความฝันที่อาจร่ำร้องอยู่ในหัวจิตหัวใจของหัวหน้าหรือผู้นำองค์กรนั้นๆ แต่เพียงผู้เดียว

ยอมรับครับว่า คนที่เอา “ความฝัน” มาสานต่อเป็นความสำเร็จมีไม่น้อย ตัวอย่างหนึ่ง คือ Walter Elias Disney หลายคนอาจงงงงว่า “ใครเหรอ?” ถ้าอ่านชื่อหลังของเขาน่าจะคุ้นกันดี เขาคือ เจ้าของ Disney World ที่มีอยู่หลายแห่งในโลกใบนี้ เป็นผู้ประสบความสำเร็จมาจากความฝันของเขาด้วยความบีบคั้นหลายๆ อย่างในวัยเด็ก แต่คำว่า “Mickey Mouse” ของเขาก็กลายมาเป็นแสลง (คำที่มีความหมายสื่อไปคนละเรื่องกับคำที่คนทั่วไปเข้าใจ) เพราะความช่างฝันของดิสนีย์ ทำให้คนที่อาจหมั่นไส้ เอาชื่อตัวการ์ตูนสุดโปรดของเขาไปล้อเลียนเป็นคำที่สื่อความหมายในทางเสียหาย เช่น Mickey Mouse Operation หมายถึงการต่อว่า คนที่ทำอะไรแบบฉาบฉวย จับแพะชนแกะ เหมือนอย่างที่เราเห็นผู้บริหารหลายองค์การเวลานี้ ที่บางทีคิดอ่านเรื่องอะไรดูๆ ไปเป็นที่ฮือฮา เหมือนจะดูดี ดูล้ำ (สมัย) แต่มุมสะท้อนกลับที่ก็มีมาก เพราะ “ความล้ำ” รวมทั้งสิ่งที่ดูเหมือนจะสร้างสรรค์ เอาเข้าจริงอาจเข้าใจได้ว่าที่ทำอย่างนั้นอย่างนี้มันเหมือนจะซ่อน “ความอยากส่วนตัว” ของบุคคลคนนั้นมากกว่าหวังเห็นผลลัพทธ์ที่จะได้กับองค์กรหรือส่วนรวม

จึงถือว่า หากจะสนับสนุนบุคคลลักษณะนี้ให้ก้าวไปเป็นผู้บริหารในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงยิ่งขึ้นไปน่าจะเป็นอันตราย เพราะนอกจากยังไม่เข้าข่ายผู้มีความกล้าหาญ หรือมีความคิดสร้างสรรค์ แต่กลับมากล้นไปด้วย “ความเพ้อฝัน” ซึ่งพบเห็นว่าในเวลานี้กระบวนการขายความฝันมีมาก ไม่ว่าจะข้าราชการหรือนักการเมือง รวมทั้งธุรกิจ แวดวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่เขียนมาถึงตรงนี้เพื่อสะท้อนปัญหาและอยากเห็นบ้านเมืองของเรามี “คนดีจริง เก่งจริง” เข้ามาช่วยกันทำงานมากมาก โดยเฉพาะทางราชการหรือหน่วยงานทั้งหลายที่เหมือนจะเน้นการจัด “อีเว้นท์” ใช้งบประมาณมากมายสำหรับประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ของ “หน่วยงานและอาจพ่วงตนเองไปด้วยพร้อมๆ กัน ”เป็นภารกิจหลัก แต่งานในหน้าที่ให้ความสำคัญเป็นเรื่องรองอย่างน่ากังวลยิ่ง