สงครามการค้าอาจไม่จบง่ายๆ

สงครามการค้าอาจไม่จบง่ายๆ

ความตึงเครียดเกี่ยวกับสงครามการค้ามีมากขึ้น หลังสหรัฐฯกำลังพิจารณาเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งมีมูลค่ารวม 2แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่จีนเตรียมตอบโต้โดยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มีมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯราว 1.30 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯราว 5.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าให้จีนราว 3.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯมากที่สุด ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างเม็กซิโกซึ่งในปีที่แล้วเกินดุลการค้าสหรัฐราว 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น จีนจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯในความพยายามลดการขาดดุลการค้า

ทั้งนี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯให้เหตุผลในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนว่า จีนเอาเปรียบสหรัฐฯ มีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยให้บริษัทสหรัฐฯถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีนเพื่อแลกกับการเข้าถึงตลาดจีน ในขณะที่จีนตอบโต้ว่าได้ปฏิบัติตามกฏขององค์การการค้าโลกทุกประการ

ในช่วงแรก สหรัฐฯไม่ได้เปิดสงครามการค้ากับจีนโดยตรง โดยใช้การขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซล่าร์เซลล์และเครื่องซักผ้า เหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งส่งผลกระทบกับหลายประเทศ ก่อนที่จะเริ่มพุ่งเป้าไปที่จีนอย่างชัดเจน โดยประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนชุดแรกมีมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ 25% ในขณะที่จีนตอบโต้โดยการประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯในอัตราและมูลค่าที่เท่ากัน หลังจากนั้น คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ 10% ก่อนที่จะปรับเป็น 25% ซึ่งอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 5 กันยายน โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมีมูลค่าราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทางด้านจีนได้มีการกล่าวเตือนสหรัฐฯว่าให้คิดให้รอบคอบ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคและประชาคมโลก เพราะการที่สหรัฐฯพยายามข่มขู่จีนเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ และจีนจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อคำขู่ของสหรัฐฯแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่จีนจะยอมทำตามที่สหรัฐฯพยายามต่อรอง เนื่องจากจีนมองว่าจีนได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฏเกณฑ์ทุกอย่าง ในขณะที่สิ่งที่รัฐบาลของประธานาธิบดีสหรัฐฯกำลังปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักสากล ดังนั้น กลยุทธ์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่มักใช้การสร้างประเด็นเพื่อให้เกิดการเจรจาต่อรอง ซึ่งเคยได้ผลกับหลายๆประเทศ อาจจะใช้ไม่ได้กับจีน และประธานาธิบดีสหรัฐฯน่าจะรับรู้แล้วว่าโอกาสที่จะบีบจีนให้ปฏิบัติตามที่สหรัฐฯต้องการเป็นไปได้ยาก แต่จากการที่เขาปฏิบัติตามที่เคยหาเสียงไว้ว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” และการฉีกแนวปฏิบัติที่เคยเป็นมา รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตดีต่อเนื่อง ส่งผลให้คะแนนนิยมของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ น่าจะส่งผลให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะยังคงเดินไปตามแนวทางที่ทำอยู่ ณ ตอนนี้

ในส่วนของจีนก็น่าจะมองว่าเศรษฐกิจจีนมีความสามารถที่จะรองรับมาตรการของสหรัฐฯได้ โดยนายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีนคาดว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯแทบไม่ทำให้จีนกระเทือน เนื่องจากการเก็บภาษี 25% จากสินค้านำเข้า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมูลค่าภาษีเพียง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียง 0.4% ของจีดีพีจีนที่มีมูลค่าสูงถึง 12.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 นอกจากนี้ จีนอาจมองว่าจีนจะได้เปรียบสหรัฐฯในแง่ของตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่า โดยในปี 2559 จีนมีประชากรราว 1.379 พันล้านคน ในขณะที่สหรัฐฯมีประชากรราว 325.7 ล้านคนในปี 2560 ดังนั้น หากจีนกีดกันการเข้าถึงตลาดของสหรัฐฯก็จะส่งผลให้สหรัฐฯเสียโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

สำหรับในระยะต่อไป หากสหรัฐฯยังคงดำเนินนโยบายกีดกันการค้า ในขณะที่ประเทศอื่นๆต่างเร่งทำสัญญาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) สหรัฐฯก็จะสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขัน เพราะสหรัฐฯต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่สูงกว่าประเทศอื่นๆจากการอัตราภาษี ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการบริโภคสูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้าก็จะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ เนื่องจากจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า

อย่างไรก็ดี สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯอาจจะเป็นประโยชน์กับประเทศอื่นๆ เพราะบริษัทของจีน สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อาจหลีกเลี่ยงการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตจากจีนและสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ดี การที่สงครามการค้ามีแนวโน้มยืดเยื้อ (หากทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถตกลงกันได้) ในระยะสั้นตลาดอาจมีความผันผวน แต่ในระยะยาวแล้ว ทุกฝ่ายอาจปรับตัวและอยู่กับความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น