รัฐบาลมาเลเซียในการต่อต้านการก่อการร้าย ค.ศ.2003-2005***

รัฐบาลมาเลเซียในการต่อต้านการก่อการร้าย ค.ศ.2003-2005***

หลังจากการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เมื่อ 11 ก.ย.2001

รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่านายโอซามา บินลาเดนและขบวนการอัล กออิดะห์ คือ ผู้ก่อการวินาศกรรมในครั้งนั้น ทั้งยังระบุว่าสมาชิกขบวนการก่อการร้ายมักแฝงตัวอยู่ในประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จึงนำมาสู่การทุ่มเทกำลังคนและงบประมาณส่งกองกำลังเข้าปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในหลายประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กระบวนการนี้ก่อให้เกิดกระแสความหวาดกลัวอิสลาม (Islamphobia) ขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก และก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯกับชุมชนมุสลิมทั่วโลก

ต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่ามีการขยายตัวของเครือข่ายการก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแสดงออกว่าต้องการเข้ามาปฏิบัติการเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ ในบริบทเช่นนี้มาเลเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่สามารถรักษาสถานะ รัฐโลกวิสัย” (Secular State) เอาไว้อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการก่อการร้ายโดยรักษาความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจและโลกมุสลิมไว้ได้อย่างสมดุล โดยเฉพาะในยุคของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งวิจารณ์ผู้นำและสื่อมวลชนโลกตะวันตกว่าไม่ควรนิยามผู้ก่อการร้ายโดยอิงกับหลักศาสนา เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีผู้ก่อการร้ายที่เป็นศาสนิกของทุกศาสนา แต่ขณะเดียวกันตัวเขาได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐฯ และริเริ่มให้ชาติอาเซียนร่วมลงนามในข้อตกลงต่อต้านการก่อการร้ายหลายฉบับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านเหตุการณ์ 9/11 มากว่าหนึ่งทศวรรษ ทำให้บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไปหลายประการ อาทิ การที่กองกำลังสหรัฐฯสามารถสังหารนายโอซามา บิน ลาเดน ลงได้เมื่อ ค.ศ. 2011 แต่กลับมีบุคคลหรือองค์กรก่อการร้ายรายใหม่ปรากฏขึ้น อาทิ นายอาบู บักร์ อัล- บัฆดาดี แห่งองค์กร รัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรียหรือไอซิส ซึ่งมีปฏิบัติการที่โหดร้ายรุนแรง แต่กลับมีอิทธิพลต่อแนวคิดของผู้คนจำนวนมากทั่วโลกจนยอมเดินทางไปเข้าร่วมกับขบวนการดังกล่าว ส่วนมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ นายแพทย์มหาเธร์ โมฮัมหมัดก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อค.ศ.2003 ขณะที่ดินแดนแห่งนี้ยังเผชิญหน้ากับสถานการณ์การก่อการร้ายรูปแบบใหม่ๆ ที่ท้าทายความมั่นคงของประเทศเรื่อยมา สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างเลี่ยงไม่ได้

หลังจากค.ศ. 2003 เป็นต้นมา มาเลเซียได้เปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คน นายอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี และนายนาจิบ ราซัคตามลำดับ โดยผู้นำทั้ง 2  รายนี้ยังคงดำเนินการต่อต้านการก่อการร้ายมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นพ้องกันว่าการก่อการร้าย คือ ภัยคุกคามสำคัญของโลก แต่ไม่เห็นด้วยกับผู้นำและสื่อในโลกตะวันตกมักนำประเด็นเรื่องศาสนามาเชื่อมโยงกับการการก่อร้าย โดยผู้นำทั้ง 2 เสนอว่า   จำเป็นต้องพิจารณาถึงสาเหตุและปัจจัยของการก่อการร้ายอย่างละเอียดรอบคอบในทุกมิติ ภายใต้แนวคิดเช่นนี้ทำให้รัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของนายอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี และนายนาจิบ ราซัคในช่วง ค.ศ. 2003 -2015 เลือกใช้หลายมาตรการเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย แต่มีมาตรการที่เหมือนกัน 2 ประการ คือ

1.การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับที่ให้อำนาจอย่างสูงแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อาทิ กฎหมายความมั่นคงภายใน (Internal Security Act) กฎหมายป้องกันการคุกคามความมั่นคง (Security Offences (Special Measures), 2012) และกฎหมายป้องกันการก่อการร้าย (Prevention of Terrorism Act, 2015) รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายอาญาให้มีเนื้อหาพร้อมรับมือภัยคุกคามจากการก่อการร้ายเมื่อ ค.ศ. 2015

2.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งระดับระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งกับประเทศมหาอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้าน และนานาประเทศ โดยรัฐบาลมาเลเซียพยายามรักษาความเป็นกลางจากชาติมหาอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศและภายในภูมิภาค ทั้งนี้รัฐบาลมาเลเซียได้ก่อตั้งหน่วยงานพลเรือน คือ ศูนย์กลางต่อต้านการก่อการร้ายแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Regional Centre for Counter Terrorism : SEARCCT) ซึ่งมีหน้าที่รวบรวม เผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนฝึกอบรมเรื่องการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้ายให้แก่เยาวชนมาเลเซียและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของทั้งของมาเลเซียและจากนานาชาติ มาตรการเหล่านี้นำมาสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล ข่าวกรอง เทคโนโลยี ตลอดจนปฏิบัติการในการต่อต้านการก่อการร้าย

ต่อมารัฐบาลมาเลเซียในยุคนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคได้เพิ่มมาตรการสำคัญอีกหนึ่งประการ คือ การจัดทำโครงการฟื้นฟูผู้ต้องขังและเฝ้าระวังอดีตนักโทษคดีก่อการร้าย (Rehabilitation of Terrorism Offenders) เมื่อ ค.ศ. 2011 โดยให้มีการทำงานร่วมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กรมราชทัณฑ์ นักวิชาการ ครูสอนศาสนา และญาติของผู้ต้องขังคดีการก่อการร้าย เพื่อลดแนวคิดนิยมความรุนแรงและฟื้นฟูจิตใจผู้ต้องขังก่อนปล่อยตัวกลับสู่สังคม ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียสรุปว่ามาตรการนี้มีประสิทธิภาพ เพราะทำให้อดีตผู้ต้องขังคดีการก่อการร้ายจำนวนมากที่ได้รับการปล่อยตัวไม่หวนกลับไปสู่เครือข่ายการก่อการร้ายอีกครั้งหนึ่ง

การบูรณาการมาตรการต่างๆเหล่านี้ทำให้รัฐบาลมาเลเซียสามารถควบคุมสถานการณ์การก่อการร้ายภายในประเทศได้เป็นอย่างดี ในการนี้สังคมไทยสามารถเรียนรู้จากบทเรียนของมาเลเซียได้ในกรณีที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานพลเรือนโดยเฉพาะองค์กร SEARCCT ทั้งในแง่การยกระดับและขยายความรับรู้เกี่ยวกับการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้ายออกสู่สาธารณะและการฝึกอบรมด้านวิชาการแก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง รวมถึงโครงการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในคดีการก่อการร้าย ซึ่งมีความสำคัญในการทำความเข้าใจแนวคิดและปฏิบัติการของผู้ต้องหา/ผู้ต้องขังคดีการก่อการร้ายได้อย่างรอบด้าน ซึ่งมีส่วนช่วยลดทอนแนวคิดนิยมความรุนแรงในหมู่คนเหล่านี้ และทำให้พวกเขาไม่หวนกลับไปเกี่ยวข้องกับเครือข่ายการก่อการร้ายต่อไปในอนาคต

 โดย... 

อภิเชษฐ กาญจนดิฐ และจันทนา ไชยนาเคนทร์

นักวิจัย ฝ่าย 1 สกว.

*** ชื่อเต็ม: การดำเนินงานของรัฐบาลมาเลเซียในการต่อต้านการก่อการร้าย (ค.ศ.2003 -2015)