เมื่อธนาคารญี่ปุ่น จะตามรอย ’มาริโอ ดรากิ’

เมื่อธนาคารญี่ปุ่น จะตามรอย ’มาริโอ ดรากิ’

โดยปกติแล้ว นายฮิเรอิโกะ คูโรดา ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ไม่ใช่จะเป็นผู้ว่าสไตล์ที่พูดแล้วสามารถสะกดตลาดให้อยู่หมัด เหมือนกับ

นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป ซึ่งเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ใช้ประโยคเดียวที่ว่าจะทำอะไรก็ตามเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปสามารถเดินต่อได้ สามารถที่จะประคองเศรษฐกิจของยุโรปให้เดินต่อไปได้ภายใต้บรรยากาศแบงก์ยุโรปที่ยังย่ำแย่อยู่ในช่วงนั้น โดยที่ตัวเนื้อในของนโยบายการเงินของยุโรปยังไม่แตกต่างจากเดิม 

ทว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่เวลาการประกาศผลการประชุมออกมาช้าที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยออกมาช่วงเวลา 13.08 น. ตามเวลาของญี่ปุ่น โดยคะแนนเสียง 7-2 ที่ออกมารับรองแพ็คเกจการกระตุ้นทางการเงิน ซึ่งหากมองในแง่ของเนื้อหาจริงๆ ถือว่าลดความดุดันในการกระตุ้นลงเล็กน้อย ทว่านายคูโรดาได้เพิ่มเติมในส่วนของ forward guidance หรือ สไตล์ที่พูดแล้วสามารถสะกดตลาดให้อยู่หมัดด้วยการให้ภาพในอนาคตของนโยบายการเงินญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้ โดยนายคูโรดาได้เริ่มต้นสไตล์ใหม่นี้ด้วยการกล่าวว่าผู้ที่ตีความว่านโยบายการเงินญี่ปุ่นนั้นเริ่มลดโทนการกระตุ้นลง ถือว่าเป็นการเข้าใจผิด

สำหรับผู้ที่โหวตค้านด้วยเหตุผลที่ว่าการปรับดังกล่าวทำให้การกระตุ้นมีระดับที่ลดลง ได้แก่ นายคาทาโอก้า โกชิ ‘น้องใหม่รั้นบริสุทธิ์’ ที่เป็นสมาชิกใหม่ของธนาคารกลางญี่ปุ่น แม้เพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกใหม่ไม่ถึงปี ทว่าทำสถิติเป็นหนึ่งเดียวจากสมาชิกทั้งหมดที่โหวตคัดค้านแพ็คเกจนโยบายการเงินฉบับ Yield Curve Control

ผู้ว่าฯคูโรดา คงจะปวดหัวกับนายโกชิน่าดู เพราะก่อนเข้ามานายโกชิซึ่งเคยเป็นนักวิจัย ที่แบงก์มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ได้ชื่อว่าแฟนพันธุ์แท้ "เบอร์นันเก้’ เนื่องจากชื่นชอบการทำ QE เป็นพิเศษ นายคูโรดาเลยนึกว่าเป็นคอเดียวกันที่ชอบกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำไปทำมา ท่านผู้ว่าฯเองกลับได้คนที่ชอบกระตุ้นด้านการเงินมากกว่าตนเองเสียอีก เลยโหวตสวนตลอดว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นยังใช้นโยบายการเงินน้อยเกินไป รวมถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้ มาตรการการเงินใหม่ที่ปรับจากนโยบาย Yield Curve Control ที่ประกาศสัปดาห์ก่อน ประกอบด้วย

(1) มาตรการ Forward Guidance หรือการออกมาของประโยคที่บ่งบอกถึงแนวทางของนโยบายการเงินในอนาคตจากนายคูโรดาเองทุกครั้งหลังการประชุม ซึ่งถือว่าตามรอยของธนาคารกลางยุโรปที่นายดรากิใช้จนประสบความสำเร็จ ตรงนี้ ถือว่าไม่ใช่สไตล์ของนายคูโรดาที่นิยมการเซอร์ไพร์สตลาดด้วยการออกนโยบายแปลกใหม่ในยามที่ตลาดคาดไม่ถึงมากกว่า จุดนี้ น่าจะเป็นการพิสูจน์ว่าคนเอเชียจะเก่งในการสื่อสารดังกล่าวไหม เนื่องจากผมยังไม่เห็นคนเอเชียที่สามารถใช้สไตล์นี้ได้เก่งเท่านายดรากิหรือนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ

(2) การลดขนาดของสินทรัพย์ที่ใช้เป็นสำรองของแบงก์พาณิชย์ที่ต้องดำรงอัตราดอกเบี้ยติดลบ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่เน้นการปล่อยกู้เริ่มจะมีกำไรที่ลดลงจนไม่สามารถแข่งขันได้ จึงจำเป็นต้องลดต้นทุนด้วยนโยบายนี้ ต้องบอกว่าแบงก์ญี่ปุ่นเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาสามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมกับเศรษฐกิจจริงได้ดีกว่าหลายประเทศ

รูปแสดงประเภทของสินค้าส่งออกของสหรัฐและจีน

เมื่อธนาคารญี่ปุ่น จะตามรอย ’มาริโอ ดรากิ’

(3) การขยายช่วงการเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับได้ของอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 10 ปี ผมมองว่าเหตุผลหนึ่งที่นายคูโรดะ ตัดสินใจขยายช่วงการเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับได้ของอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 10 ปี เพราะหากประเมินจากประเภทของสินค้าส่งออกระหว่างจีนกับสหรัฐ จีนได้เปรียบสหรัฐ ตรงที่จีนส่งออกไปสหรัฐในหมวดสินค้าทุนที่นำไปผลิตสินค้าและบริการต่อ ในขณะที่สหรัฐส่งออกไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือสินค้าเกษตร ดังรูป(Figure 1a) ซึ่งตรงนี้ มองว่า Trade War ครั้งนี้ยืดเยื้อ เนื่องจากจีนคงไม่ยอมสหรัฐแน่ เนื่องจากก็ไม่เป็นรองในสงครามนี้ หรือ อาจมองว่าสงครามการค้านี้คงจะเป็น New Normal ดังนั้น ผลกระทบดังกล่าวต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินของญี่ปุ่น คือ BOJ ต้องใช้เวลายาวนานขึ้นในการให้อัตราเงินเฟ้อถึงเป้าหมาย ดังนั้น เพื่อลดแรงกดดันจากนโยบาย Yield Curve Control ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบตึงเกินไปจนส่งผลต่อเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นให้เพี้ยนจากธรรมชาติ จึงตัดสินให้ผ่อนคลายแนวทางดังกล่าว

ท้ายสุด BOJ ต้องการเปลี่ยนการซื้อตราสารทางการเงิน ETF จากเดิมในดัชนี Nikkei225 เป็นหลัก มาเป็น TOPIX หรือหุ้นทั้งตลาดมากขึ้น ดังตาราง เนื่องจากหุ้นใน Nikkei225 บางตัว เริ่มมี BOJ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของ BOJ รวมถึงต้องการให้หุ้นกลางและเล็กได้แรงซื้อจาก BOJ บ้าง

ตารางแสดงสัดส่วนการซื้อตราสาร ETF ของตลาดหุ้น Nikkei225 และ TOPIX

เมื่อธนาคารญี่ปุ่น จะตามรอย ’มาริโอ ดรากิ’ เมื่อธนาคารญี่ปุ่น จะตามรอย ’มาริโอ ดรากิ’

ที่มา: BOJ

อย่างไรก็ดี BOJ ยังเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยมูลค่า 80 ล้านล้านเยนต่อปีเหมือนเดิม 

ด้านผลกระทบต่อมุมมองการลงทุน ผมมองว่า  มีดังนี้

(1) การที่ BOJ เน้นซื้อหุ้นกลางและเล็กมากขึ้น จะทำให้หุ้นญี่ปุ่นขนาดกลางและเล็ก ดูน่าสนใจมากขึ้นในอนาคต

(2) การลดขนาดของสินทรัพย์ที่ใช้เป็นสำรองของแบงก์พาณิชย์ที่ต้องดำรงอัตราดอกเบี้ยติดลบ จะทำให้หุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางขนาดกลางที่เน้นปล่อยกู้ดูน่าสนใจมากขึ้น

(3) การประมาณการณ์ของจีดีพีญี่ปุ่นปี 2019 ที่ลดลงกว่าเดือนที่แล้ว ทำให้เชื่อได้ว่า BOJ จะกระตุ้นด้วยตราสารทางการเงินระยะสั้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหุ้นในหมวดการบริโภคและตราสารทางการเงินระยะสั้น 

ไว้คงต้องรอดู สไตล์ใหม่ของนายคูโรดาว่าจะสู้นายดรากิได้ไหมกันครับ