เปรียบเทียบระบบบัตรทองของไทยกับญี่ปุ่น

เปรียบเทียบระบบบัตรทองของไทยกับญี่ปุ่น

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลายสมัย อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลายคณะ

อดีตกรรมการสุขภาพแห่งชาติและอดีตประธานกรรมการบริหาร สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ อดีตกรรมการ สสส. และอดีตประธานองค์การเภสัชกรรม และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ สาธารณสุข และอื่นๆ ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์วันที่ 12 มิ.ย. 2561 สรุปความแตกต่างระหว่างระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นและระบบบัตรทองของไทยว่า

1.ระบบญี่ปุ่นเป็นแบบประกัน แต่ของไทยเป็นระบบจากเงินภาษียกเว้นประกันสังคม

2.ญี่ปุ่นใช้การจ่ายตามการให้บริการทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ของไทยใช้แบบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้ค่าใช้จ่ายน้อยและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า

3.ญี่ปุ่นมีแยกหลายระบบย่อย แต่ไทยมี 3 กองทุนใหญ่ คือสวัสดิการข้าราชการ บัตรทอง และประกันสังคม โดยการพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆญี่ปุ่นจะพิจารณาเฉพาะประเด็นเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลเป็นหลัก แต่บัตรทองของไทยจะพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าและความสามารถในการรับงบประมาณด้วย จึงเป็นระบบที่ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก

อ่านบทความของนพ.วิชัย โชควิวัฒนแล้ว ถ้าอ่านโดยไม่วิเคราะห์ตาม ก็จะภาคภูมิใจว่าระบบบัตรทองของไทยมีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก (ตามที่นพ.วิชัยอ้าง) แต่ถ้าอ่านให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งก็จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง จะพิจารณาเรื่องเงินนำหน้าประสิทธิผลและความปลอดภัย (หรือที่ชอบอ้างว่าเป็น ความคุ้มค่า”)

แต่ไม่ได้คำนึงถึง ความปลอดภัยและประสิทธิผลของการรักษาแบบการประกันสุขภาพในญี่ปุ่น

ถ้าอ่านบทความของนพ.วิชัย โชควิวัฒนให้เข้าใจ และติดตามผลการดำเนินงานของบัตรทองของไทยผู้อ่านก็จะเข้าใจได้ว่าการบริหารบัตรทองนั้น สนใจแต่การประหยัดงบประมาณให้พอใช้สำหรับผู้ป่วยทุกคน (แล้วอ้างว่าเป็นความคุ้มค่า) แต่ไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิผล (การรักษาที่ได้ผลเหมาะสมที่สุด)

และนพ.วิชัย โชควิวัฒนเอง ยังอ้างอย่างภูมิใจว่าเป็นระบบที่ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีที่สุด แต่ไม่ได้กล่าวเลยว่าผลการรักษานั้นดีที่สุดหรือไม่? และผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยจากการรักษาหรือไม่? และสปสช.ยังเป็นลูกหนี้ที่ไม่ยอมจ่ายค่ารักษาให้แก่โรงพยาบาลเป็นเงินอีกกี่พันล้านบาท ? ในขณะที่สปสช.ยังมีเงินไปใช้ผิดกม.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกเท่าไร?

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมพนักงานและเจ้าหน้าที่ของสปสช.(ที่ทำหน้าที่ในสำนักงานบริหารบัตรทอง) จึงไม่ยอมใช้บัตรทองในเวลาเจ็บป่วย แต่ไปออกระเบียบการประกันสุขภาพของบุคลากรสปสช.แบบญี่ปุ่น

คือใช้การเบิกจ่ายตามการให้บริการและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก(ตามที่นพ.วิชัยอ้าง) และทำให้บุคลากรของสปสช.ใช้งบประมาณในการรักษาเมื่อจ็บป่วยมากกว่าประชาชนที่ใช้บัตรทองที่นพ.วิชัยชื่นชมว่า “ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก”

แล้วทำไมบุคลากรของสปสช.ไม่ใช้ระบบที่ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีที่สุดในโลก เพราะอะไร

เพราะไม่มีความปลอดภัยและไม่มีประสิทธิผลใช่หรือไม่?

ขอให้นพ.วิชัย โชควิวัฒน ตอบด่วน

หมายเหตุ ประสิทธิผล หมายความว่าได้ผลตรงตามต้องการ และมีความปลอดภัย เช่นรักษาได้ผลดีที่สุด มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย หรือเหมาะสมที่สุด ไม่ดื้อยา

ประสิทธิภาพ หมายความว่า ประหยัด คุ้มค่าทันเวลา

ซึ่งวิทยาการแพทย์และสาธารณสุขสากลทั่วโลก ย่อมยึดหลักการในการรักษาผู้ป่วยว่า ต้องคำนึงถึงประสิทธิผลและประสิทธิภาพควบคู่กันไป ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการประหยัดเท่านั้น

 โดย... 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กรรมการแพทยสภา