ผลของการลักไก่ให้แก่มหาเศรษฐี

ผลของการลักไก่ให้แก่มหาเศรษฐี

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ จึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นประธานาธิบดีที่ร่ำรวยที่สุด-

ในบรรดาประธานาธิบดี 45 คนของสหรัฐ ประธานาธิบดีที่ร่ำรวยเป็นที่ 2 รองจากเขาได้แก่จอร์จ วอชิงตันซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก หลังสหรัฐเป็นเอกราชจากอังกฤษ

ประธานาธิบดีของสหรัฐ มีภูมิหลังต่างกันมาก จากมหาเศรษฐีเช่นประธานาธิบดีคนแรกและคนปัจจุบันถึงบุคคลที่มีรายได้ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับต่ำของสังคมอเมริกัน บางคนเคยยากจนมากมาก่อน เช่น อับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งนักประวัติศาสตร์มักจัดว่าเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการยกย่องสูงสุด ทั้ง 45 คน มีทั้งภูมิหลังและวิสัยทัศน์ต่างกัน ฉะนั้น เมื่อเป็นประธานาธิบดีจึงมีแนวนโยบายต่างกันแม้จะเป็นชนชั้นมหาเศรษฐีด้วยกันก็ตาม เช่น ประธานาธิบดีทรัมป์เน้นผลประโยชน์ของบรรดามหาเศรษฐีเป็นที่ตั้ง ส่วนประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ซึ่งมาจากครอบครัวมหาเศรษฐีมีแนวนโยบายเน้นไปในทางผลประโยชน์ของผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส

ทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอนโยบายที่ชนชั้นเศรษฐีมักได้รับประโยชน์สูงสุด ในจำนวนนี้มีกฎหมายปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีที่ต้องผ่านรัฐสภาเป็นมาตรการหลัก หลังจากเขาเข้าดำรงตำแหน่งไม่นาน รัฐสภาจึงผ่านกฎหมายการลดภาษีซึ่งจะมีผลทำให้ชาวอเมริกันไม่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐรวมเป็นเงินถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับกฎหมายเดิม ศูนย์นโยบายภาษีซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดวิเคราะห์ว่า ชาวอเมริกันทุกกลุ่มจะได้ลดภาษี แต่กลุ่มมหาเศรษฐีจะได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งนายทรัมป์เอง กล่าวคือ กลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด 1% จะได้รับส่วนแบ่งถึง 34% กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 20% จะได้ส่วนแบ่งรวมกัน 70% ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุด 20% จะได้ส่วนแบ่งเพียง 1% เท่านั้น

มาตรการนี้น่าจะทำให้บรรดามหาเศรษฐียิ้มได้มากกว่ากลุ่มใดทั้งหมด กระนั้นก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์และพรรคพวกยังคิดว่าน้อยไป มหาเศรษฐีจะต้องได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก ฉะนั้น จึงเริ่มมีการพิจารณาว่าจะทำอย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญของเขากำหนดว่าการเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีเป็นหน้าที่ของรัฐสภาซึ่งเพิ่งผ่านกฎหมายลดภาษีขนานใหญ่ไปเพียงไม่กี่เดือน พรรคพวกของประธานาธิบดีทรัมป์จึงจำเป็นต้องมองหาวิธีใหม่ที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตอนนี้มีรายงานว่าพวกเขาค้นพบวิธีแล้วซึ่งประกอบด้วยการเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีรายได้จากกำไรอันเกิดจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยลดจำนวนกำไรลงตามอัตราค่าเงินเฟ้อ ผลประโยชน์ราว 1 แสนล้านดอลลาร์จากมาตรการนี้กลุ่มมหาเศรษฐีจะได้ส่วนแบ่งไปเกือบทั้งหมดเพราะการซื้อขายหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในวงของพวกเขา

ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจมองได้จากหลายแง่มุม ย้อนไปเมื่อก่อนนายทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งปีกว่า ๆ Darrell M. West เขียนหนังสือออกมาชื่อ Billionaires: Reflections on the Upper Crust ซึ่งคงแปลว่าการสะท้อนภาพของบรรดามหาเศรษฐีพันล้าน หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่ามหาเศรษฐีเข้าควบคุมกระบวนการเลือกตั้งและนโยบายของรัฐอย่างไรและในหลาย ๆ กรณีกระบวนการเมืองของสหรัฐเปิดช่องทางให้นักการเมือง “ลักไก่” ได้โดยตรง ฉะนั้น มาตรการใหม่ของนายทรัมป์ที่ทำเพื่อมหาเศรษฐีจึงมองได้ว่าไม่มีอะไรใหม่

หนังสือดังกล่าวมิได้พูดถึงเฉพาะสหรัฐเท่านั้น หากครอบคลุมทั่วทั้งโลกซึ่งในตอนที่ผู้เขียนค้นคว้าหาข้อมูลมาเสนอมีมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์อยู่ 1,645 คน ในจำนวนนี้มีคนไทย 11 คน ไม่ว่าจะในระบบการเมืองที่มีหรือไม่มีการเลือกตั้ง มหาเศรษฐีมีอิทธิพลสูงต่อนโยบายของรัฐทั้งสิ้น ในหลากหลายกรณี มีการใช้วิธีลักไก่ที่ประชาชนทั่วไปตามไม่ทัน ด้วยเหตุนี้ ทั่วโลกจึงมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางสภาพที่เลวร้ายขึ้นนี้ มีมหาเศรษฐีจำนวนหนึ่งบริจาคทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของตนเพื่อผลประโยชน์ของสังคม คอลัมน์นี้พูดถึงวิธีของมหาเศรษฐีบิล เกตส์และวอร์เรน บัฟเฟตต์หลายครั้ง แต่มหาเศรษฐีส่วนใหญ่ยังไม่ทำ ตรงข้ามยังพยายามกอบโกยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้มองว่าสังคมนับวันจะสงบสุขน้อยลงเพราะความแตกแยกและเมื่อความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นไปจนประชาชนส่วนใหญ่ทนไม่ไหว เหตุการณ์เลวร้ายจำพวกสงครามชนชั้นจะเกิดขึ้น สงครามนี้จะมีเฉพาะผู้แพ้