ภาระหนี้ กยศ. ปัญหาใหญ่อยู่ที่การออกแบบ

ภาระหนี้ กยศ. ปัญหาใหญ่อยู่ที่การออกแบบ

ปัญหาผู้กู้ 2.1 ล้านคนผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จนทำให้หนี้เสียของกองทุนฯ มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 70,000 ล้านบาท

หากจับอารมณ์ของสังคมในวันนี้ ผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ได้กลายเป็นจำเลยของสังคมไปเรียบร้อยแล้ว ปัญหาที่กวนใจผมก็คือ คนร่วม 2 ล้านคนเป็นคนไม่ดีขนาดนั้นจริงหรือ? หรือว่าเราเลือกจะสรุปกันง่ายๆ เพราะมันสะดวกกว่าการมองลงไปให้ถึงรากเหง้าของปัญหา?

ปัญหาหลักที่ กยศ. ต้องแบกรับอยู่ในวันนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากผู้ออกแบบระบบกองทุนฯ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ที่มีสมมติฐานในการทำงานของกองทุนอยู่ 2 ข้อ

ข้อแรก คือ ผู้กู้ส่วนใหญ่จะชำระหนี้ นั่นหมายความว่า คนเหล่านี้จบไปแล้วมีงานทำ มีรายได้สูงพอ

ข้อที่สอง คือ จำนวนคนเบี้ยวหนี้จะมีไม่มากนัก ทำให้กองทุนฯ สามารถจะใช้กลไกการติดตามหนี้ของธนาคารกรุงไทยในการติดตามหนี้จากคนเหล่านี้ได้

ในบทความนี้จะวิเคราะห์เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสมมติฐานข้อแรกเท่านั้น

ความเชื่อว่าหากเรียนจบไปแล้วจะมีงานทำกลายเป็นเรื่องไม่เป็นจริง คนที่เรียนจบระดับปริญญาตรีแล้วตกงานมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน หนำซ้ำ เรามักจะติดภาพกันว่าคนจบปริญญาตรีต้องได้เงินเดือนหลักหมื่น ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2558 แสดงให้เห็นว่า 1 ใน 4 ของคนที่จบปริญญาตรี อายุระหว่าง 25 ถึง 30 ปี ได้เงินเดือนประมาณ 8,000 ถึง 9,000 บาทเท่านั้น

บางคนมองว่าภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อปีไม่สูงนัก ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีหนี้ กยศ. จำนวน 250,000 บาท เมื่อจบมาครบ 2 ปีก็จะเริ่มผ่อนชำระหนี้ ซึ่งในปีแรกต้องจ่าย 3,750 บาท (313 บาท/เดือน) ปีที่สองจ่าย 6,250 บาท (520 บาท/เดือน) ปีที่สามจ่าย 7,500 บาท (625 บาท/เดือน) และปีที่ 4 จ่าย 8,750 บาท (729 บาท/เดือน) การจ่ายเงินหลักร้อยต่อเดือนแบบนี้คงไม่ใช่ภาระหนักจนเกินไป

ความจริงแล้วเกณฑ์ใช้ประเมินว่า “ภาระหนี้” มีมากเกินไปหรือไม่นั้น เรียกว่า “กฎ 8%” กฎข้อนี้บอกว่า เมื่อใดที่ผู้กู้ต้องใช้เงินเกินกว่า 8% ของรายได้ไปชำระหนี้ แสดงว่ามีภาระในการชำระหนี้สูงเกินสมควร มีโอกาสจะผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นการออกแบบแผนการชำระหนี้ต้องไม่สร้างภาระในการผ่อนชำระเกิน 8% ของรายได้ หรือถ้าจำเป็นจะต้องมีภาระที่สูงจริง ยังไงเสียก็ต้องไม่เกิน 10%

ภาระหนี้ กยศ. ปัญหาใหญ่อยู่ที่การออกแบบ

รูปที่แสดงไว้ เป็นการคำนวณภาระหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้ 4 กลุ่ม ถ้านำผู้กู้ 100 คนมาเรียงแถวกันตั้งแต่คนที่มีรายได้น้อยที่สุดไปถึงคนที่มีรายได้มากที่สุด กลุ่ม P10 คือกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุด 10 คนแรกในแถว กลุ่ม P25 คือกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุด 25 คนแรก กลุ่มค่าเฉลี่ย คือกลุ่มที่เอารายได้ของทุกคนมารวมกันแล้วการด้วยจำนวนคน และกลุ่ม P75 คือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สุด 25 คน หากใช้ข้อมูลรายได้ของคนทั้งสี่กลุ่มนี้ มาเทียบกับภาระนี้ที่ต้องจ่าย โดยสมมติให้ผู้กู้ทั้ง 4 กลุ่มมีหนี้จำนวน 250,000 เท่ากัน เส้นที่แสดงไว้คือ เส้นภาระหนี้ต่อรายได้ เทียบกับช่วงอายุ 

จากรูปจะเห็นได้ว่า สำหรับผู้กู้กลุ่มที่รายได้ต่ำที่สุด (P10) ภาระหนี้ต่อรายได้จะเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก เพราะการชำระหนี้ของ กยศ. แม้จะมีระยะเวลาสูงสุด 15 ปี แต่ผู้กู้ต้องชำระหนี้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น หลังจากชำระหนี้ไปประมาณ 5 ปี พออายุ 30 ปี ภาระหนี้ที่แบกรับจะสูงถึง 10% ของรายได้ สำหรับผู้กู้กลุ่มที่รายได้ต่ำ (P25) ภาระหนี้ที่แบกรับจะเกิน 10% ของรายได้เมื่ออายุ 32 ปี จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดจึงมีคนผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก เพราะแม้แต่คนที่มีรายได้สูงเท่ากับค่าเฉลี่ยหรือมีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย (P75) ก็มีสิทธิเจอปัญหาเดียวกันได้ เพียงแต่ปัญหาจะมาช้ากว่าแค่นั้นเอง

ข้อมูลที่นำมาแสดงน่าจะสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ไม่ได้เกิดจาก “ความไม่ดี” ของผู้กู้ไปเสียทั้งหมด ปัญหาส่วนหนึ่งก็คือตัวระบบเองที่ทำให้เกิดภาระในการชำระหนี้สูงเกินควร แต่เรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ความผิดของ กยศ. เช่นกัน เพราะระบบนี้ถูกออกแบบมาด้วยองค์ความรู้เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว และเป็นการออกแบบมาด้วยความหวังดีเพื่อสร้างโอกาสให้แก่คนจำนวนมาก

หากเราเชื่อว่า ลูกหลานชาวไทย 2.1 ล้านคนส่วนใหญ่เป็นคนดี และระบบที่ถูกใช้มานานกว่าสองทศวรรษอาจจะไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมอีกต่อไป สิ่งที่ต้องมองไปข้างหน้าร่วมกันจึงไม่ใช่การชี้นิ้วหาคนผิด แต่ต้องมาช่วยกันคิดว่า เราจะปรับปรุงระบบกองทุนฯ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร เพื่อให้ลูกหลานชาวไทยรุ่นหลังได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะเป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต