จะดีไหม ถ้าเปลี่ยนมาใช้ระบบประกันภัยสุขภาพแห่งชาติ ***

จะดีไหม ถ้าเปลี่ยนมาใช้ระบบประกันภัยสุขภาพแห่งชาติ ***

คิดเรื่องนี้หลายรอบหลายตลบว่า ถ้าเราจะปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ดีขึ้น โดยทุกคนยังได้รับความคุ้มครองดุแลด้านสุขภาพถ้วนหน้า

สถานพยาบาลรัฐไม่ต้องควักเนื้อโปะค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้ และรัฐบาลก็ไม่ต้องพะวงเรื่องงบประมาณไม่พอ แล้วมีทางออกอย่างไรหรือไม่

มีแนวคิดบางอย่างที่น่าจะนำมาปรับใช้ได้ แนวคิดนั้นเรียกว่า ระบบประกันภัยสุขภาพแห่งชาติ ความคิดนี้มาจากเรื่องการประกันภัยพืชผล ซึ่งรัฐบาล โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)ได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว และครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศกว่า 6 แสนไร่นับถึงปัจจุบัน โดยเกษตรกรเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยประมาณไร่ละ 200 บาท รัฐบาลสมทบให้จำนวนหนึ่ง อาจจะเท่าตัว และถ้าหากพืชผลทางเกษตรเสียหายเช่นน้ำท่วม ภัยแล้ง ราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำเกินกว่าที่ตกลง หรือแม้กระทั่งเกิดเหตุสุดวิสัย เกิดสงครามจราจล เกษตรกรเสียชีวิต ทั้งหลายทั้งปวงตามที่ตกลงกันในกรมธรรม์ประกันภัย เกษตรกรหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยก็จะได้รับความคุ้มครอง ได้รับเงินชดเชยตามทุนประกันที่ตกลงกัน

ลองเปรียบเทียบลักษณะของความคุ้มครองที่เกิดจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับความคุ้มครองตามลักษณะสัญญาประกันภัย ก็จะพบว่ามีความเหมือนในหลายเรื่อง เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันเหมือนที่อนุมัติงบประมาณเป็นรายปี ในฐานะผู้เอาประกัน ทำสัญญาจ้าง สปสช.ให้ทำการดูแลสุขภาพประชาชนถ้วนหน้า เหมือนดังเช่นบริษัทรับประกันภัย และประชาชนถือเป็นบุคคลที่สามหรือผู้รับประโยชน์ภายนอก ตามลักษณะสัญญานี้ ถือเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลที่สาม ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ใช่คู่สัญญา แต่เป็นผู้รับประโยชน์ถ้าหากเกิดภัยตามที่ตกลงกัน

ในขณะเดียวกัน ถ้าย้อนกลับไปที่นโยบายของรัฐบาลทั้งหลายที่ผ่านมาในอดีต ไม่ว่าเรื่องประกันราคาข้าว จำนำข้าว ประกันยุ้งฉาง ลักษณะของนโยบายไม่ใช่เรื่องประกันภัย เพราะไม่มีเรื่องความเสี่ยงมาเกี่ยวข้อง รัฐบาลเป็นผู้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดความเสียหาย ยิ่งการรับจำนำข้าวทุกเม็ดโดยตั้งราคาสูงกว่าราคาตลาด ยิ่งห่างไกลกับเรื่องการพิจารณาความเสี่ยงของสินค้าข้าวที่เอามาจำนำ พูดง่ายๆ ก็คือนโยบายแบบนั้น รัฐรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว นโยบายประกันราคาข้าวหรือจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เหมือนนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กวาดทุกเรื่องรวมมาอยู่กองเดียวกัน และให้รัฐบาลรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีการกระจายความเสี่ยง เมื่อเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการทุจริตคอรัปชั่นในการรับประกันหรือจำนำ ประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนได้เสีย ก็่ต้องมารับภาระความเสียหายในฐานะผู้เสียภาษี ทั้งๆที่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย นับว่าเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

การประกันภัยสุขภาพนั้น เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง เป็นการดำเนินการที่เป็นสากล และเป็นเรื่องของสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชนเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนในฐานะผู้เอาประกันไม่ได้ และเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ทำประกันให้ประชาชน ก็สามารถตั้งเงื่อนไขให้ผู้รับประกันพิจารณาและกำหนดอัตราเบี้ยประกันที่เหมาะสมได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ รัฐบาลก็สามารถกำหนดวงเงินงบประมาณเพื่อสุขภาพของประชาชนได้ เพราะรัฐบาลมีอำนาจต่อรองกับผู้รับประกันภัยอยู่แล้ว การที่รัฐบาลเป็นผู้เอาประกันหรือเป็นผู้ซื้อประกันสุขภาพเพื่อประชาชน ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองเรื่องสุขภาพยามเจ็บป่วย ประชาชนที่มีความสามารถอาจซื้อประกันเพิ่มเติมได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการ ความเสี่ยง และความสามารถในการชำระเบี้ยประกันเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น และถ้าประชาชนไม่มีความสามารถในการซื้อประกันเพิ่มเติม ก็ยังได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐาน ไม่ต่างจากที่ได้รับจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช. ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

ลักษณะของการทำประกันภัยสุขภาพเช่นนี้ถือเป็นการให้หลักประกันสุขภาพพื้นฐานที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ความต่างมีเพียงการซื้อประกันเพิ่มเติมของประชาชนที่ต้องการความคุ้มครองเพิ่มขึ้นเท่านั้น สิ่งที่จะได้ก็คือสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาพยาบาลสามารถเรียกเก็บเงินจากผู้รับประกันได้โดยตรง ผู้รับประกันไม่สามารถอ้างเหตุผลอื่นใดที่จะไม่ชำระค่ารักษาพยาบาลได้ เว้นเสียแต่เป็นส่วนที่เกินเลยจากข้อตกลงที่ผู้รับบริการจะต้องจ่ายเองในส่วนต่างนั้น เช่นนี้ ระบบสุขภาพของประชาชนจะถูกกระชับให้เหลือเพียงรัฐบาลกับผู้รับประกัน ไม่ต้องผ่านองค์กรอื่นเช่น สปสช.ให้เป็นผู้กำหนดระเบียบเบิกจ่ายแม้กระทั่งควบคุมวิธีการรักษา แต่เป็นเรื่องของแพทย์ผู้รักษาเองที่จะพูดคุยกับผู้ป่วยซึ่งเรื่องนี้น่าจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาในวิธีการที่เหมาะสมตามความต้องการ ไม่ใช่ต้องรักษาตามที่องค์กรหนึ่งองค์กรใดกำหนดอย่างเช่นทุกวันนี้

วิธีการเช่นว่านี้คล้ายกับโครงการโอบามาแคร์ของประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อน ทำให้ประชาชนทุกระดับได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่โครงการโอบามาแคร์นั้นบังคับให้นายจ้างและรัฐบาลมลรัฐเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันบางส่วนและรัฐบาลกลางกับประชาชนร่วมจ่ายสมทบบางส่วน ถือเป็นการดำเนินการร่วมกันทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ นายจ้าง และประชาชนผู้เอาประกัน ทำให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองสูง และมีค่าใช้จ่ายน้อย นอกจากนั้นสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่าเส้นแบ่งความยากจน หรือไม่มีงานทำไม่มีรายได้หรือผู้พิการ รวมตลอดทั้งผู้มีการศึกษาต่ำ หรือคนตกงาน ก็อาจอยู่ในข่ายที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกันแต่อย่างใด

บทสรุปของข้อเสนอนี้ ถือเป็นแนวคิดที่ออกไปในแนวทางประชารัฐของรัฐบาลปัจจุบันด้วย เพราะเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ก็คือสถานพยาบาลทั้งหลายไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยมาใช้บริการแล้วเกิดค่าใช้จ่ายเกินค่ารายหัวที่จะเรียกเก็บได้ เกิดภาระหนี้สิน อย่างที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ แนวคิดนี้ ไม่สามารถรับรองว่าจะประสบความสำเร็จ จนกว่าจะได้ลงมือปฏิบัติดำเนินการจริง อาจมีอุปสรรคที่คาดไม่ถึงเช่นกัน แต่อย่างน้อยก็เป็นการลดภาระเรื่องงบประมาณของรัฐบาลไม่ให้พุ่งสูงเกินเพดานอย่างควบคุมไม่ได้ หรือถ้าควบคุมอย่างเคร่งครัดก็จะมีผลต่อค่าใช้จ่ายรายหัวที่ไม่พอเพียง และมีผลให้การรักษาพยาบาลทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ประชาชนผู้ป่วยไม่มีโอกาสได้รับบริการที่ดี และสถานพยาบาลก็ไม่ต้องปวดหัวกับสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะเหตุจากการให้บริการที่เรียกเก็บเงินจากใครไม่ได้ เช่นที่เกิดในปัจจุบัน

 

*** ชื่อเต็ม: จะดีไหม ถ้าเปลี่ยนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบประกันภัยสุขภาพแห่งชาติ