Health Tech Startup การนำเสนอ“คุณค่า”ธุรกิจ

Health Tech Startup การนำเสนอ“คุณค่า”ธุรกิจ

กรณีศึกษาชิ้นนี้ เป็นการนำเสนอคุณค่าของสินค้านวัตกรรม ในธุรกิจ Health Tech Startup 

โดยนำเสนอผ่านกรณีศึกษาอุปกรณ์สื่อสารผ่านดวงตาสำหรับผู้ป่วยสื่อสารลำบาก “SenzE” ที่เกิดขึ้นจากปัญหาที่คนใกล้ตัวที่เป็นผู้ป่วยไม่สามารถพูดและเขียนได้ 

นำมาสู่การพัฒนาสินค้าที่มีคุณค่าในสายตาลูกค้า โดยใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตา เพื่อการควบคุมและสั่งการซอฟต์แวร์ผ่านเพื่อการสื่อสารผ่านทางหน้าจอ LCD ทำให้ผู้ป่วยสามารถสื่อสารความต้องการกับบุคคลรอบข้างได้ โดยสามารถเลือกสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารรวมถึงพิมพ์สนทนาผ่านโปรแกรมในอุปกรณ์ และสามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการสื่อสารและทำความเข้าใจสารที่ผู้ป่วยต้องการที่จะสื่อได้อย่างถูกต้อง 

อีกทั้งยังมีระบบฉุกเฉินสำหรับดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งอุปกรณ์นี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ดำเนินชีวิตต่อได้อย่างมีความหวัง และกลับมามีกำลังใจในการใช้ชีวิตอีกครั้ง

SenzE จึงเป็นอุปกรณ์สื่อสารผ่านดวงตาสำหรับผู้ที่สื่อสารลำบาก เช่น ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือว่าผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถพูดและเขียนได้ ให้สามารถสื่อสารความต้องการกับบุคคลอื่นรอบข้างได้ ซึ่งอุปกรณ์นี้คิดค้นและพัฒนาขึ้นมาโดย บริษัท MediTech Solition จำกัด ซึ่งเป็น Health Tech Startup ในประเทศไทย โดยเป็นอุปกรณ์สื่อสารผ่านดวงตารายแรกของเอเชีย และรายที่ 3 ของโลก อีกทั้งเป็นรายแรกของโลกที่มีระบบรองรับภาษาไทย

ที่มาของธุรกิจนี้เกิดจากปัญหาที่คนใกล้ตัวของคุณปิยะศักดิ์ บุญคมรัตน์ (CEO ของ MediTech) นั้นป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งในช่วยแรกมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ หลังจากนั้นอาการก็เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทำให้ไม่สามารถพูดและเขียนได้ จึงไม่สามารถที่จะสื่อสารกับคนรอบตัวได้ 

อีกทั้งพบว่าวิธีการที่ใช้สื่อสารกับผู้ป่วยเหล่านี้ในปัจจุบันคือการพูดให้ผู้ป่วยใช้การกระพริบตาในการตอบสนอง หรือใช้บัตรคำศัพท์ซึ่งใช้เวลามากกว่าจะเข้าใจถึงความต้องการของผู้ป่วย อีกทั้งความจำกัดของสารที่ใช้ในการสื่อสารแค่บัตรคำได้ซึ่งเป็นปัญหาของวิธีการดั้งเดิมที่มี ซึ่งคนใกล้ตัวของผู้ป่วยได้มาปรึกษากับคุณปิยะศักดิ์ ถึงการค้นคว้าเทคโนโลยีที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ช่วยให้ผู้ป่วยนั้นสามารถสื่อสารกับคนรอบตัวได้ 

หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาและพบว่ามีเทคโนโลยีระบบติดตามดวงตา (Eye Tracking System) ซึ่งมีพัฒนาอยู่ที่สวีเดนและสหรัฐอเมริกา แต่ในเอเชียนั้นยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้น จึงเห็นโอกาสที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

แนวคิดของ SenzE นั้นเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ติดกล้องความละเอียดสูง และใช้ Infrared Sensor ในการควบคุมให้กล้องสามารถที่จะตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตา ทำให้สามารถสื่อสารกับบุคคลรอบข้างได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ และยังสามารถควบคุมการทำงานผ่านระบบจอสัมผัส (Touch Screen) ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีระบบที่ช่วยเหลือและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอีกหลายด้าน ได้แก่ มีระบบในการช่วยแปลภาษา อีกทั้งยังมีเสียงอ่าน มีระบบดูแลผ่าน Tablet ทำให้ผู้ดูแลหรือบุคคลรอบข้างสามารถติดตามผู้ป่วยในได้อย่างทันที (Real time) มีระบบ Live Chat ที่สามารถโต้ตอบกันได้อย่างทันที อีกทั้งยังสามารถรับสื่อบันเทิงโดยผ่านการใช้งานทางอินเตอร์เน็ต 

ทั้งนี้ยังมีระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน (Emergency Alert) โดยจะแจ้งเตือนทั้งเครื่องของผู้ป่วยเองและผู้ดูแลอีกด้วย ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาของวิธีการเดิมที่พบ โดยอุปกรณ์นั้นได้ผ่านการนำไปทดสอบกับผู้ป่วยจริงที่สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ และอื่นๆ อีกทั้งผ่านการทดสอบครบถ้วนในทุกขั้นตอน ซึ่งพบว่ากว่าร้อยละ 70 ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นอันตรายกับผู้ป่วย และประหยัดเวลาจากวิธีการเดิม อีกทั้งได้รับการตอบรับที่ดีจากแพทย์ผู้เข้าร่วมทดสอบอีกด้วย ซึ่งทั้งผู้ป่วย บุคคลรอบข้าง ผู้ดูแลผู้ป่วย พยาบาล แพทย์ รวมทั้งผู้บริหารโรงพยาบาลนั้นได้มองเห็นคุณค่าของเทคโนโลยีนี้ที่ช่วยให้ผู้ป่วยนั้นกลับมาสื่อสารได้อีกครั้ง