เครื่องชี้วัดระดับ นวัตกรรมของบริษัท

เครื่องชี้วัดระดับ นวัตกรรมของบริษัท

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงได้รับทราบข่าวแล้วว่า ระดับการพัฒนานวัตกรรมของประเทศไทยในปี 2018 ได้รับการเลื่อนขั้นจากอันดับที่ 51 มาเป็น อันดับที่ 44

ซึ่งเป็นการเลื่อนขึ้นถึง 7 อันดับ แต่ไทยก็ยังเป็นรอง สิงคโปร์ (อันดับ 5) และมาเลเซีย (อันดับ 35) ในปรเทศสมาชิกของอาเซียน โดยมีเวียตนามตามมาติดๆ ที่อันดับ 45

การจัดอันดับนวัตกรรมของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนี้ จัดทำขึ้นโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ที่มีชื่อย่อว่า WIPO และดัชนีนวัตกรรมดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า ดัชนี GII ซึ่งมาจากคำเต็มว่า The Global Innovation Index

แน่นอนว่า การวัดระดับเปรียบเทียบความเป็นนวัตกรรมว่าใครเหนือกว่าใครเท่าไหร่ จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือหรือตัวชี้วัดมาตรฐานที่พอเชื่อถือได้มาใช้วัด มิเช่นนั้น อันดับต่างๆ ก็จะไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือ เช่น ดัชนีนวัตกรรม GII ต้องใช้ตัวประเมินถึง 80 ปัจจัย มาคำนวณเพื่อจัดลำดับเป็นคะแนนรวมของดัชนี

และยังเป็นเครื่องยืนยันว่า ความเป็นนวัตกรรม สามารถวัดเปรียบเทียบกันได้ในระดับระหว่างประเทศ

สำหรับในระดับบริษัท การวัดระดับความเป็นนวัตกรรม ก็สามารถวัดเปรียบเทียบกันได้เช่นกัน แต่จำนวนตัวชี้วัดอาจไม่จำเป็นที่จะต้องละเอียดมากนัก

โดยหลัการง่ายๆ อาจเปรียบเทียบได้ว่า ความสำเร็จหรือประสิทธิภาพของการสร้างนวัตกรรม ก็คล้ายกับการสร้างกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งขึ้นในบริษัท ซึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการใดๆ ก็จะสามารถแบ่งขั้นตอนออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่

(1) การใช้ ปัจจัยนำเข้า เพื่อนำไปทำ (2) การแปรสภาพ ทำให้เกิด (3) ผลผลิต ขึ้นจากกระบวนการ (Input – Process – Output)

ดังนั้นการวัดประสิทธิภาพของ กระบวนการสร้างนวัตกรรม สามารถสะท้อนออกมาได้จากความสามารถของบริษัทในการใช้ ปัจจัยนำเข้ากระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม และ คุณภาพของ ผลผลิต หรือ ตัวนวัตกรรมที่นำเสนอสู่ตลาดนั่นเอง ซึ่งอาจเป็น ผลิตภัณฑ์ หรือ การบริการใหม่ ที่แตกต่างออกไปจากผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมๆ ที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว

ในมุมมองของการเปรียบเทียบระดับของการสร้างนวัตกรรม ตัวชี้วัดที่จะสามารถนำมาประเมิน ปัจจัยนำเข้า อาจได้แก่

  • งบประมาณทั้งหมดที่บริษัทนำมาใช้เพื่อการสร้างนวัตกรรม ซึ่งรวมตั้งแต่การทำวิจัย การออกแบบ การสร้างต้นแบบ จนถึงการผลิตออกสู่ตลาด
  • จำนวนความคิดริเริ่มหรือไอเดียใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมของบริษัทในแต่ละปี
  • จำนวนบุคคลากรทางด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ที่มีอยู่ในบริษัท
  • ฯลฯ

ตัวชี้วัดที่สามารถนำมาประเมิน กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งก็หมายถึง การแปรสภาพของ งบประมาณ ความคิดริเริ่ม หรือ ทรัพยากรบุคคล ให้เกิดเป็นนวัตกรรมขึ้น อาจได้แก่

  • งบประมาณที่ใช้เฉลี่ยต่อนวัตกรรม 1 ชิ้น
  • จำนวนไอเดียที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นนวัตกรรมได้
  • ทรัพยากรบุคคลที่ใช้เฉลี่ยต่อนวัตกรรม 1 ชิ้น
  • ฯลฯ

ส่วนตัวชี้วัดที่อาจนำมาใช้เป็นตัวประเมิน ผลผลิตนวัตกรรม ในระดับบริษัท อาจได้แก่

  • จำนวนผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม ที่นำออกสู่ตลาด
  • จำนวนสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา
  • จำนวนรายได้หรือกำไรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ
  • ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) จากกิจกรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรม
  • มูลค่าเพิ่มจากการนำเสนอนวัตกรรมออกสู่ตลาด เช่น ภาพลักษณ์ของบริษัท องค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นในบริษัท การพัฒนาบุคคลากร ผลกระทบทางอ้อมต่อบริษัท ฯลฯ ที่อาจนำมาประเมินกลับเป็นตัวเงินได้

ซึ่งตัวชี้วัดต่างๆ เหล่านี้ สามารถนำมาคำนวณรวมกันเป็นดัชนี หรือ KPI ของการสร้างนวัตกรรมในบริษัทได้ เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายของระดับความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของบริษัทให้เพิ่มมากขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการเปรียบเทียบระดับของความเป็นนวัตกรรมระหว่างบริษัทต่างๆ ในประเทศ อาจจะต้องเป็นงานของหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ที่ต้องออกแบบดัชนีชี้วัดความเป็นนวัตกรรมของประเทศขึ้นมา เพื่อเป็นตัวเร่งขับดันให้บริษัทต่างๆ มีเป้าหมายร่วมที่จะพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของแต่ละบริษัทขึ้นมาในทิศทางเดียวกัน

แล้วประกาศลำดับความเป็นนวัตกรรมของบริษัทต่างๆ ในประเทศขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ตำแหน่งระดับนวัตกรรมที่สูงขึ้นในระดับโลก