ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อปัจจุบันและอนาคต

ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อปัจจุบันและอนาคต

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการแข่งหาเงิน ทำให้คนมุ่งความสนใจศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการ

จนลืมมองความสำคัญของวิชาศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งวิชาประวัติศาสตร์

ครูสอนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้ทำให้วิชาประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องของตำนาน พงศาวดารที่มีแต่ชื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ และมีศักราชต่างๆ ที่ดูห่างไกลและน่าเบื่อหน่าย รวมทั้งทำให้ผู้เรียนมีทรรศนะผิดๆ ต่อวิชาประวัติศาสตร์ เช่น คิดว่าเป็นการศึกษาเฉพาะเรื่องราวในอดีตโบร่ำโบราณ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่เป็นจริงในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์คือการศึกษาถึงเรื่องความสัมพันธ์และกิจกรรมของคนทั้งหมดในสังคม โดยเน้นในแง่ของการพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่อดีตเป็นร้อยเป็นพันปี อดีตเมื่อปีที่แล้ว เดือนที่แล้ว นาทีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน ที่มีลักษณะเคลื่อนไหวต่อเนื่องกับเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป

คำว่า ประวัติศาสตร์ ซึ่งเราแปลมาจาก History นั้น อ.ปรีดี พนมยงค์ เคยเสนอว่าควรจะแปลว่า วิวรรตการ เพื่อสะท้อนความหมายที่แท้จริงว่าเป็นการศึกษาเรื่องของสังคมในลักษณะพัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งกินความถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

ถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ในแง่นี้แล้ว เราก็จะเข้าใจได้ว่า ประวัติศาสตร์มีความคล้ายคลึงและผูกพันอยู่กับแขนงวิชาทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เช่น รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ อย่างใกล้ชิด

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ “อดีตวิทยา” ประวัติศาสตร์คือสังคมที่เน้นมิติของกาลเวลา เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ก็คือ การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ของมนุษย์ ที่เน้นในเรื่องมิติของระยะเวลาที่มีลักษณะต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ขณะที่สังคมศาสตร์เน้นปรากฏการณ์และปัญหาปัจจุบัน

เราศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อที่เราจะเข้าใจว่าคนในแต่ละยุคสมัยหรือแต่ละขั้นตอนของประวัติศาสตร์ เขามีชีวิตความเป็นอยู่ มีความสัมพันธ์กัน โต้แย้งกัน ต่อสู้กัน สร้างสรรค์ ศิลปวิทยาการ อารยธรรม ฯลฯ อย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านั้นมีความหมายอย่างไรต่อพัฒนาการของสังคมในขณะนั้น และหลังจากนั้นรวมทั้งมีผลกระทบต่อเนื่องมาถึงคนในปัจจุบันอย่างไร

ประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับการพัฒนาประเทศ สัมพันธ์กับโลกยุคทุนนิยมข้ามชาติในแง่ที่ว่า การเรียนรู้วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของสังคม จะทำให้เรามองเห็นสภาพที่มาหรือสาเหตุของความด้อยพัฒนาของสังคมเราได้ และจะทำให้เราวิเคราะห์สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีภาพของมิติทางประวัติศาสตร์อยู่ในหัวของเขาจะมองการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเพียงโมเดลหรือวิธีการทางเทคนิคในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้ทันสมัยแบบตะวันตก ในขณะที่นักประวัติศาสตร์แบบเก่า (หรือนักพงศาวดาร) ที่ไม่มีภาพของมิติทางสังคมศาสตร์ จะมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์กับปัญหาการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน

การศึกษาประวัติศาสตร์ในแนววิเคราะห์สังคมจะช่วยให้เราเข้าใจว่า จริงๆ แล้วปัญหาความด้อยพัฒนาประเทศในหลายเรื่องเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากลัทธิจักรวรรดินิยม ศักดินานิยม และกระบวนการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่เท่าเทียมกันในสังคมต่างๆที่ผ่านมา

กระบวนการพัฒนาในแต่ละสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่สังคมบางแห่งพัฒนาได้ช้ากว่า เพราะมีความสามารถหรือความต้องการที่จะพัฒนาน้อยกว่าเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการที่ยุโรปช่วงพัฒนาจากฟิวดัลเป็นทุนนิยมในศตวรรษที่ 16-17 สามารถเข้าไปครอบครองเอาสังคมอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น สกัดทรัพยากร แรงงาน จากสังคมอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวย ให้กับสังคมของตนได้อย่ามหาศาลด้วย

การศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของพัฒนาการของระบบทุนนิยมโลก ลัทธิล่าเมืองขึ้น และลัทธิอาณานิคมแผนใหม่ การเกิดการค้าและการลงทุนข้ามชาติได้อย่างเสรี จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น ขณะเดียวกันเราต้องศึกษาถึงปัจจัยภายในสังคมไทยเอง โดยเฉพาะการคลี่คลายขยายตัวของระบบเศรษฐกิจการเมืองวัฒนธรรมแบบศักดินา ระบบอุปถัมถ์ การเล่นพรรคเล่นพวกฯลฯ ซึ่งทำให้สังคมไทย ยังคงล้าหลังกว่าญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ

ตัวอย่างเช่น เราจะเข้าใจว่าทำไมคนไทยไม่มีนิสัยในการค้า ไม่มีนิสัยในการอดออมเพื่อลงทุนขยายกิจการให้ดีขึ้นเหมือนคนเชื้อสายจีน ก็ต่อเมื่อเราได้ศึกษาว่าเป็นเวลาหลายร้อยปีที่คนไทยต้องถูกเกณฑ์แรงงานไพร่ คนจีนอพยพเข้ามาทำงานเป็นพ่อค้า เป็นแรงงานรับจ้าง โดยไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานไพร่อย่างไร รวมทั้งศึกษาถึงวัฒนธรรมศักดินาที่ยกย่องขุนนาง ดูถูกพ่อค้าและช่างฝีมือ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ในอดีตที่มีผลต่อการหล่อหลอมพื้นเพทางวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบันด้วย

การพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เจริญขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงการทำประเทศให้ทันสมัยแบบทุนนิยมตะวันตกเส้นทางเดียว ถ้าหากประชาคนไทยฉลาดเพียงพอที่จะศึกษารากฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งมีทั้งจุดแข็ง (เช่น ชุมชนยุคก่อนทุนนิยมเคยร่วมมือกันและพึ่งพาตนเองได้ค่อนข้างดี) และจุดอ่อน (วัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย ลัทธิอุปถัมภ์นิยม) ควบคู่กันไปกับการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบทุนนิยมโลก เราก็จะมองแนวทางการพัฒนาที่ถูกครอบงำจาก ธนาคารโลก บรรษัทข้ามชาติ แบบวิพากษ์ได้

และสามารถที่จะช่วยกันคิดหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบทางเลือกที่เป็นตัวของตัวเอง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจแนวพุทธ แนวสังคมนิยมประชาธิปไตยที่อนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม แนวพึ่งตนเองในระดับชุมชนและระดับประเทศ ชุมชนสวัสดิการ รัฐสวัสดิการ ที่เน้นคุณภาพของชีวิต ความสมดุล ความเป็นธรรม ความยั่งยืน และสันติสุขของคนส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากแนวทางการเน้นการเติบโตของการผลิต บริโภคสินค้าอย่างสุดโต่ง อย่างที่ทุกรัฐบาลและทุกพรรคการเมืองใหญ่ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง แต่อ้างว่าจะทำให้ประชาชนรวยในวันหนึ่ง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ยิ่งเติบโตมาก ก็ยิ่งเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก ขูดรีดเอาเปรียบทั้งคนและระบบนิเวศมาก สร้างปัญหาความยากจน ขาดแคลน หนี้สิน และปัญหาสังคมต่างๆ มากมาย