ข้อคิดธรรมาภิบาลในภาคธนาคาร

ข้อคิดธรรมาภิบาลในภาคธนาคาร

สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาของธนาคารแห่งประเทศไทย

หัวข้อ ส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริตในธุรกิจธนาคาร ซึ่งได้ให้ความเห็นไปหลายประเด็น วันนี้เลยอยากสรุปบางประเด็นที่ให้ความเห็นไปให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

ภาคธนาคารถือเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญของประเทศ เพราะทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรการเงินจากเงินออมของประชาชนไปสู่การลงทุนของภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นภาคธุรกิจที่ต้องมีความรับผิดชอบสูงต่อสังคม เพราะดูแลเงินฝากของประชาชนที่ควรต้องนำไปปล่อยกู้ในรูปแบบที่เป็นประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้ความไว้วางใจของประชาชนหรือ Trust ต่อธุรกิจธนาคารจึงสำคัญมาก

นอกจากนี้ การบริหารกิจการธนาคารก็ต้องระมัดระวัง เพราะความผิดพลาดอาจสร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจได้ ทำให้ธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจที่มีการกำกับดูแลโดยภาคทางการมาก ซึ่งจะทำในสองแนว 1.กำกับดูแลโดยกฎระเบียบที่ควบคุมการทำธุรกิจของธนาคาร ไม่ให้มีความเสี่ยงเกินไป โดยกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด ให้มีการเปิดเผยข้อมูล และให้ธนาคารมีทุนการดำเนินการที่เพียงพอ 2.กำกับดูแลการทำหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารในฐานะผู้นำองค์กรให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดูแลให้ธนาคารมีระบบการควบคุมภายในที่เข้มแข็ง และระมัดระวังประเด็นความเสี่ยงที่อาจมาจากลูกค้าของธนาคาร (Client Risk) โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อชื่อเสียงและความเสี่ยงด้านจริยธรรมที่อาจดึงธนาคารเข้าไปสนับสนุนการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายหรือที่ขัดกับจริยธรรมโดยไม่รู้ตัว

จากความสำคัญนี้ การกำกับดูแลธุรกิจธนาคารด้านธรรมาภิบาลจึงต้องทำครบถ้วน ซึ่งจะทำในสามแนวทาง 1.กำกับดูแลการทำหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารให้มีนโยบายและกระบวนการต่างๆครบถ้วน เน้นโครงสร้างบอร์ดที่เหมาะสม มีกรรมการที่มีความรู้ความสามารถและคณะกรรมการมีกระบวนการทำหน้าที่มีประสิทธิภาพ 2.มีระบบการควบคุมภายในที่เข้มแข็ง ป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ผิดพลาด เช่น ฉ้อโกง หรือเอารัดเอาเปรียบลูกค้า เช่น ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน รวมถึงปล่อยสินเชื่อที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติ 3.มีกระบวนการป้องกันความเสี่ยงที่อาจมากับลูกค้า เช่น ธนาคารถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน หรือให้สินเชื่อธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ที่นำเงินไปให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบริจาคเงิน สนับสนุนกิจกรรมการเมือง

บริบทเหล่านี้ ชี้ชัดเจนว่าการกำกับดูแลธุรกิจธนาคารในเรื่องธรรมาภิบาลและจริยธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน ทำให้กฎระเบียบอย่างเดียวอาจไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ โดยเฉพาะถ้าใจของผู้ปฏิบัติไม่เอาด้วย ยิ่งปัจจุบันที่ธุรกิจธนาคารกำลังต้องปรับตัวจากผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป รวมถึงการคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นธนาคารเป็นผู้ให้สังคมมากกว่าผู้รับ เป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจที่มีคุณภาพ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย มีมาตรฐานสูงในการทำธุรกิจ และพนักงานมีความเป็นมืออาชีพ เหล่านี้ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวต่อผลกระทบต่างๆนี้ให้ได้อย่างสำเร็จ โดยไม่ลดมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลและจริยธรรมในการทำธุรกิจ ที่จะกระทบความไว้วางใจของประชาชน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำธุรกิจธนาคาร

ความเห็นผมที่แชร์ในงานสัมมนาก็คือ ระบบธนาคารพาณิชย์ของเราปัจจุบันมีเครื่องมือและระบบต่างๆมากพอที่จะดูแลความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาลและจริยธรรมในธุรกิจธนาคารได้ เพียงแต่เราต้องทำเรื่องเหล่านี้จริงจัง ไม่ให้เกิดช่องว่างที่อาจกระทบความไว้วางใจของประชาชน เป็นประเด็นที่ทุกคนที่ทำงานในภาคธุรกิจธนาคารต้องให้ความสำคัญ และเท่าที่เห็นก็มีสองสามเรื่องที่ควรต้องเน้นเป็นพิเศษ

1.ระบบควบคุมภายใน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะป้องกันหรือลดการประพฤติที่ไม่เหมาะสมของทั้งพนักงานและลูกค้า ซึ่งระบบงานที่สำคัญคือ กระบวนการตรวจสอบเพื่อให้รู้จักลูกค้า หรือ KYC ที่เป็นแนวป้องกันสำคัญ ช่วยไม่ให้ธนาคารถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทั้งจากลูกค้าหรือจากการร่วมมือของลูกค้ากับพนักงานที่ไม่สุจริต ถ้าระบบการตรวจสอบ KYC ของธนาคารเข้มแข็ง จริงจัง ก็ยากที่ลูกค้าจะใช้ธนาคารเป็นเครื่องมือในการทำสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม

 2.ระบบงานดูแลลูกค้าที่เป็น บุคคลที่มีบทบาททางการเมือง” หรือ Politically Exposed Persons หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสูงในทางการเมือง ที่มีหรือเคยมีตำแหน่งทางการเมือง ประเด็นนี้ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญมาก เพราะมีความเสี่ยงที่บุคคลเหล่านี้อาจใช้ธนาคารเป็นทางผ่านหรือเป็นเครื่องมือทำธุรกรรมการเงินที่อาจไม่มีที่มาที่ไปของเงินชัดเจน ตัวอย่างล่าสุดก็กรณี 1MDB ของมาเลเซีย ทำให้สถาบันการเงินควรมีนโยบายและกระบวนการที่จะรองรับการทำธุรกิจกับบุคคลเหล่านี้ เช่น ตรวจสอบประวัติและภูมิหลังของลูกค้าเป็นพิเศษ (due diligence) มีการประเมินความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของลูกค้า และการอนุมัติควรต้องมาจากเจ้าหน้าที่ระดับบริหารเท่านั้น ในบ้านเรา การดูแลบุคคลพิเศษเหล่านี้ยังไม่มีระบบที่ถือปฏิบัติเป็นการทั่วไป ทำให้การบริหารความเสี่ยงของธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกับลูกค้ากลุ่มนี้จะแตกต่างกันมากระหว่างธนาคาร

3.ปัญหาเรื่องจริยธรรมและวัฒนธรรมองค์กร ที่นับวันจะสำคัญมากขึ้นๆสำหรับธุรกิจการเงินที่มักจะมีข่าวเรื่องฉ้อโกงหรือการทำผิดของพนักงาน เช่น กรณีธนาคารเวลฟาโก้ในสหรัฐ ที่ต้องตระหนักก็คือ กฎระเบียบและมาตรฐานควบคุมภายในต่างๆอาจไม่สามารถลดทอนพฤติกรรมที่ขาดจริยธรรมได้ ถ้าจิตใจของพนักงานไม่เอาด้วย ดังนั้น การป้องกันที่มีประสิทธิภาพก็คือ สร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรมให้เข้มแข็ง ที่จะช่วยลดทอนและกำกับดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพนักงาน ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะผลสำรวจของ Labaton Sucharow ปี 2015 ที่ศึกษาพฤติกรรมของพนักงานธนาคารในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ชี้ว่ามีพนักงานธนาคารจำนวนมากที่รู้สึกว่าคู่แข่งอาจใช้วิธีผิดกฎหมายหรือขัดต่อจริยธรรม สร้างความได้เปรียบในการทำธุรกิจ รู้สึกว่าบางครั้งอาจจำเป็นที่พนักงานต้องทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อจริยธรรมเพื่อให้ได้เป้าธุรกิจ และรู้สึกว่าระบบการให้ผลตอบแทนพนักงาน รวมถึงการจ่ายโบนัส มักสร้างแรงกดดันให้กับพนักงาน สิ่งเหล่านี้ชี้ว่าการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับพนักงานให้ตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมในการทำธุรกิจนับวันจะสำคัญมากขึ้นๆ และวัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรมที่เข้มแข็งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อธนาคารเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการธนาคาร

นี่คือข้อคิดที่ผมได้ฝากไว้ในการสัมมนาเมี่อสัปดาห์ที่แล้ว