ในช่วงรอการวิจัยว่าการอ่านจะหมดสมัยหรือยัง

ในช่วงรอการวิจัยว่าการอ่านจะหมดสมัยหรือยัง

การอ่านเป็นข่าวพาดหัวอีกครั้ง หลังนายกรัฐมนตรีอ้างถึงในระหว่างเยี่ยมเยียนชาวอีสานเมื่อไม่กี่วันมานี้ นายกฯ อ้างถึงข้อมูลเก่า

เรื่องคนไทยแทบไม่อ่านหนังสือ นั่นคือ อ่านโดยเฉลี่ยคนละ 8 บรรทัดต่อปี เรื่องนี้เคยเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่าสะท้อนความเป็นจริงแค่ไหนและข้อมูลนั้นได้มาอย่างไร การถกเถียงกันถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกและเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจตีพิมพ์รายงานเรื่อง คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้นอันดับ 2 ของโลก” รายงานนี้อ้างถึงข้อมูลขององค์กรต่างประเทศซึ่งบ่งว่าคนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยคนละ 9.24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นับเป็นลำดับ 2 รองจากชาวอินเดีย หากเข้าไปดูต้นตอของข้อมูลจะพบว่าเป็นข้อมูลเก่ามากเช่นกัน และวิธีการได้มาจะครอบคลุมแค่ไหนและน่าเชื่อถือได้เพียงไรไม่เป็นที่ประจักษ์

ข้อมูลจาก 2 แหล่งขัดแย้งกันมาก ทั้งนี้คงสืบเนื่องมาจากวิธีเก็บข้อมูลที่มิได้วางอยู่บนฐานทางวิชาการอย่างแท้จริง หรือกรอบครอบคลุมต่างกัน อย่างไรก็ดี เท่าที่ผมสังเกตมาเป็นเวลานาน การสรุปของนายกฯ ที่ว่าคนไทยแทบไม่อ่านหนังสือ ทำให้ความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปด้านต่าง ๆ ต่ำน่าจะใกล้ความจริงมากกว่าโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการอ่านของประชาชนในประเทศก้าวหน้าทางวิชาการ เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ

ส่วนที่นายกฯ อ้างว่าตนเองอ่านหนังสือวันละกว่า 800 บรรทัดนั้นมองได้ว่า ไม่มากเนื่องจาก 800 บรรทัดเท่ากับราว 1 บทซึ่งคงใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น การอ่านของนายกฯ ตรงกับข้อมูลของรายงานในกรุงเทพธุรกิจและอาจมองได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเพราะนายกฯ มีภาระสารพัดยังเจียดเวลามาอ่านหนังสือวันละ 1 บท หากคนไทยโดยทั่วไปทำเช่นนั้น สภาพการณ์ในสังคมไทยน่าจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เพราะการวิจัยได้ยืนยันอย่างมั่นคงแล้วว่า การอ่านให้ผลดีสารพัดจากพัฒนาการในสมองของเด็กเล็ก ไปจนถึงความสามารถในการเรียนรู้ การปรับตัวในสังคม การประกอบอาชีพและการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ผลดีในระดับบุคคลเหล่านี้ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ

อนึ่ง การอ่าน ในที่นี้และที่อ้างถึงในการวิจัยทางวิชาการเป็นการอ่านเพื่อสันทนาการ จึงมิร่วมการอ่านเอกสารเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการทำงานประจำวัน สิ่งที่อ่านเป็นตัวอักษรในหลากหลายภาษาที่พิมพ์ออกมาบนหน้ากระดาษและเย็บเป็นเล่มขนาดต่าง ๆ เรียกว่า “หนังสือ” ในยุคนี้ การอ่านวิวัฒนาเป็นการอ่านผ่านจอเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์แบบก้าวหน้า เนื้อหาที่อ่านอาจอยู่ในรูปของนวนิยาย สารคดีและกวีนิพนธ์

ในปัจจุบัน ข้อมูลในประเทศก้าวหน้าบ่งชี้ว่าการอ่านโดยทั่วไปมีแนวโน้มลดลงส่งผลกระทบต่อธุรกิจการพิมพ์และร้านขายหนังสือ ปัจจัยที่ทำให้การอ่านลดลงมีหลายอย่าง เช่น ความกดดันของการหาเลี้ยงชีพยุคใหม่ การเข้าถึงสื่อบันเทิงจำพวกโทรทัศน์ได้ง่ายทำให้เกิดทางเลือกมากขึ้น และการแพร่ขยายของสื่อสังคมผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เฟสบุ๊คและทวิตเตอร์

บนฐานของการวิจัยในอดีต อาจคาดได้ว่าแนวโน้มดังกล่าวนี้จะมีผลกระทบต่อบุคคลและการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังด่วนสรุปมิได้เพราะปัจจัยที่ทำให้การอ่านลดลงเหล่านั้นอาจสร้างอะไรขึ้นมาทดแทนผลดีของการอ่านที่ลดลงไปก็ได้ การวิจัยเท่านั้นจะเป็นตัวนำไปสู่ข้อสรุปที่ถูกต้อง

เนื่องจากการวิจัยต้องใช้เวลานาน ประเด็นสำคัญในปัจจุบันคือ เราจะทำอย่างไรในช่วงที่รอผลของการวิจัย คำตอบคงเป็นอะไรมิได้นอกจากสนับสนุนให้เกิดสภาวการณ์ที่จูงใจให้เกิดการอ่านมากขึ้น ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงหนังสือชั้นดีเช่นสังคมไทย การสนับสนุนคงต้องเน้นการเข้าถึงหนังสือของภาคส่วนที่มีโอกาสน้อยกว่า นั่นคงหมายความว่า งบประมาณรัฐบาลที่ทุ่มลงไปในหมู่บ้านต้องรวมการสนับสนุนให้เกิดการอ่านเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย แต่เรื่องนี้ดูจะยังไม่มีใครให้ความสำคัญ ฉะนั้น นายกฯ จะต้องไม่เอาแต่ทับถมคนไทยว่าไม่อ่านหนังสือทำให้ไม่ค่อยรู้อะไรเท่านั้น จะต้องทุ่มงบประมาณเข้าไปสนับสนุนการอ่านซึ่งอาจแทนงบประมาณสนับสนุนโครงการมักง่ายจำพวกไปศึกษาดูงาน จัดเสวนานอกสถานที่และตกแต่งภูมิทัศน์แบบไม่มีที่สิ้นสุด