การปฏิรูปการเมืองกับปัญหานิติธรรมและวัฒนธรรมทางการเมือง***

การปฏิรูปการเมืองกับปัญหานิติธรรมและวัฒนธรรมทางการเมือง***

ในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองไทยได้เข้าสู่สภาวะวิกฤติขั้นรุนแรงแตกแยกร้าวลึกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549

ก่อให้ความแตกแยกในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้ความมั่นคงมนุษย์เกิดขึ้นได้ยาก ในบริบทที่ไร้ซึ่งเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมือง การรอมชอมภายใต้สัมพันธภาพทางอำนาจที่เป็นอยู่เดิมระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน และระหว่างชั้นชนกลุ่มต่างๆ ในภาคประชาสังคมเองไม่อาจจะดำรงอยู่เช่นเดิมได้อีกต่อไป โดยไม่มีการปรับตัว แต่การหาทางจัดสัมพันธภาพทางอำนาจกันใหม่ก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะความแตกแยกทางความคิดที่ทำให้ยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันจนเกิดเป็นฉันทมติว่าจะมีหลักการและใช้กฎใดสำหรับจัดความสัมพันธ์กันใหม่ระหว่างอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ระหว่างฝ่ายพลเรือนกับทหาร ระหว่างอำนาจส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจชุมชนและตลาด ระหว่างอำนาจทุนกับอำนาจการเมือง และระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยและประชาชน 

วิกฤติการเมืองขั้นรุนแรงที่แตกแยกร้าวลึกดังกล่าว นำมาซึ่งการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง นั่นคือ รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 8 ปี แม้ว่าเงื่อนไขของการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดจะมีลักษณะที่ไม่ต่างจากรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 นั่นคือ สังคมไทยตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงล่อแหลมต่อการปะทะนองเลือดระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย แต่เงื่อนไขความรุนแรงในปี 2557 มีความเข้มข้นชัดเจนรุนแรงสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะนองเลือดของประชาชน 2 ฝ่ายที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำไปสู่สภาวะสงครามกลางเมืองมากกว่าเงื่อนไขของรัฐประหารในปี 2549 ขณะเดียวกัน รัฐประหารครั้งล่าสุดยังมีความแตกต่างจากรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ตรงที่คณะรัฐประหารมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาอำนาจทางการเมืองต่อไป เพื่อนำการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการเมือง โดยผลผลิตที่เป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ถูกออกแบบมาด้วยความคาดหวังที่จะนำสังคมไทยไปสู่สังคมที่ก้าวข้ามวงจรอุบาทว์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองจะต้องลงเอยด้วยการรัฐประหาร แล้วก็วนกลับเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและลงเอยด้วยการรัฐประหารเป็นวังวน โดยมุ่งหวังว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูกต่างๆ จะสามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น การชุมนุมประท้วงที่ละเมิดกฎหมาย การเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์และยุติธรรม ฯลฯ 

แต่ไม่ว่าจะออกแบบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างๆ ให้ดีอย่างไร ปัญหาสำคัญในสังคมไทยที่ประจักษ์ชัดมาตลอดก็คือ ปัญหาการไม่เคารพกฎหมายและการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในชีวิตประจำวันอย่างเช่น กฎหมายจราจรไล่ไปถึงกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ และถ้าผู้คนทั่วไป ไม่ว่าประชาชนหรือนักการเมืองไม่เคารพเชื่อฟังกฎหมาย-รัฐธรรมนูญแล้ว การปฏิรูปการเมืองและสังคมที่คาดหวังให้เกิดขึ้นในอนาคตของสังคมไทยโดยผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ออกมาใหม่ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการเมืองสำเร็จคือ การทำอย่างไรให้ผู้คนเคารพกฎหมายและมีการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ ทำให้อย่างไรให้เกิดนิติธรรมขึ้นในสังคมไทย 

การไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญประจักษ์ชัดจากวิกฤติการเมืองในช่วงต่างๆ ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการละเมิดหรือบิดเบือนรัฐธรรมนูญของนักการเมืองไปจนถึงการฉีกรัฐธรรมนูญจากการทำรัฐประหาร นอกจากการไม่เคารพรัฐธรรมนูญแล้ว เรายังพบเห็นการไม่เคารพกฎหมายอื่นๆ มากมายในสังคมไทย ที่เห็นในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การไม่เคารพกฎหมายจราจร เช่น การฝ่าสัญญาณไฟแดง การไม่จอดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ฯลฯ หากในชีวิตประจำวัน ผู้คนไม่เคารพกฎหมาย เช่น ขับรถฝ่าไฟแดง ขับรถย้อนศร ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลายเป็นปกติ ใช้ความรุนแรงได้ง่ายและเป็นปกติฯลฯ เมื่อมีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง การไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก และสามารถเลยเถิดไปจนถึงขั้นก่อความรุนแรงละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นจนไปถึงการจลาจล เพราะในชีวิตประจำวันก็มีการละเมิดกฎหมาย ใช้ความรุนแรงละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นเป็นประจำและถูกมองว่าเป็นเรื่องปรกติอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย และการไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยปริยาย 

การไม่เคารพกฎหมายธรรมดาทั่วไปและการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นฐานรากที่ส่งผลให้ไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญและการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการไม่เคารพกฎหมายทั่วไปในชีวิตประจำวันมีอิทธิพลต่อการขัดเกลาหล่อหลอมทางสังคมของผู้คนตั้งแต่เยาว์วัยจนกลายเป็นบุคลิกภาพทางการเมืองของคนเหล่านั้นในที่สุด ดังนั้น ในการแก้ปัญหาการไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญและการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาการไม่เคารพกฎหมายและการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในชีวิตประจำวันเป็นพื้นฐานเสียก่อน 

ที่สำคัญคือ ตัวนักการเมืองเองเป็นตัวอย่างให้กับประชาชนในการเคารพกฎหมายมากน้อยเพียงไร ? รถของนักการเมืองฝ่าไฟแดงหรือไม่ ? จอดให้คนข้ามทางม้าลายหรือเปล่า ?  

และผู้มีอำนาจทางการเมืองขณะนี้ ปฏิบัติตามกฎหมายมากน้อยเพียงไร ? ในขณะที่ประกาศว่าจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพกฎหมายมีระเบียบ แต่ถามว่า ผู้มีอำนาจขณะนี้สามารถสั่งให้รถราชการทุกคันไม่ฝ่าไฟแดงได้หรือไม่ ? ให้รถราชการทุกคนต้องจอดให้คนข้ามตรงทางม้าลายให้เป็นตัวอย่างที่ดีได้หรือไม่ ? รวมทั้งกฎระเบียบในเรื่องการแสดงทรัพย์สิน ฯลฯ  

ถ้าท่านเองยังทำไม่ได้ ท่านยังสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าประชาชนจะเคารพเชื่อฟังกฎหมายอย่างที่ท่านหวังจะปฏิรูปบ้านเมืองเลย ถ้าไม่ฝันไป ก็คงเพ้อเจ้อไปเรื่อย ก็แค่นั้น 

บ้านเมืองก็เป็นเช่นนี้ต่อไปนั่นแล

 

*** ชื่อเต็มเรื่อง: การปฏิรูปการเมืองไทยกับปัญหานิติธรรมและวัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมไทย