4 จุด ที่อาจพลาดของ ‘เจย์ พาวเวล’

4 จุด ที่อาจพลาดของ ‘เจย์ พาวเวล’

ข่าวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปรยว่าตัวเขาเองไม่ปลื้มนักกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด มุ่งแต่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้

 เนื่องจากจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกของประเทศ ส่งผลให้เกิดการขาดดุลกับนานาประเทศมากขึ้นเข้าไปอีก

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหตุการณ์แนวนี้เกิดขึ้น ในอดีตมีผู้นำสหรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของเฟดอยู่เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ สมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน มีข่าวลือว่าจะเพิ่มจำนวนสมาชิกสายเน้นการเติบโตเศรษฐกิจหรือ Dovish เข้าไปในคณะกรรมการเฟด ซึ่งจุดนั้นถือเป็นจุดสิ้นสุดของกฎหมายความร่วมมือระหว่างเฟดกับกระทรวงการคลัง ในปี 1951 ส่งผลให้เกิดการขายพันธบัตรกันแบบกระจายในปี 1971

นอกจากนี้ สมัยประธานาธิบดี ลินดอน จอห์นสัน ยังนำประธานเฟดสมัยนั้นนามว่า วิลเลียม แมคเชสนีย์ มาร์ติน ไปเยือนถึงถิ่นกลางทุ่งในเท็กซัส เพื่อกดดันให้เขาเปลี่ยนการตัดสินใจที่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้า หรือแม้แต่ประธานาธิบดีแฮรี ทรูแมน ที่ต้อนสมาชิกเฟดครบทีมไปที่ทำเนียบขาวเพื่อสั่งการให้คงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำ แล้วบอกกับสื่อมวลชนว่าไปเลี้ยงสังสรรค์เท่านั้น

มาถึงตรงนี้ ผมมองว่ามีอยู่ 4 จุด ที่อาจเป็นข้อผิดพลาดได้ไม่ยากในอนาคตของ ประธานเฟด เจย์ พาวเวล ที่เมื่อมองจากทรงในขณะนี้เห็นอยู่ว่าอาจจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐสะดุดได้อยู่เหมือนกัน ดังนี้

1.‘พาวเวลดูเหมือนจะไม่ศรัทธาในสัญญาณของเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยกลับหัวหรือInverted yield curveว่าจะเป็นสัญญาณเตือนของเศรษฐกิจถดถอย’ เลยอาจจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไป

ด้วยความที่นายพาวเวลไม่ได้เรียนจบมาทางเศรษฐศาสตร์โดยตรง มีข้อดีคือ open-minded แต่มี ข้อเสีย คือเมื่อเรียนรู้ในช่วงเป็นผู้ใหญ่จะใช้วิจารณญาณในการเลือกเชื่อแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแนวคิด Inverted yield curve เป็นหนึ่งในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ขัดแย้งกับวิจารณญาณของคนทั่วไป ซึ่งจากการตอบคำถามกับกรรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมว่านายพาวเวลดูจะเป็นเช่นนั้นเสียด้วย

ยิ่งผมได้อ่านงานวิจัยของนักวิชาการเฟดล่าสุด ที่ใช้ Probit Model ซึ่งนักวิจัยเฟดใช้วิธีดังกล่าวในการหาสาเหตุว่าเศรษฐกิจถดถอยโดยแท้จริงแล้วมาจาก Inverted yield curve หรือตลาดเห็นว่าเกิด Inverted yield curve เลยสร้างความคาดหวังว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย ปรากฎว่างานวิจัยนี้มองว่าเกิดจากอย่างหลัง เลยทำให้ยิ่งยิ่งเอะใจว่านายพาวเวลจะประเมินว่าตอนนี้ อยู่ในโหมด This time is Different ที่ QE ทำให้ Inverted yield curve ไม่ขลังเหมือนเดิม

โดยการที่พาวเวลไม่มองว่า inverted yield curve จะส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว อาจจะทำให้เฟดเพลิดเพลินกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไป จนเศรษฐกิจเกิด recession แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

หากพิจารณาจากผลลัพธ์ของงานวิจัยของเฟดซานฟรานซิสโกเมื่อต้นปีนี้ รวมถึงงานวิจัยจากเฟดนิวยอร์ค เมื่อปี 1996 ที่ลือลั่น สรุปว่าทุกครั้งที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปี 1955 จำนวน 9 ครั้ง Inverted yield curve สามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนของเศรษฐกิจถดถอยได้ทุกครั้ง ยกเว้นครั้งเดียวที่ Inverted yield curve เกิดขึ้นทว่าเศรษฐกิจชะลอตัวเพียงเล็กน้อยหลังจากนั้

2.‘พาวเวลถูกกดดันให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามดำริของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เพื่อหาเสียงในจุดที่ดอลลาร์อยู่ในขาอ่อนเพื่อช่วยการส่งออกสหรัฐสำหรับช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2020 หรืออาจจะเป็นสิ้นปีนี้ก็เป็นได้ แม้ภาวะเงินเฟ้อและการว่างงานเรียกร้องให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วก็ตาม

ในมุมมองนี้ นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายภายใต้การจ้างงานแบบเต็มศักยภาพ หากนายพาวเวลถูกทรัมป์เบรกไม่ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตรงนี้เศรษฐกิจสหรัฐถือว่าเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อหลุดเป้าหมายแบบคุมไม่ได้

3.‘พาวเวลอาจหลงเหลี่ยมนางอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครตซึ่งเธอมาจากสายที่ตรงกันข้ามกับแบงก์ใหญ่สหรัฐ (บางแบงก์) แบบเต็มตัว’ ที่จะปรับการทดสอบภาวะวิกฤติให้มีการลงโทษแบงก์ที่สอบตก Stress Test แบบแรงขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะทำให้การทำหน้าที่ของสถาบันการเงินสหรัฐต่อระบบเศรษฐกิจจะต้องสะดุดลง ส่งผลเสียคล้ายกับที่เคยเห็นในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ท้ายสุด แรงเบียดต่อเฟดจากจอมเก๋าอย่างนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปที่ผมมองว่ามีโอกาสที่จะออกตัวแรงประเดิมใช้ Operation Twist โดยขายพันธบัตรระยะสั้นและซื้อพันธบัตรระยะเวลาปานกลาง เพื่อปลดล็อคการขาดพันธบัตรระยะสั้นที่จะซื้อ โดยหันมาซื้อพันธบัตรระยะปานกลาง แทน ซึ่งตรงนี้ยิ่งจะกดดันให้เกิด Inverted yield curve ในสหรัฐหนักขึ้นไปอีก ซึ่งตรงนี้จะบีบให้นายพาวเวลต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งจะไปกระเทือนกระบวนการปรับเข้าสู่โหมด Normal Economy ของสหรัฐ รวมถึงอาจไปสร้างฟองสบู่ให้กับตลาดหุ้นสหรัฐมากเกินไป

ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐจากนโยบายที่อาจจะเดินไม่ถูกทางโดยง่าย ภายใต้ประธานาธิบดีสหรัฐที่ออกแนว Aggressive ในทุกเรื่อง และประธานเฟดที่มาจากสายกฎหมายซึ่งผมมองว่าพาวเวลมีความสามารถแต่บางครั้งอาจมองข้ามบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งหากมองไป 2 ปีข้างหน้า ความเสี่ยงนี้ถือว่าสูงกว่ายุโรป ญี่ปุ่น อังกฤษและอาจจะรวมถึงจีนเสียด้วยซ้ำไป

หมายเหตุ : ผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมเรื่อง "เจาะลึก Trade War & Brexit" พบกับมุมมอง Macro และการลงทุน ในครึ่งปีหลัง 2018 ในวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2018 ติดตามรายละเอียดได้ที่ LINE ID: MacroView  MacroViewblog.com และ facebook.com/ MacroView ครับ