สุสานโลกใหม่

สุสานโลกใหม่

เป็นความตั้งใจของผู้เขียน ที่อยากจะอ่านหนังสือเล่มใหญ่อย่างละเอียดให้ได้ 2-3 เล่มต่อปี และนำเนื้อหาที่ได้มาสรุปให้ผู้อ่านบทความนี้

แต่กลับกลายเป็นว่า ครั้งสุดท้ายที่ได้ทำดั่งใจหวังคือเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน เนื่องจากภาระการงานที่มากขึ้นจนไม่สามารถเจียดเวลาได้

แต่ในครั้งนี้ หลังจากที่ผู้เขียนได้เห็นหนังสือ Grave New World: The end of globalization, the return of history ที่แต่งโดย Stephen D. King ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยธนาคาร HSBC ผู้เขียนก็ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะอ่านและสรุปหนังสือเล่มนี้ รวมถึงให้ความเห็นต่อเนื้อหาในหนังสือให้ได้

เพราะนอกจากแนวคิดของ King จะร้อนแรงและย้อนแย้งกับแนวคิดหลัก (Controversial) ของนักคิดในยุคนี้ที่ว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ไม่มีทางไหลกลับแล้วนั้น ยังบังเอิญตรงกับแนวคิดของผู้เขียนเองที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ Learn and Fast Change in 4.0 ด้วย

หากกล่าวโดยสรุป หนังสือเล่มนี้โต้แย้ง 3 แนวความคิดหลักที่ถือว่าเป็นความคิดพื้นฐานของผู้คนในยุคปัจจุบัน อันได้แก่

  1. แนวคิดที่ว่ากระแสโลกาภิวัฒน์มีแต่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่มีวันย้อนกลับโดยเห็นว่าโลกาภิวัฒน์ยุคนี้เริ่มต้นหลังจากการประชุมเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods) ในปี 1944 อันนำมาสู่ 3 องค์กรโลกบาลหลักด้านเศรษฐกิจ คือ (1) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เป็นผู้ดูแลระบบอัตราแลกเปลี่ยนโลก (2) ธนาคารโลก (World Bank) ที่ดูแลการลงทุนและการพัฒนาระหว่างประเทศ และ (3) ข้อตกลงทั่วไปด้านภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) ที่เป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรการค้าโลก (WTO) ที่มีจุดหมายคือจะนำไปสู่การค้าเสรีทั่วโลก
  2. การพัฒนาของเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสารต่าง ๆโดยเฉพาะ Social Media e-commerce และ Fintech ในยุคปัจจุบันจะยิ่งสนับสนุนให้ พรมแดนต่าง ๆ ถูกทำลายมากขึ้น ทั้งพรมแดนระหว่างประเทศ และระหว่างอุตสาหกรรม ซึ่งจะยิ่งสนับสนุนให้กระแสโลกาภิวัฒน์รุกหน้า
  3. ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (Free Market Capitalism) และระบบการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democracy) จะได้รับการยอมรับมากขึ้นในขณะที่ระบบเผด็จการ (Authoritarian) ต่าง ๆ จะหมดไปในที่สุด โดย เหตุการณ์การทลายกำแพงเบอร์ลิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์รวมถึงสหภาพโซเวียตที่เป็นจ้าวลัทธิเผด็จการใหญ่ของโลก

ในหนังสือเล่มนี้ King ได้ให้ 2 เหตุผลโต้แย้ง (Counter-argument) แนวคิดทั้ง 3 ไว้ดังนี้

เหตุผลแรก ได้แก่ กระแสโลกาภิวัฒน์สามารถย้อนกลับได้ รวมถึงไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว เพราะโลกาภิวัฒน์ก็เหมือนวัฒนธรรมหนึ่ง โดย King ได้ย้อนไปถึงยุค ค.ศ. 711 ที่วัฒนธรรมตะวันออกของจีนและวัฒนธรรมอิสลามของตะวันออกกลางได้รุกเข้ามาสู่ยุโรป แต่ต่อมาวัฒนธรรมอิสลามเสื่อมความนิยมลง และถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมคริสตร์ โดยจุดเปลี่ยนหลักได้แก่ปี 1492 ที่ Christopher Columbus ค้นพบ “โลกใหม่” หรือทวีปอเมริกา ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโลกาภิวัฒน์ของซีกโลกตะวันตกอย่างที่แท้จริง

เนื่องจากการค้นพบโลกใหม่นำมาซึ่งทรัพยากรจำนวนมาก รวมถึงโอกาสที่ซีกโลกตะวันตกจะได้ “เซ็ทซีโร่” ในระบบการปกครอง เศรษฐกิจและสังคมใหม่ ซึ่งเมื่อผนวกกับความเสื่อมถอยของวัฒนธรรมจีนอันเป็นผลจากจักรพรรดิ์จีนยุคนั้นหันมาปิดประเทศ จึงเริ่มเป็นจุดเสื่อมถอยของวัฒนธรรมตะวันออกและจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมตะวันตก

แต่ปัจจุบันโลกาภิวัฒน์ที่นำโดยสหรัฐนั้นกำลังสั่นคลอนและเปลี่ยนแปลง จากความจริงที่ว่าระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและระบบการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ได้นำประโยชน์มาสู่คนส่วนใหญ่ แต่กลับทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้นจึงเป็นไปได้ที่จะเห็นการกลับมาของระบบเผด็จการ เนื่องจาก

(1) ระบบเสรีนิยมให้ประโยชน์กับเจ้าของทุน (Capital Owner) ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการและ/หรือนายทุน รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ มากกว่าเจ้าของแรงงาน (Labor) ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ เนื่องจากผลตอบแทนของทุนจะมากกว่าและเติบโตเร็วกว่าค่าจ้างที่แรงงานได้รับเสมอ (2) กระแสโลกาภิวัฒน์ จะผลักดันให้กระบวนการผลิตออกจากที่มีต้นทุนสูงมาสู่ที่ ๆ มีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้แรงงานในประเทศพัฒนาแล้วตกงาน และ/หรือเกิดกระบวนการที่ผู้อพยพต่างชาติเข้ามาแย่งงานประชาชนในประเทศ และ (3) กระบวนการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินปี 2008 ที่ผ่านการอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) และการก่อหนี้ ทำให้คนชั้นล่างมีหนี้มากขึ้น ขณะที่ชนชั้นบนที่เป็นเจ้าของกิจการได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งที่สูงขึ้นตามราคาหุ้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

เหตุผลสุดท้าย ได้แก่ เทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้พรมแดนต่าง ๆ ลดลงเสมอไป แต่ในบางกรณีกลับทำให้ความแตกแยกมีมากขึ้น เช่น Social Media เป็นการสนับสนุนให้คนที่มีความคิดเดียวกันเข้ามาหากัน และแบ่งแยกความคิดของคนต่างกลุ่ม อันนำมาสู่การแตกแยกของคนในสังคม

King สรุปว่าจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีสหรัฐเป็นมหาอำนาจหลักมาถึงแล้ว โดยมีทรัมพ์และ Brexit เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

ในขณะที่ในอนาคตต่อไป สิ่งที่เราจะเห็นคือสูญญากาศทางการเมืองโลก ซึ่งจะนำมาสู่การแข่งกันของ 3 มหาอำนาจโลกหลัก อันได้แก่ จีน รัสเซีย และสหรัฐ โดยกลจักรสำคัญที่จะทำให้จีนขยับขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจโลกได้นั้นได้แก่ (1) โครงการ One Belt One Road (OBOR) ที่จะเป็นดั่งเส้นทางสายไหม ทำให้จีนมีการค้า-การลงทุนกับยุโรป เอเชีย และแอฟริกามากขึ้น (2) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่จะสนับสนุนการทำโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับ OBOR และเป็นคู่แข่งหลักของ World Bank และ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และ (3) องค์การความร่วมมือเซียงไฮ้ (SCO) ที่จะนำมาสู่ความร่วมมือด้านการทหารระหว่างจีน รัสเซีย และกลุ่มประเทศเอเชียกลาง และจะเป็นคู่แข่งของ NATO ในอนาคต

สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ที่เห็นด้วยก็เพราะว่า แนวคิดระยะหลังของชาวสหรัฐเองนั้น เห็นด้วยกับมาตรการปกป้องทางการค้าของทรัมพ์มากขึ้น และทำให้คะแนนนิยมของทรัมป์ดีขึ้นมาก จึงเป็นไปได้ว่าโอกาสที่ทรัมพ์จะนำโลกไปสู่ความแตกแยก และการที่สหรัฐถูกโดดเดี่ยวนั้นเป็นไปได้สูง

แต่ในอีกทางหนึ่งนั้น เป็นไปได้เช่นกันที่นโยบายของทรัมป์จะสามารถกดดันให้จีนยอมอ่อนข้อให้ เช่นเดียวกับที่เรแกนทำกับรัสเซียและนำมาซึ่งการล่มสลายของโซเวียตที่เป็นคู่แข่งสำคัญในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของ King บ่งชี้ว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของโลกมาถึงแล้ว ประชาคมโลก เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญแล้วหรือยัง

[1] บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่