Plug-In Hybrid สถานีแห่ง“โอกาส-อนาคต”

Plug-In Hybrid  สถานีแห่ง“โอกาส-อนาคต”

ปัจจุบัน รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า[1] ก้าวเข้ามามีบทบาทในตลาดรถยนต์ไทยมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากทั้งการลงทุนประกอบรถยนต์และชิ้นส่วน

ของค่ายผู้ผลิตที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ รวมถึงการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 7,129 คัน ขยายตัว 59% กับช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะเมื่อทิศทางความต้องการรถยนต์ในตลาดโลกกำลังหันไปหารถยนต์ประเภทดังกล่าว ทำให้ไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก มีการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตได้ไปต่างประเทศสูงถึงกว่า 57% และเมื่อผนวกกับความได้เปรียบต่างๆในการลงทุนในไทยที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์มากยิ่งขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลการศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาดรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าในไทย พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 75% แสดงความสนใจที่จะพิจารณาให้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวเลือกหนึ่งหากจะซื้อรถยนต์ในอนาคต (เกินกว่า 1 ปี) ส่วนผู้บริโภคที่คิดจะซื้อรถยนต์ภายในช่วง 1 ปีนี้ ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด แต่กว่า 55% สนใจจะพิจารณารถยนต์ในกลุ่มรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่ง หากมีตัวเลือกที่น่าสนใจมานำเสนอ และกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนผู้บริโภคที่สนใจซื้อรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้านั้น เลือกรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากราคาสูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในรุ่นใกล้เคียงไม่เกินกว่า 300,000 บาท ซึ่งเหตุผลสำคัญที่สุดที่เลือกรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องการเติมเชื้อเพลิงเพราะสามารถเติมได้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า รองลงมาคือเรื่องความประหยัดค่าเชื้อเพลิง

เมื่อคำนวณเฉพาะต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าบำรุงรักษาเฉลี่ย 10 ปี ของรถยนต์แต่ละประเภทในรุ่นที่ใกล้เคียงกันไว้ รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าทุกประเภทมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในระยะ 10 ปี ที่ต่ำกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน

ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในอนาคตของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ายังมีความไม่แน่นอนจากระดับราคาแบตเตอรี่ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ความสามารถในการหาวัตถุดิบใหม่ๆ เพื่อลดแรงกดดันจากการขาดแคลนวัตถุดิบปัจจุบัน ซึ่งจะกลายมาเป็นแร่หายากมากขึ้นในอนาคต โดยการพัฒนาแบตเตอรี่ให้เก็บพลังงานได้มากขึ้นต่อการชาร์จ 1 ครั้งของค่ายรถในปัจจุบันยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ผู้บริโภค ยังมีความกังวล 3 อันดับแรก คือ สถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังมีไม่ทั่วถึง ตามด้วยราคารถยนต์ที่ค่อนข้างสูง และการใช้เวลานานในการชาร์จไฟฟ้าตามลำดับ ซึ่งประเด็นจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้า หากผู้ประกอบธุรกิจให้บริการชาร์จไฟฟ้ามีการพัฒนาเครือข่ายมากขึ้น อาจทำให้มุมมองของผู้บริโภคต่อประเภทรถที่สนใจเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ให้เติบโตได้เต็มศักยภาพในอนาคตอันใกล้ ส่วนอีก 2 ปัจจัย คือ จำนวนรถ และจำนวนสถานี ก็จะต้องเติบโตไปคู่กัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค รองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบที่ต้องชาร์จไฟในอนาคต 

ทว่าจากแผนของทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้ารวมกันมากกว่า 1,000 สถานี (Normal Charge และ Fast Charge) ภายในสิ้นปี 2561 นี้นั้น อาจมีจำนวนที่เยอะกว่าความต้องการจริงในปัจจุบันมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจโดยเฉพาะในช่วง 1 ถึง 2 ปีแรกที่จำนวนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบที่ต้องชาร์จไฟยังมีจำนวนไม่มาก ทำให้ธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ถึง 2 ปีนี้ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และพันธมิตรทางธุรกิจค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งที่ธุรกิจสามารถช่วยเหลือตนเองได้ คือ การพยายามเลือกตำแหน่งที่ตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการเข้ามาใช้บริการในจำนวนที่มากพอ โดยพบว่า ยิ่งมีจำนวนรถสาธารณะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เช่น แท็กซี่ หรือตุ๊กตุ๊ก เข้าใช้บริการมากเท่าไร โอกาสในการคืนทุนจะเร็วขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ในระยะยาวการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดให้เกิดการหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และซุปเปอร์มาเก็ต เป็นต้น

สำหรับในอนาคตถัดไป หลังจากที่รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเติบโตมากขึ้น และมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในประเทศ สิ่งที่อาจจะเป็นความกังวลต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐจะต้องพิจารณาให้เกิดการพัฒนาขึ้น คือ การหาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ให้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงกระบวนการในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อย หรือไม่เกิดมลพิษเลย เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือชีวมวล เป็นต้น เพื่อให้การใช้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าไม่ได้เป็นต้นเหตุในการก่อให้เกิดมลพิษทางอ้อม

นอกจากนี้สำหรับ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสเปิดตลาดควบคู่ไปกับการเกิดของรถพลังงานไฟฟ้าในไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกจากสถานีชาร์จไฟฟ้า จะเป็นธุรกิจหลักหนึ่งแล้ว ธุรกิจเสริมในสถานีชาร์จไฟฟ้าเพื่อสร้างความบันเทิงและการพักผ่อนรูปแบบต่างๆ ธุรกิจจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วของรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า ธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น รถ mobile service ธุรกิจพัฒนาแอพพลิเคชั่นใช้ร่วมกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และที่ชาร์จไฟฟ้า ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า และธุรกิจผลิตวัตถุดิบน้ำหนักเบาทดแทนสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น ยังเป็นประเภทธุรกิจต่างๆที่มีโอกาสเติบโตได้ดีไปพร้อมๆกับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อย่างไรก็ตามการขยายตัวของตลาดรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ในไทย ยังมีแนวโน้มเดินหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงระยะเริ่มต้น อาจทำให้ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์บางธุรกิจอาจไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะแรก

[1] รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หมายถึง รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า หรือไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV)

ที่มา: บทวิเคราะห์ "ผลสำรวจชี้... Plug-In Hybrid ตัวเลือกอันดับหนึ่ง ธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าขยายตาม โดยสถานที่ตั้งเหมาะสมช่วยเร่งคืนทุน"  www.kasikornresearch.com