เติบโตแบบตื่นตัว จะได้ไม่ตื่นตูม

เติบโตแบบตื่นตัว จะได้ไม่ตื่นตูม

เพราะพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมักมาแรง มาเร็ว แบบไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นความตื่นตัวต่อสิ่งรอบข้างต้องมากกว่าเดิม มองให้ไกลกว่าเดิม

ก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง อย่าลืมอบอุ่นร่างกาย หรือยืดเส้นยืดสายให้ร่างกายตื่นตัวและมีความพร้อมก่อนที่จะเล่นกีฬาหนักๆอย่างเต็มที่ นี่คือคาถาที่บอกเล่ากันมาตลอด ซึ่งความจริงแล้วมันคือหลักวิชาการ ที่เรายอมรับกันแล้วว่าวิทยาศาสตร์ช่วยเพิ่มหรือยกระดับสมรรถนะของนักกีฬาได้อย่างแท้จริง ในประเทศชั้นนำ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และอีกหลายชาติในยุโรป นักกีฬาประเภทต่างๆ ล้วนเติบโตกล้าแข็งจากการวิเคราะห์สภาพร่างกาย โภชนาการที่ดี และการเสริมสร้างสมรรถนะด้วยโปรแกรมต่างๆที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น

 

ในทางธุรกิจก็เช่นกัน การเสริมสร้างสมรรถนะให้กับผู้ปฎิบัติงานเป็นสิ่งจำเป็น การให้ความรู้และการให้ลงมือทำซ้ำๆจนเกิดความชำนาญคงไม่เพียงพอ เพราะทั้งสองสิ่งนี้อาจจะไม่ได้นำไปสู่ผลิตภาพในระดับที่จะทำให้มีความสามารถการแข่งขันในระยะยาวได้ หากแต่ต้องสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญของการพัฒนาทั้งตัวเองและร่วมกับเพื่อนร่วมงานพัฒนาองค์กร ดังนั้นถ้าใจสั่งว่าหยุดไม่ได้ ต้องคิด ต้องพัฒนา ต้องก้าวหน้า และไม่ท้อถอยต่อปัญหาและอุปสรรคที่กำลังถาโถมเข้ามา สมองที่ได้รับการบำรุงมาอย่างดีก็จะคิดทบทวน และหาหนทางใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมเสมอ ที่เหลือก็แค่ลงมือปฏิบัติ

 

สมัยก่อนหลายองค์กรอาจจะใช้สูตร 80/20 คือทำงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือในความรับผิดชอบในแต่ละตำแหน่งงานในสัดส่วนร้อยละ 80 ของเวลางาน และเหลืออีกร้อยละ 20 ในการฝึกฝนตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ และพัฒนาปรับปรุงงานให้ดีขึ้น โดยการปรับปรุงนั้นก็มักจะเน้นไปที่เรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่ใหญ่หรือซับซ้อนเกินไป แต่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องโดยใช้การลงทุนไม่มาก (หรือแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย) ที่สำคัญทุกคนทำได้ไม่จำเป็นจะต้องมีตำแหน่งใหญ่โตหรือเรียนมาสูง เพียงแค่ตระหนักและมองหาโอกาสการปรับปรุงที่อยู่รอบตัวของทุกคนให้เป็นแค่นั้นเอง

 

แต่ปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มขยับปรับตัวกันแบบแรงๆ และเริ่มรู้สึกแล้วว่าพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมันไม่ได้มาช้าแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมือนในอดีต หากแต่มักมาแบบไม่ทันตั้งตัว มาแรง มาเร็ว จนบางทีรับมือไม่ทันกันเลยทีเดียว ดังนั้นความตื่นตัวต่อสิ่งรอบข้างจึงต้องมากกว่าเดิม มองออกไปให้ไกลกว่าเดิม แทนที่เมื่อก่อนจะมองปัญหา อุปสรรค หรือแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่ในตลาดเดิมๆ หรือในขอบเขตของประเทศตัวเองเท่านั้น ก็ต้องปรับมุมมองความคิดให้กว้างไกลออกไปแบบ 360 องศาครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก เกิดอะไรขึ้นใหม่ มีความก้าวล้ำนำหน้าเกิดขึ้นที่ใด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธุรกิจและงานของเราหรือไม่ ถ้าใช่ต้องศึกษา ค้นคว้า และแสวงหาข้อมูลความรู้ให้ลึกขึ้น รู้ให้เท่า รู้ให้ทัน เตรียมพร้อมรับมือในทันที

 

การล่มสลายหายไปของบางบริษัทชั้นนำใหญ่ๆที่เป็นผู้นำในตลาดเดิมๆ การสั่นสะเทือนของวงการอุตสาหกรรมชนิดที่เรียกว่าทำเอาล้มหายตายจากไปในที่สุด และผลกระทบที่เกิดกับทั้งห่วงโซ่อุปทาน (ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ) เป็นภาพที่เราเห็นกันมาแล้ว การสร้างทางเลือกทางรอดของธุรกิจและองค์กรยิ่งเริ่มเร็วเท่าไร ยิ่งดีเท่านั้น เพราะความจริงไม่ใช่คิดและลงมือทำ ก็จะประสบความสำเร็จได้เลย หากแต่อาจจะล้มเหลวได้หลายครั้งกว่าที่จะบรรลุผล จึงต้องเผื่อเวลาและทรัพยากรไว้ให้มาก

 

สูตรใหม่ 70/20/10 จึงเกิดขึ้น คือทำงานแค่ร้อยละ 70 ของเวลา คิดปรับปรุงงานเล็กๆน้อยๆอย่างต่อเนื่องตามความต้องการลูกค้าที่แตกต่างหลากหลาย และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน/เดือน/ปีในสัดส่วนร้อยละ 20 แล้วเพิ่มเติมอีกร้อยละ 10 สำหรับการคาดการณ์อะไรไปข้างหน้าไกลๆ การลงทุนอะไรใหม่ๆที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน แม้ว่าสัดส่วนนี้จะไม่มาก แต่เป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองอนาคตในอีกอย่างน้อย 3-5 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงมีเวลาอยู่พอสมควร

 

องค์กรส่วนใหญ่ปฏิเสธว่าจะเป็นไปได้อย่างไรกับสูตร 70/20/10 เพราะปัจจุบันแทบจะทุ่มเวลาแบบเต็มร้อยไปกับการทำงานประจำวันอยู่แล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่า 80/20 ยังทำไม่ได้เลย องค์กรเหล่านี้จึงทำแต่งาน ไม่เคยคิดปรับปรุงงาน แต่ลืมไปว่าทุกวันนี้เวลาที่ใช้บางทีเกินร้อย ในขณะที่ทำงานให้ได้ผลของงานจริงๆไม่ถึงร้อยละ 80 แล้วเวลายุ่งๆมากมายนั้นละ ก็หมดไปกับการวิ่งแก้ปัญหารายวัน ปัญหาซ้ำซาก ปัญหาเรื้อรัง แต่ถ้าจัดสรรเวลาร้อยละ 20 ดีๆเพื่อสกัดหรือหยุดยั้งปัญหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าทำไม่เกินร้อยละ 80 ของเวลาก็ได้ผลงานที่ต้องการ เผลอๆใช้น้อยกว่าเดิมอีก เรื่องนี้ญี่ปุ่นเค้าเชี่ยวชาญชำนาญและเก่งในเรื่องการดึงศักยภาพและความสามารถที่ซ่อนเร้นของพนักงานปฏิบัติการมาใช้ในชื่อ Kaizen

 

ปัจจุบัน 70/20/10 ไม่ยาก ทำงานเพียงร้อยละ 70 ก็ได้ผลงานที่มากกว่าเดิม ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Technology-Led Productivity) ร้อยละ 20 ใช้ไปในการปรับปรุงกระบวนการ พัฒนาทักษะความสามารถใหม่ๆให้พนักงาน และปรับแผนให้สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละไตรมาส ส่วนร้อยละ 10 ก็หันมาสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร เพิ่มความสามารถใหม่แบบก้าวกระโดด ลงทุนในสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน อะไรที่เคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ ก็จะได้รู้กันละว่าอะไรๆก็เป็นไปได้ และแค่ลงมือทำจริงๆจังๆเดี๋ยวมันก็หาทางไปจนได้ในที่สุด

 

ฝากถึง SMEs ของไทย ถ้าองค์กรไหนยังทำงานแบบเต็มร้อย หรือใช้เวลาทำงานเกินร้อยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ต้องปรับความคิดใหม่เอาแนวคิด 80/20 ไปใช้ ส่วนองค์กรไหนมีพื้นฐาน 80/20 ที่ดีแล้ว ต่อยอดไปสู่ 70/20/10 กันได้เลย ก่อนที่จะสายเกินไป