จุดเล็กๆ ที่ตัดสินนักลงทุน

จุดเล็กๆ ที่ตัดสินนักลงทุน

ช่วงนี้หุ้นไทยหลายตัวที่เคยร้อนแรงต่างพากันดิ่งเหว ส่วนใหญ่เกิดจากซื้อขายกันแพงเกินไป

สมัยน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยปี 2554 บริษัทจดทะเบียนไทยกำไรออกมาแย่กันไปหมด ตอนนั้นผมถือหุ้นบริษัทหนึ่ง ขายคอมพิวเตอร์ กำไรลดต่ำลงอย่างหนัก ราคาหุ้นร่วงเอาๆ ผู้บริหารรวมทั้งใครๆ ก็คาดว่าเป็นผลเสียหายจากน้ำท่วม หลายคนที่ถือหุ้นอยู่ก็เลยถือต่อไปไม่ขาย เพราะมองว่าเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว

แต่แล้ว ผ่านไปอีกหนึ่งไตรมาส ผลประกอบการก็ยังไม่ดีขึ้น กลับแย่ลงอีก และแย่ลงเรื่อยๆ แม้ผลกระทบจากน้ำท่วมน่าจะหมดไปแล้ว กำลังซื้อน่าจะกลับมาแล้ว บริษัทอื่นๆ ที่เจอน้ำท่วมเหมือนกันเขาก็กลับมาได้แล้ว แต่บริษัทนี้จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ดี

สุดท้าย จึงปรากฏชัดว่า อันที่จริง ที่กำไรแย่ลงจนถึงขั้นขาดทุน เป็นเพราะบริษัทพ่ายแพ้เสียทีในการแข่งขัน ตามตลาดไม่ทัน หาใช่เรื่องของน้ำท่วมไม่

แม้บริษัทระดับโลกเองก็ยังเคยเจอเรื่องเช่นนี้ ในปี 2007 สตาร์บัคส์เลือกขยายสาขาและสร้างการเติบโตอย่างเร่งรีบจนลืมรากเหง้าของตัวเอง สุดท้ายผู้บริโภคจึงเสื่อมความนิยม ทำให้ โฮเวิร์ด ชูลช์ อดีตซีอีโอของบริษัทอดรนทนไม่ได้ ต้องกลับมานั่งกุมบังเหียนกาแฟแบรนด์นางเงือกที่เขาปลุกปั้นมากับมืออีกครั้ง อันเป็นเรื่องยากยิ่ง เพราะตอนนั้นสหรัฐฯ กำลังเจอวิกฤตการเงินครั้งใหญ่พอดี

โฮเวิร์ดบอกว่า เราต้องแยกแยะให้ออก ว่าความตกต่ำที่เกิดขึ้น ส่วนไหนเป็นผลมาจากเศรษฐกิจ ส่วนไหนเป็นผลจากตัวเราเอง อย่าให้ปะปนกัน เพราะนั่นอาจทำให้เรามองปัญหาโดยไม่คิดว่าเป็นปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถของโฮเวิร์ด เขาก็สามารถนำพาสตาร์บัคส์กลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด

ช่วงนี้หุ้นไทยหลายตัวที่เคยร้อนแรงต่างพากันดิ่งเหว ส่วนใหญ่เกิดจากซื้อขายกันแพงเกินไป เมื่อธุรกิจเจอปัญหาเข้า ราคาจึงร่วงลงฮวบฮาบ ประกอบกับผู้บริหารก็ฉ้อฉล ไม่พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา นำพาให้ 'รายย่อย' หลายคนเสียเงินเสียทอง

ขณะที่บางบริษัทดูภายนอกยังแข็งแกร่งดี แต่หุ้นร่วงลงมาฟลอร์ นี่คือจุดที่ต้องแยกแยะให้ออก ว่าเป็นเพียงผลจากกลเกมในตลาด หรือแท้จริงแล้วธุรกิจเองก็มีปัญหา ถ้าแยกออกก็จะตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ถ้าแยกไม่ออก ก็อาจเป็นการลงทุนอย่างมืดบอดไม่รู้อนาคต

นักลงทุนจะเก่งหรือไม่เก่ง บางครั้งก็ตัดสินกันที่ 'จุดเล็กๆ' นิดเดียว