รายได้ของรัฐกับภาษีการรับมรดก

รายได้ของรัฐกับภาษีการรับมรดก

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ภาษีอากรก็ยังนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญยิ่งของประเทศ โดยรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมาจากการจัดเก็บภาษีทางอ้อม

คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก รองลงมา คือ ภาษีทางตรงซึ่งจัดเก็บจากภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากพิจารณาข้อมูลในเชิงสถิติแล้ว พบว่าแม้ในแต่ละปีรัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่จำนวนเงินรายได้ที่มาจากภาษีอากรก็ยังไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล

จากปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐจึงพยายามตรากฎหมายฉบับใหม่ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถจัดเก็บภาษีอากรจากฐานภาษีที่กว้างขึ้นและเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อประเมินจัดเก็บภาษีอากรได้ง่ายขึ้น หนึ่งในรูปแบบวิธีการจัดเก็บภาษีอากรที่รัฐให้ความสนใจเป็นพิเศษ นั่นก็คือ การจัดเก็บภาษีการรับมรดก เนื่องจากในแต่ละปีพบว่าคนไทยเสียชีวิตลงประมาณ 4 แสนกว่าราย ในจำนวนดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตที่มีทรัพย์มรดกจำนวนมากประมาณ 1 แสนราย รัฐจึงเห็นสมควรให้มีการจัดเก็บภาษีการรับมรดกจากทายาทที่ได้รับมรดก ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม เพื่อนำรายได้จากผู้มีฐานะดีไปใช้ในการพัฒนาประเทศและหวังว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนได้บ้างตามสมควร โดยพิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้นมิให้กระทบถึงการดำรงชีพของทายาทผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกประกอบกันด้วย

อย่างไรก็ตาม จากเหตุผลความจำเป็นข้างต้น มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายฉบับดังกล่าว เนื่องจากมีความเชื่อว่าแม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแล้วก็ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมได้จริง และอาจจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราหรือทรัพย์สินให้กับต่างประเทศ เพราะเงินตราหรือทรัพย์สินอาจมีการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนไปลงทุนอยู่ในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจัดเก็บภาษีอากรในประเทศไทยได้

เมื่อมีข้อถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนจึงอยากจะใช้พื้นที่นี้เพื่อชวนคิดว่ากฎหมายภาษีการรับมรดกสามารถใช้บังคับได้จริงหรือไม่ และสามารถบรรลุเป้าหมายเพื่ออำนวยรายได้ให้แก่รัฐหรือไม่ จึงขอนำเสนอเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าวในประเด็นเกี่ยวกับผู้มีหน้าที่เสียภาษี ฐานภาษี มูลค่ามรดกที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี อัตราภาษี และบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก แยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้บุคคลผู้ได้รับมรดกที่มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย หรือเป็นบุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือบุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทยแต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

กรณีที่ผู้ได้รับมรดกมีสถานะเป็นนิติบุคคล จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือก่อตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายไทย

2. ทรัพย์มรดกที่นำมาใช้ในการคิดเป็นฐานภาษีได้แก่ ทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ก) อสังหาริมทรัพย์ ให้ถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินหักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ

ข) ทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก

ค) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ

ง) เงินฝากที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียน เช่น ทองคำแท่ง เป็นต้น

3. มูลค่ามรดกที่ถูกนำมาคิดคำนวณภาษี ต้องเป็นมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น โดยคิดจากผู้ที่ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวกันหรือหลายคราว ถ้าจำนวนมูลค่ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกรวมกันมีมูลค่าในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทหากไม่เกิน 100 ล้านบาท ทายาทไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก

4.อัตราภาษี ให้ทายาทผู้ได้รับมรดกเสียภาษีในอัตรา10% ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทแต่ถ้าทายาทผู้ที่ได้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของเจ้ามรดกให้เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบา

5 .บุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกได้แก่ คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก หรือทายาทผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐและ นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

จากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของทรัพย์สินที่อยู่ในขอบข่ายต้องเสียภาษีการรับมรดก เนื่องจากในยุคนี้เป็นยุคที่ทรัพย์สินอาจถูกจำหน่ายจ่ายโอนได้โดยง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ระบบออนไลน์สามารถเปลี่ยนตำแหน่งของทรัพย์สินให้ไปอยู่อีกขั้วโลกหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว วิธีการดังกล่าวจึงอาจถูกนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานประเมินได้ รวมทั้งประเด็นยอดมูลค่ามรดกที่ถูกนำมาคำนวณภาษี กฎหมายกำหนดว่าต้องมีจำนวนเกิน 100 ล้านบาทเท่านั้น จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษี หากมีการวางแผนให้ทายาทแต่ละคนได้รับมรดกมีมูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ย่อมทำให้ทายาทปลอดจากภาระภาษีได้ จึงชวนให้คิดว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้จะสามารถอำนวยรายได้ให้แก่รัฐได้จริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นให้พิจารณาว่ารัฐสมควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วหรือไม่ คงต้องดูกันต่อไป.

โดย... 

ภาณุศ์ อภิบาลเกียรติกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์