เรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด

เรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด

อนาคตเกิดจากความท้าทายในการทำสิ่งใหม่

หลายคนอาจเคยคิดว่าองค์กรของตัวเองนั้นมีโครงสร้างที่ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการที่นอกจากมีโครงสร้างซับซ้อนเกินไปแล้ว ยังมีระเบียบขั้นตอนจำนวนมากที่ไม่เอื้อให้งานลื่นไหลต่อเนื่อง ไม่ติดขัดอย่างที่ควรจะเป็น

ปัญหาเหล่านี้การบริหารจัดการด้วยระบบไอทีจะเป็นคำตอบ แต่เดิมปัญหาก็คือระบบที่ใช้งานได้ดีมักมีราคาแพงไปด้วยตามตัว ซึ่งนับเป็นโชคดีว่าในทุกวันนี้มีระบบใหม่ๆ ที่มีราคาถูกกว่าเป็นทางเลือกจำนวนมากกลายเป็นปมปัญหาที่ทำให้ระบบใหญ่ราคาแพงอาจอยู่รอดได้ยากในอนาคต

เวลานี้จึงนับเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการพลิกโฉมองค์กรให้ตอบรับกระแสดิจิทัล ซึ่งการทำงานแบบเดิมๆ ที่อาศัยเอกสารจำนวนมาก ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวของพนักงานในการจดจำข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลลูกค้า หรือใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการจัดการเรื่องต่างๆ ทำให้องค์กรมีปัญหาทุกครั้งที่เปลี่ยนพนักงานต้องปรับใหม่ทั้งหมดให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่แทน 

เช่นเดียวกับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารที่เดิมต้องคอยติดตามผลงานลูกน้อง ต้องคอยสอบถามด้วยตัวเองจนบางครั้งก็ต้องไปถามลูกน้องของลูกน้องอีกทีหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ทั้งๆ ที่ในทุกวันนี้สามารถติดตามผลการดำเนินงานได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

การปรับระบบใหม่จึงไม่ใช่เพียงเพื่อความคล่องตัว แต่เป็นความสามารถในการแข่งขันที่ทำให้เราบริหารจัดการได้รวดเร็วขึ้นและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างฉับไวมากขึ้น แต่ระบบที่ดีต้องรู้เป้าหมายในการทำงานที่แท้จริงเสียก่อน เพราะบ่อยครั้งที่การออกแบบระบบกลับไปอิงตามขั้นตอนแบบเดิมโดยไม่ได้คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริง

เช่นมีเป้าหมายแล้วแต่กลับต้องผ่านขั้นตอนจำนวนมากไม่น้อยกว่า 7-8 ขั้นตอน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจลดเหลือ 3 ขั้นตอนก็เพียงพอแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสให้กับคนไอทีที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยต้องจับทางให้ถูกและไม่ตื่นตระหนกไปกับข่าวเชิงลบมากมายที่เกิดขึ้น เช่นระบบปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ที่อาจเข้ามาแทนที่พนักงานทั้งหมดซึ่งเป็นความจริงเพียงแค่บางส่วน

เพราะงานบางส่วน ประมาณ 35% ที่เอไอไม่อาจแทนที่ได้ หนึ่งในนั้นก็คือนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเอไอไม่อาจคิดแทนมนุษย์ได้ โดยเฉพาะเรื่องความพึงพอใจและการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสุนทรียศิลป์ที่เอไอไม่สามารถทำได้ 

ดังนั้นอุตสาหกรรมบริการจึงยังคงดำเนินต่อไปได้อีกยาวไกลแม้จะมีหุ่นยนต์ทำครัวอันทันสมัยให้เห็น และในความเป็นจริงแล้วหุ่นยนต์เอไอก็ยังไม่อาจทดแทนเชฟที่มีความคิดริเริ่มในการใช้ส่วนผสมใหม่ ๆ รู้จักหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงแปลกๆ ใหม่ๆ มาสร้างสรรค์เป็นเมนูเฉพาะตัวซึ่งนับเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่เลียนแบบได้ยาก แต่ทั้งนี้อาจนำเอาเอไอมาใช้เสริมให้ธุรกิจบริหารจัดการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ความหวาดวิตกว่าจะตกงานเพราะเอไอนั้นจึงเป็นความคิดของคนที่หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงและไม่คิดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อที่จะก้าวทันโลก

ยุคดิจิทัลเช่นทุกวันนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงเป็นการสร้างโอกาสใหม่ไปด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งนี่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก โดยสิ่งใหม่ที่ได้จากการเรียนรู้อาจเป็นความท้าทายในการทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างอนาคตของเราก็เป็นได้