ปรับตัวรับโลกการทำงานร่วมกับ AI ในอนาคต

ปรับตัวรับโลกการทำงานร่วมกับ AI ในอนาคต

ตลาดแรงงานกำลังถูกเทคโนโลยีเข้ามาปั่นป่วน เพราะมีงานหลายประเภทกำลังถูกเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

ที่นับวันก็จะยิ่งมีศักยภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามสำคัญคือแรงงานมนุษย์จะมีบทบาทอย่างไรในยุคที่เทคโนโลยี AI สามารถทำงานได้ใกล้เคียงหรือสามารถทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์ยังมีทักษะหรือความสามารถพิเศษอะไรบ้างที่เทคโนโลยี AI ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้

การศึกษาของ Carl Benedikt Frey และ Michael A. Osborne นักวิจัยมหาวิทยาลัย Oxford พบว่า ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ยังมีงานที่ต้องอาศัยทักษะ 3 ประเภท ที่จะยังไม่สามารถพัฒนา AI มาทำงานแทนคนได้ในเวลาอันใกล้

ได้แก่ งานที่ใช้ความละเอียดประสาทสัมผัสและการมองเห็น (Hand) งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Head) และ งานที่ใช้ความฉลาดทางสังคม (Heart) อาชีพที่ต้องอาศัยความสามารถทักษะทั้ง 3 ประเภท จะมีโอกาสถูกแทนที่ต่ำ เช่น อาชีพศัลยแพทย์ ส่วนอาชีพที่ไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทักษะ 3 ประการก็จะมีโอกาสสูงที่จะถูกทดแทน เช่น อาชีพคีย์ข้อมูล ที่นักวิจัยได้ประมาณการว่ามีโอกาสมากถึง 99% ที่จะถูกทดแทน

อย่างไรก็ตาม หากถือว่า งานที่มีโอกาสถูกแทนมากกว่า 70% เป็น “งานเสี่ยงสูง” ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานเสี่ยงสูงอยู่ราว 8.3 ล้านคน ซึ่งหากพิจารณาวุฒิการศึกษา จะพบว่าแรงงานเสี่ยงสูงกว่าครึ่งมีวุฒิการศึกษา ม.3 หรือต่ำกว่า แต่ทั้งนี้ใช่ว่าจะมีเพียงผู้จบการศึกษาไม่สูงจะได้รับผลกระทบเท่านั้น เพราะแม้แต่ผู้ประกอบอาชีพระดับวิชาชีพที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง เช่น นักบัญชี นักกฎหมายก็หนีเทคโนโลยีปั่นป่วนไม่พ้น เท่ากับว่า ไม่ว่าจะจบการศึกษาระดับใดก็มีความเสี่ยงที่งานจะถูกทดแทน

ซึ่งงานอย่างอาชีพเย็บผ้า ที่แม้ในอดีตมีโอกาสถูกปั่นป่วนด้วยเทคโนโลยี automation ค่อนข้างยาก เพราะ ต้องใช้ความประณีต (Hand) แต่ในปัจจุบันมีบริษัท Startup ในสหรัฐอเมริกาชื่อว่า SoftWear ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบ automation ผลิตเสื้อยืดได้ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพชิ้นผ้า ไปจนถึงเย็บผ้าเป็นเสื้อยืด และยังสามารถผลิตได้เร็วเป็น 2 เท่าของคนงาน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสัญชาติจีนอย่าง Tianyuan Garments ย้ายฐานการผลิตไปที่รัฐอาร์คันซอ (Arkansas) เพราะไม่ต้องพึ่งแรงงานราคาถูกอีกต่อไป

อาชีพแคชเชียร์ ที่จะหายไปเพราะปัจจุบันมีร้านค้าใช้ระบบจ่ายเงินอัตโนมัติ อย่างที่ Amazon ได้ทดลองเปิด Amazon Go ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่มีเคาน์เตอร์คิดเงิน โดย Amazon Go จะใช้เทคโนโลยี AI คอยดูว่าลูกค้าหยิบสินค้าอะไรบ้าง และเมื่อลูกค้าเดินออกจากร้านก็จะคิดเงินไปยังบัญชี Amazon ของลูกค้าทันที ซึ่งในจีนก็มีร้านลักษณะนี้

เช่น ร้านสะดวกซื้อชื่อ BingoBox ที่เปิดไปแล้วกว่า 300 สาขา และยังมี MobyMart ที่นอกจากไม่ต้องใช้พนักงานประจำร้านแล้วร้านยังสามารถเคลื่อนที่ไปหาลูกค้าได้ถึงที่อีกด้วย

สำหรับอาชีพนักบัญชี ก็เป็นอีกอาชีพความเสี่ยงสูง เพราะมีบริษัท Start-up หลายแห่งที่กำลังพัฒนา AI เข้ามาแทนคน เช่น บริษัท SMACC สัญชาติเยอรมันที่พัฒนาซอฟท์แวร์บัญชี โดยใช้เทคโนโลยี Deep Learning เข้ามาทำงานบัญชีครบวงจร ตั้งแต่อ่านเอกสารการเงิน และแปลงให้คอมพิวเตอร์อ่านได้ นอกจากนั้นยังสามารถจัดแยกประเภทข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้อง ทำบัญชีตามกระบวนการที่กำหนดล่วงหน้า กระทบยอดบัญชีกับธนาคารและอนุมัติเบิกจ่ายเงินอันโนมัติ รายงานข้อมูลแบบ real-time และสามารถเชื่อมต่อกับระบบ ERP ที่บริษัทใช้ได้

ส่วนอาชีพนักกฎหมาย ปัจจุบันมีงานบางส่วนที่เทคโนโลยี AI สามารถเข้ามาทำแทนคนได้ ตั้งแต่ Robo-Lawyer เป็นที่ปรึกษากฎหมายอัตโนมัติ Legal Research ช่วยวิเคราะห์ข้อกฎหมายและคำพิพากษาก่อนหน้าที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ว่าความอยู่ Contract Analysis ช่วยตรวจสอบทบทวนสัญญาว่าการลงนามในสัญญาจะทำให้เกิดความเสี่ยงทางกฎหมายหรือมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรบ้าง ระบบ eDiscovery ช่วยรวบรวมและคัดกรองข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดี และ Legal Analytics ที่ใช้ Big Data ช่วยวางกลยุทธ์ต่อสู้คดี เช่น วิเคราะห์ว่าผู้พิพากษาคนไหนมักจะรับฟังข้อโต้แย้งแบบไหนเป็นพิเศษ

เห็นได้ว่า มีหลากหลายอาชีพที่เสี่ยงถูกเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน แม้แต่วิชาชีพผู้เชี่ยวชาญอย่างนักกฎหมายก็จำเป็นต้องปรับตัวหากจะอยู่รอดได้ในยุคเทคโนโลยีปั่นป่วน

Thomas Davenport และ Julia Kirby ได้เสนอ 5 กลยุทธ์ที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกับ AI คือ (1) ทำงานภาพรวม ซึ่งเป็นการเติมเต็มจุดอ่อนของ AI ที่เก่งเฉพาะงาน แต่ไม่สามารถปะติดปะต่อได้ ซึ่งหากเป็นนักกฎหมายก็สามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้ด้วยการผันตัวมาเป็นผู้จัดการโครงการ (2) เข้าร่วมก่อการพัฒนาระบบ AI เช่นนักกฎหมายที่เข้าไปแปลงองค์ความรู้กฎหมายให้อยู่ในรูปที่คอมพิวเตอร์นำไปใช้ได้ (3) ชาญฉลาดใช้ อาศัยข้อได้เปรียบของเทคโนโลยี AI มาช่วยทำงานเดิมให้ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การนำ AI มาใช้วิเคราะห์แนวทางการเขียนคำฟ้องที่จะชนะ (4) สั่งสมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ไม่คุ้มที่จะพัฒนา AI มาแทนที่คน เช่น เลือกเป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็น niche อย่างกฎหมายกีฬา เป็นต้น และ (5) หันมามุ่งเน้นงานที่ต้องอาศัยทักษะสังคมและความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เช่น เป็นทนายว่าความหรือเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่เข้าใจลูกความ

สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าการปรับตัวด้วย 5 กลยุทธ์จะทำให้ ทั้งมนุษย์และ AI สามารถประสานการทำงานร่วมกัน และช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพการทำงานด้วยคุณสมบัติที่เป็นจุดแข็งของแต่ละฝ่ายได้

โดย... 

ณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์

กชกร ความเจริญ 

หมายเหตุ:  ข้อความที่ปรากฎบนหน้าทัศนะ หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 ก.ค.2561 ที่ระบุชื่อ "ชณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์" เป็นความผิดพลาด ซึ่งชื่อที่ถูกต้องคือ "ณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์" จึงขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น