Take The Cream And Leave The Cone

Take The Cream And Leave The Cone

Open Source Innovation คือการ สนใจ “ครีม” หยุดสนใจ “คน”

องค์กรส่วนมากชินกับการมองโลกผ่านตัวบุคคล ใครควรรับเข้าทำงาน ใครสอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน ใครเป็น Talent ขององค์กร ใครจะได้โบนัสเท่าไหร่ ใครต้องเข้าหลักสูตรไหน ฯลฯ โฟกัสล้วนอยู่ที่คน

แต่การดูแลเรื่อง Innovation ในยุคสมัยนี้ หากรอฝากความหวังไว้กับ “คนพิเศษ” เพียงไม่กี่คน โอกาสอันจะเกิดความคิดใหม่ๆคงไม่ต่างอะไรกับรอการถูกลอตเตอรี่ เราจึงต้องมองหาไอเดียจากทุกหนทุกแห่ง Let the cream rise to the top สนใจที่ครีม

เมื่อวันก่อนผมรีวิว GE Innovation Barometer Reports, WEF, Davos ระหว่างปี 2553-2561 ซึ่งเป็นการศึกษาความคิดเห็นด้าน innovation ของผู้บริหารหลายพันคนจาก 20 กว่าประเทศ มีข้อคิดหลายอย่างน่าสนใจ

ประเทศซึ่งมีความหวังกับนวัตกรรมมากที่สุดคือประเทศกำลังพัฒนา รีพอร์ทปี 2559 จัดอันดับให้ อินโดนีเซีย เป็นที่ 1 ตามมาด้วย ไนจีเรีย แอลจีเรีย ส่วนในเอเชียคือ จีน มาเลเซีย ล้วนอยู่ในลำดับต้นๆ

แต่พอถึงเรื่องความพร้อมด้านการสนับสนุนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง ผู้นำกลับกลายมาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น อังกฤษ และแคนาดา ประเทศกำลังพัฒนากลับตกลงไปเป็นอันดับ 20 กว่าๆ

แปลง่ายๆ คือ คนที่ยังไม่เจริญฝากความหวังไว้ว่านวัตกรรมจะช่วยสร้างความเจริญได้ แต่ยังมีอุปสรรคมากมายทำให้ความหวังนั้นยังไม่เป็นความจริง

ความท้าทายหลักๆ คือ “การหาคนที่เก่งและฉลาด” มาร่วมทีม ซึ่งไม่ง่ายเพราะใครๆ ก็อยากได้ GE IB รีพอร์ทปี 2561 ผู้บริหาร 74% บอกว่าปัญหาในการหาคนมาสร้างนวัตกรรมให้กับบริษัทนั้นมากขึ้นจากเมื่อปี 2557 (56%) เสียอีก

Skill ที่หายากที่สุดคือ ความคิดสร้างสรรค์ Creativity ผู้บริหาร 13 จาก 21 ประเทศจัดให้เป็น Top-2 most difficult to find เท่านั้นไม่พอ สิ่งที่หายากตามมาเป็นอันดับ 2 คือ Loyalty และอันดับ 3 คือ Interpersonal Skills

คุณผู้อ่านเห็นอย่างที่ผมเห็นไหมครับ การฝากความหวังไว้กับคนเก่งดูจะเป็นทิศทางที่เลือนลาง อัจฉริยะบุคคลซึ่งจะมีความสร้างสรรค์มาสร้างสิ่งใหม่ให้กับองค์กรของคุณนับวันจะหายากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ หามาได้แล้วก็ไม่อยู่นาน พัฒนาแล้วก็จากไป แถมความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานก็แย่

ข่าวดีคือ โลกยุค 4.0 สามารถทำให้เราทิ้ง “คน” แล้วหันมาใส่ใจเฉพาะ “ครีม” ได้

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. Crowdsourcing หนังสือ Open Source Leadership โดย Rajeev Peshawaria และสถาบัน Iclif Leadership and Governance Centre เล่าถึงเคสในปี 2013 ที่ GE Innovation ต้องเผชิญกับโจทย์การลดน้ำหนักเครื่องยนต์เพื่อประหยัดน้ำมัน แทนที่บริษัทจะโยนหน้าที่นี้ให้กับแผนก R&D ไปจัดการคิดมา เขากลับเปิด innovation award โดยให้รางวัลผู้ชนะ 20,000 ดอลลาร์ ซึ่งสุดท้ายผู้ที่คิดดีไซน์ใหม่ได้นั้นเป็นเด็กวิศวะคนหนึ่งในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย สามารถลดน้ำหนักไปได้ถึง 80% โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการบิน

2. Take only the cream ที่น่าแปลกคือ GE Aviation ไม่ยักจ้างวิศวกรหนุ่มคนนี้ไปเป็นพนักงาน บริษัทเพียงแต่ซื้อไอเดียไปเฉยๆ เพราะอะไรจะการันตีว่าเด็กคนนี้จะคิดอะไรได้อีก นี่คือปรากฏการณ์ของ Take the cream and leave the cone หากเรามองไปรอบๆ ตัวจะเห็นเหตุการณ์แบบนี้อีกมาก P&G เองเปิดรับไอเดียจากคนนอกบริษัทถึง 50% จะว่าไป โมเดลสมัยใหม่อย่าง Grab, Airbnb, Facebook, Alibaba ก็ล้วนแล้วแต่ทำสิ่งนี้ พวกเขาไม่สนใจว่าข้อมูล สินค้า หรือบริการมาจากใคร เขาสนใจแค่สิ่งที่ขายได้ แล้วสร้างระบบเพื่อเก็บเกี่ยวเฉพาะสิ่งนั้น

3. Paradigm Shift หากองค์กรของคุณมีปัญหาในการสร้างนวัตกรรม เพราะคนเก่งๆ ฉลาดๆ ที่จะมาช่วยคิดอะไรใหม่ๆ ให้นั้นหายากขึ้นทุกวัน ลองเปลี่ยนโฟกัสจากคน (โคน) มาสนใจที่ไอเดีย (ครีม) แทนดูไหมครับ บอก HR ให้เปิดโอกาสให้ความคิดมาจากไหนก็ได้ ไม่ต้องจำกัดสิทธิ์ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ใครสามารถคิดอะไร ลองทำกิจกรรมเช่น Crowdsourcing หรือ Hack-a-thon ให้คนทั้งในและนอกองค์กรได้เสนอสิ่งที่ตนมีในหัว โยกทรัพยากรที่ใช้ในการคัดกรอง พัฒนา สนับสนุนกลุ่ม Hi Potential มาเปิดเป็นทรัพยากรแบบ Open Source ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

เพราะในโลกยุคที่ทุกคน Uber-connected, Uber-populated, and Uber-capable ไม่ว่าใครจะอยู่ส่วนไหนของโลก ก็สามารถส่งไอเดียมาร่วมช่วยกันได้ในพริบตา

ไม่เชื่อดูปาฏิหาริย์หมูป่าเป็นตัวอย่างสิครับ ขนาดเรือดำน้ำจิ๋วสร้างด้วยเทคโนโลยีของ SpaceX ในอเมริกา ยังส่งมาถ้ำหลวงเชียงรายได้เพียงสัปดาห์เดียว

ได้ใช้หรือไม่ไม่สำคัญ มันอยู่ที่ใจและไอเดียครับ