ข้อคิดจากตัวเลขกำไรของบริษัท

ข้อคิดจากตัวเลขกำไรของบริษัท

ขอเริ่มต้นโดยแสดงความชื่นชมและขอบคุณทุกๆ ท่านที่มีส่วนร่วมในการกู้ภัยช่วยชีวิตทีมหมูป่า 12 คนและโค้ช 1 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงนานถึง 18 วัน

แสดงให้เห็นถึงพลังของความรัก ความร่วมมือ ความหวัง การเสียสละ และจิตใจที่งดงามของ น.ต.สมาน กุนัน ที่ได้ช่วยให้ภารกิจกู้ภัยประสบความสำเร็จด้วยดี เป็นข่าวที่คนทั่วโลกติดตามและเอาใจช่วย ผมเองได้รับจดหมายและข้อความส่งมาจากเพื่อนในต่างประเทศที่แสดงความห่วงใยและให้กำลังใจคนไทยในเรื่องนี้ แสดงถึงจิตใจและความรู้สึกที่ดีที่คนทั่วโลกมีต่อคนไทยและประเทศไทย ก็อยากให้พวกเรารับทราบและช่วยกันรักษาสิ่งที่ดีๆของเราไว้

สัปดาห์ที่แล้ว นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์” (The Economist) มีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับอำนาจทางธุรกิจของบริษัท พูดถึงผลการศึกษาวิจัยของนักวิชาการยุโรปว่า อัตราการทำกำไรของบริษัทธุรกิจทั่วโลก วัดโดยอัตราส่วนระหว่างราคาขายและต้นทุนของบริษัทกว่า 70,000 แห่งใน 134 ประเทศทั่วโลก ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 60% ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คือ จากอัตราส่วนเท่ากับหนึ่งในปี 1980 เพิ่มเป็น 1.6 ปี 2016 ในความเห็นของผม ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นหลายเรื่องที่สำคัญ ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคธุรกิจทั่วโลกขณะนี้

1.อำนาจตลาดของบริษัทธุรกิจได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้บริษัทสามารถตั้งราคาขายเมื่อเทียบกับต้นทุนในอัตราที่สูงขึ้นได้ต่อเนื่อง อำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนการแข่งขันที่มีน้อยลง เพราะการทำธุรกิจมีการกระจุกตัวมากขึ้นระหว่างผู้ขายในจำนวนที่ลดลง พูดง่ายๆ โครงสร้างการแข่งขันโน้มไปสู่ตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยรายมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป ของบ้านเราก็แสดงแนวโน้มในลักษณะเดียวกัน ในธุรกิจค้าปลีก น้ำมัน ก่อสร้างขนาดใหญ่ และสุรา เป็นต้น ที่บริษัทไม่กี่รายจะมีอำนาจตลาดมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความอ่อนแอของกฎหมายป้องกันการฮั้ว (Anti-trust) อีกส่วนมาจากนโยบายของภาครัฐเอง ที่เน้นการออกใบอนุญาตและสัมปทานเป็นวิธีการจัดสรรสิทธิในการทำธุรกิจที่มักนำไปสู่การผูกขาด ไม่ใช่การแข่งขันเสรี เห็นได้จากบริษัทใหญ่ๆของประเทศเราจะมีพื้นฐานมาจากธุรกิจสัมปทานหรือธุรกิจที่มีจำนวนใบอนุญาตจำกัดทั้งสิ้น

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาขายและต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป ก็คือ นวัตกรรมที่สร้างพื้นที่ให้บริษัทสามารถทำกำไรเกินอัตราปกติได้จากการพัฒนาสินค้าใหม่ออกมาขายก่อนที่ผู้ผลิตรายอื่นจะตามทัน เป็นความได้เปรียบของผู้มาก่อนหรือทำได้ก่อน (first-mover advantage) ประเด็นนี้ชัดเจนในธุรกิจที่ใช้ digital technology ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ ความสามารถที่จะลดต้นทุนโดยใช้เทคโนโลยีหรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูก ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

2.ส่วนต่างของราคาขายและต้นทุนที่สูงขึ้นคือ กำไรที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นรายได้ของผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ ขณะที่การประหยัดที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีและการย้ายฐานการผลิต ก็ทำให้ค่าจ้างแรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการทำธุรกิจลดลง ผลคือ การกระจายประโยชน์ที่เกิดจากการทำธุรกิจมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ระหว่างรายได้ที่ตกกับเจ้าของทุนและรายได้ที่ลูกจ้างได้รับ และจากที่จำนวนลูกจ้างจะมีมากกว่าจำนวนผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัท ความเหลื่อมล้ำนี้ก็นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของประเทศ ที่คนจำนวนน้อยคือ เจ้าของทุนมีรายได้เยอะและมีอัตราเพิ่มของรายได้สูงกว่า คนจำนวนมากที่เป็นลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงาน เมื่อความเหลื่อมล้ำดังนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 30 ปี และภาคทางการเองไม่มีนโยบายที่จะแก้ไขหรือทำให้กระจายรายได้ดีขึ้น เช่น ใช้มาตรการภาษี ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจก็เพิ่มสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงไทย ที่คนประมาณ 10%ของประเทศ จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่าของคนอีก 90% ที่เหลือรวมกัน ความเหลื่อมล้ำที่มีมากนี้ทำให้อำนาจซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศอ่อนแอ ธุรกิจจึงต้องขยายไปประเทศอื่น เพื่อหาอำนาจซื้อในต่างประเทศหรือขยายไปทำธุรกิจประเภทอื่นที่สอดรับกับอำนาจซื้อของคนในประเทศที่ลดลง แม้จะไม่ใช่ธุรกิจสายตรงของบริษัท เช่น ธุรกิจน้ำมันมีร้านขายกาแฟ เป็นต้น

3.กำไรที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องชี้ชัดเจนว่า กำไรยังเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำธุรกิจ หมายถึง คณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการทำธุรกิจยังให้ความสำคัญกับการทำกำไรมากกว่าความสมดุลระหว่างกำไรและความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว ที่สรุปแบบนี้ก็เพราะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของกำไร ข่าวความบกพร่องด้านการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาลของบริษัททั่วโลกก็มีมาก และเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้จะเป็นบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ของโลก ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกก็เผชิญกับการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงหลายครั้ง ไม่ว่าจะที่ลาตินอเมริกา เอเชีย สหรัฐ และยุโรป ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากความบกพร่องในการทำธุรกิจที่บริษัทละเลยธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยงที่ดี จนเกิดปัญหาที่กระทบเศรษฐกิจทั้งระบบ ชี้ว่าการเสื่อมถอยด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทมักจะโยงกับเป้าหมายการทำกำไรของบริษัท

การศึกษาวิจัยชี้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การกำกับดูแลกิจการในธุรกิจโลกเสื่อมลงก็คือ วิธีการทำธุรกิจที่เน้นการทำกำไรระยะสั้น (shortermism) ที่ละเลยผลกระทบที่อาจมีต่อฐานะของบริษัทในระยะยาว ซึ่งอันตรายมากต่อความยั่งยืนของธุรกิจ มีคนเคยวิจัยว่า คณะกรรมการบริษัทมักใช้เวลาของการประชุมบอร์ดในเรื่องตัวเลขทางการเงินของบริษัทแบบไตรมาสต่อไตรมาส มากกว่าที่จะใช้เวลาพิจารณาวิเคราะห์เรื่องสำคัญๆที่จะกระทบการคงอยู่ของบริษัทในระยะยาว ที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งก็จากแรงกดดันของนักวิเคราะห์ นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ที่ต้องการให้มีกำไรในการทำธุรกิจทุกไตรมาส และเป็นกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนๆ รวมถึงฝ่ายจัดการเอง ที่โบนัสหรือผลตอบแทนของผู้บริหารมักจะโยงกับกำไรของบริษัท ทำให้การต้องมีกำไรทุกไตรมาสกลาย เป็นแรงกดดันต่อการทำธุรกิจ ทั้งต่อบอร์ดและฝ่ายจัดการ นำไปสู่การตัดสินใจที่เน้นผลที่จะมีต่อตัวเลขกำไรระยะสั้นของบริษัทมากกว่าการตัดสินใจที่มีเหตุผลทางธุรกิจ จนสะสมความเสี่ยงที่เป็นความเสียหายให้กับบริษัทในระยะยาว เมื่อภาวะตลาดเปลี่ยนแปลง

นี่คือ ข้อคิด 3 ข้อที่อยากฝากไว้ เมื่อเรามักจะดีใจกับตัวเลขกำไรของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้น