สังคมสวัสดิการและการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นความเป็นธรรม

สังคมสวัสดิการและการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นความเป็นธรรม

แนวคิดหลักของสังคมสวัสดิการ คือการประกันว่าทุกคนจะได้รับบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นโดยทั่วหน้ากัน เพราะว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

อุตสาหกรรมที่เน้นการแข่งขันหากำไรของเอกชน เป็นระบบที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ปัญหาคนจน และคนยากลำบากมาก รัฐจำเป็นต้องทำหน้าที่บริหารทรัพยากรเพื่อส่วนรวม เก็บภาษีและใช้จ่ายภาครัฐ ด้วยวิธีการเก็บภาษีจากคนรวย คนชั้นกลางที่ได้ประโยชน์จากแผ่นดินมาก ไปช่วยคนที่จนกว่า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ในเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข การบริการทางเศรษฐกิจสังคมพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมีปัญหาการแข่งขันแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ธุรกิจใหญ่ได้เปรียบ ได้กำไรมาก นำไปสู่การผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด คนที่มีทุนมาก มีทรัพย์สินมากจะยิ่งร่ำรวยมากขึ้น คนที่มีทรัพย์สินน้อยหรือไม่มีเลย มีแต่แรงงานรับจ้าง จะยิ่งจนลงโดยเปรียบเทียบ รัฐบาลจึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่สมดุล ความไม่เป็นธรรมในทางสังคม นี่ไม่ใช่ปัญหาในแง่จริยธรรม ศีลธรรมเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในด้านพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมโดยตรง ประเทศที่ปล่อยให้มีคนรวย คนจน ห่างกันมาก จะขาดความสมดุล เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ไม่สามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้ดีพอ

สินค้าและบริการพื้นฐานบางอย่าง เช่น การสาธารณสุข การศึกษา นักเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า สินค้าสาธารณะ หรือสินค้าเพื่อส่วนรวม (Public Goods) ซึ่งหมายถึงว่าแม้จะบริโภคโดยเอกชน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนแต่ละคน แต่การที่ประชากรที่ยากจนมีสุขภาพดี มีการศึกษาที่ดี จะเป็นผลดีต่อทุกคนในสังคมรวม ทั้งคนรวยร่วมกันด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรให้แต่ละคนลงทุนแสวงหาสินค้าเหล่านี้เองตามกลไกตลาด เพราะคนที่จนทรัพย์สินและรายได้จะไม่มีรายได้มากพอที่จะซื้อบริการสาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ในระบบตลาดได้เท่ากับคนรวย รัฐทั่วโลกจึงเข้ามาจัดการศึกษาให้ประชาชนฟรี อย่างน้อยการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปี บางรัฐเช่น ยุโรป ก็สามารถให้ฟรีได้ถึงระดับมหาวิทยาลัย ส่วนสาธารณสุขหรือการรักษาพยาบาล รัฐต้องจัดให้ทั้งแบบให้ฟรีหรือเสียค่าใช้จ่ายต่ำ แล้วแต่นโยบายความสามารถของรัฐบาลในแต่ละประเทศ

การให้บริการทางสาธารณสุขและการศึกษา รัฐบาลไทยยังจัดให้ประชาชนได้ระดับปานกลาง เช่น โรงพยาบาลรัฐมีบุคลากรน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับประชากร รวมทั้งมีงบประมาณจำกัด คนไข้ต้องรอคิวยาว และได้รับบริการคุณภาพปานกลาง ทั้งๆที่คนรวย คนชั้นกลาง ส่วนหนึ่งหันไปใช้โรงพยาบาลเอกชนด้วยแล้วก็ตาม ส่วนการศึกษา รัฐบาลจัดงบการศึกษามาก มีสถาบันการศึกษามาก ประชากรมีโอกาสได้รับการศึกษาระดับประถม/มัธยมจากภาครัฐโดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำพอสมควร แต่ก็ยังมีปัญหาด้านคุณภาพที่แตกต่างกันและส่วนใหญ่มีคุณภาพปานกลางและต่ำ มีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันมาก และการเรียนระดับมัธยมยังมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ที่พัก ค่าอาหาร เครื่องใช้ต่างๆ ที่ประชาชนต้องจ่ายเอง ที่เป็นภาระสำหรับคนจนผู้มีรายได้น้อย โดยรวมคนรวย คนชั้นกลาง ได้การศึกษาที่มีคุณภาพดีกว่า ได้เรียนสูงกว่าคนจน

ทั้งเรื่องการให้บริการการศึกษาและสาธารณสุขโดยภาครัฐเป็นเรื่องที่ต้องมีการปฏิรูปการบริหารจัดการงบประมาณและกำลังคนให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่เรื่องการขอเพิ่มงบประมาณอย่างเดียว เพราะงบประมาณบางส่วนก็ใช้ในเรื่องการก่อสร้างอาคารสถานที่ รั้ว ฯลฯ เรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นหรือคุ้มค่าน้อย แถมการบริหารจัดการยังมีเรื่องการรั่วไหล ทุจริตฉ้อฉลอีก

เราจำเป็นจะต้องปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมด้านอื่นๆ เพื่อกระจายทรัพย์สินรายได้ให้ทั่วถึง/เป็นธรรมขึ้น คือ การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ควรทำในรูปโฉนดชุมชน ให้เกษตรมีสิทธิทำกินหรือเช่าราคาต่ำ แต่ไม่มีสิทธิขายต่อ การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้ต่ำเช่าซื้อหรือเช่าอยู่โดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำ การให้เบี้ยยังชีพเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนจน (รายได้ต่ำกว่าปีละแสนบาท) ควรจ่ายเป็นเงินส่งเข้าบัญชีธนาคารผู้รับโดยตรง และจ่ายแบบถ้วนหน้าเป็นรายเดือนให้เด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบทุกคน เพื่อจะได้ไม่ตกหล่น ไม่ต้องมายุ่งยากสิ้นเปลืองเรื่องบริหารจัดการว่าใครมาจากครอบครัวรายได้ต่ำหรือไม่ การจ่ายให้คนจนที่ได้บัตรสวัสดิการเป็นเงินเข้าบัญชีโดยตรง ผู้รับจะได้ประโยชน์จริงๆ มากกว่า การกำหนดให้ต้องไปซื้อสินค้าในบางร้านหรือได้บริการฟรี ลดหย่อนค่าเดินทาง ค่าแก๊สหุงต้ม ปัจจุบันเด็กเล็ก คนสูงอายุ คนพิการ ได้รับเงินอุดหนุนราวเดือนละ 600 บาท ควรจะปรับเพิ่มจำนวนเงินได้อีก

ถ้ารัฐบาลปฏิรูประบบภาษีและการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งระบบให้สัมปทาน พลังงาน คลื่นความถี่การสื่อสาร เหมืองแร่ ทรัพย์สินสาธารณะต่างๆ รัฐก็จะสามารถหางบประมาณมาช่วยสวัสดิการประชาชนได้เพิ่มขึ้น การจ่ายคืนภาษีให้ประชาชนกลุ่มที่ควรได้รับโดยตรง จะถึงมือประชาชนและเกิดประโยชน์มากกว่าการจ่ายทางอ้อม ผ่านโครงการประชารัฐ ประชานิยม การสงเคราะห์ และกองทุนต่างๆ

การปฏิรูปภาษีควรเก็บภาษีจากทรัพย์สินและรายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร เงินปันผล กำไรจากการขายทรัพย์สิน การให้ทรัพย์โดยเสน่ห์หาและมรดก การได้ลาภลอย เช่น ถูกล็อตเตอรี่ ในอัตราก้าวหน้า คือยิ่งรายได้สูงต้องเสียในอัตราสูง ภาษีส่วนนี้รัฐบาลไทยยังไม่ได้เก็บหรือบางอย่างเก็บได้น้อย รัฐสามารถเก็บเพิ่มในส่วนนี้ได้อีกมาก คนรวยก็จ่ายได้โดยไม่กระทบคนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็ควรปฏิรูปการเก็บภาษีรายได้ ภาษีรายได้นิติบุคคลในอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้น เลิกยกเว้นหรือเลิกการลดหย่อนภาษีให้นักลงทุนต่างประเทศ เพราะนักลงทุนไทยเองก็มีทุนอยู่มาก และไปลงทุนต่างประเทศมาก การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องแรงจูงใจทางภาษีเป็นหลัก ควรปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องพลังงาน เรื่องกฎเกณฑ์ระเบียบวิธีการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ส่วนเรื่องการให้สัมปทานพลังงาน คลื่นความถี่ เหมืองแร่ ฯลฯ ถ้าปฏิรูปแบบมุ่งรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมจริงๆ มากกว่าเพื่อหาประโยชน์ของนักการเมือง ข้าราชการ รัฐบาลจะมีรายได้และได้งบประมาณเข้ารัฐเพิ่มอีกมาก รวมทั้งควรจะลดราคาสินค้า/บริการช่วยประชาชนผู้บริโภคได้ด้วย

การใช้จ่ายงบประมาณควรจะลดงบกระทรวงกลาโหม คมนาคม ฯลฯ ลงมา ยุคนี้เป็นยุคการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากกว่า โอกาสจะรบกับประเทศอื่นมีน้อย ควรลดจำนวนนายพล นายพัน และการรับนักเรียนนายร้อยลดลง การศึกษาทหารควรฝึกให้ไปทำงานช่างและช่วยงานเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม เช่น ป้องกัน/ปราบปรามยาเสพติด การค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อนชายแดน การช่วยเหลือสาธารณะภัย ฯลฯ ที่เป็นประโยชน์มากกว่าการมีกองทัพอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ ส่วนงบคมนาคมขนส่ง เช่น การสร้างรถไฟ และอื่นๆ ควรให้ธุรกิจเอกชนรับผิดชอบเพิ่มขึ้น เขาจะได้พิจารณาเองว่าคุ้มที่จะลงทุนหรือไม่ แทนที่รัฐจะลงทุนเองทั้งที่มีความเสี่ยงกับความไม่คุ้มค่า รัฐควรเน้นการพัฒนาภาคการผลิตที่แท้จริง เช่น เกษตร อุตสาหกรรม และการพัฒนาคนก่อน ส่วนการทำโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ที่ก่อหนี้สินมาก อาจจะทำให้เศรษฐกิจยุคต่อไปมีปัญหาวิกฤตได้ ถ้ารัฐไม่สามารถพัฒนาคนและภาคการผลิตที่แท้จริงให้เจริญก้าวหน้าได้สอดคล้องกัน