P2P Lending จะเกิดในไทยได้ไหม

P2P Lending จะเกิดในไทยได้ไหม

ทำไม P2P Lending ถึงยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

นับตั้งแต่ผมเข้ามาในวงการฟินเทคเต็มตัวมาได้เกือบสองปี ได้เห็นพัฒนาการของวงการฟินเทคไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นการยอมรับจากทางการให้สามารถดำเนินธุรกิจบางประเภทที่เข้าข่าย “ท้าทาย” ธุรกิจการเงินดั้งเดิม รวมถึงผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆให้สามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น  แม้แต่ธุรกิจเกี่ยวกับ Crypto Currency ก็ได้มีการออกกฎหมายรับรองมาแล้วเรียบร้อย แต่ยังคงเหลืออีกธุรกิจที่ผมค่อนข้างหนักใจแทนผู้ประกอบการที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยมานานมากจนหลายคนม้วนเสื่อกลับบ้านไปแล้วนั่นคือ P2P Lending หรือการปล่อยกู้ระหว่างบุคคล 

ในบรรดาฟินเทคทั้งหมด ไม่ว่าจะ Equity Crowd Funding,Blockchain,Payment ฯลฯ ต้องยอมรับว่า P2P Lending นี่แหละมี Damage ในการที่จะ Disrupt ธุรกิจการเงินดั้งเดิมมากที่สุดแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆว่าปกติแล้วการที่เราขอกู้สินเชื่อบุคคลเราอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยถึงปีละ 20 เปอร์เซนต์ ขึ้นไป ไม่นับเงินกู้นอกระบบที่ต้องจ่ายกันทีเป็นร้อยเปอร์เซนต์ แต่ถ้าเรากู้ผ่านระบบ P2P Lending  เราจะจ่ายดอกเบี้ยต่อปีในระดับ 8-10% เท่านั้น  เรียกได้ว่าตัดราคาธนาคารกันแบบสุดๆ 

นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้มากขึ้นอีกด้วยเพราะบุคคลธรรมดาทั่วไปมักจะถูกจำกัดการได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินเสมอ P2P Lending จึงได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศที่กว้างใหญ่ มีจำนวนประชากรมหาศาลแต่ยังมีสัดส่วนการเข้าถึงบริการทางการเงินไม่สูงมากอย่างเช่น จีนและอินโดนีเซีย  เพราะการเข้าถึงอินเทอร์เนตและการใช้สมาร์ทโฟนในระดับสูงทำให้บริการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลเติบโตได้เร็ว เพียงแค่ปลายนิ้วก็สามารถกู้เงินได้แล้วผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้ให้บริการไม่มีความจำเป็นต้องตั้งสาขาจำนวนมากเสียด้วยมีเพียงสิ่งที่ต้องลงทุนสูงก็คือระบบ Credit Scoring 

เล่ามาเพียงเท่านี้คงพอทราบแล้วใช่ไหมครับว่าทำไม P2P Lending ถึงยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะผู้ที่ดำเนินธุรกิจดั้งเดิมคงไม่สบายใจที่จะถูก Disrupt แน่นอน เท่าที่พอจะทราบเหตุผลที่ทำให้การอนุมัติถูกเลื่อนมาโดยตลอดก็คือความกังวลเรื่องหนี้เสียในระบบ Shadow Banking ของจีนที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วจากการกู้เงินง่ายๆผ่าน P2P Lending นี่เอง 

แม้ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังคงยืนหยัดในสังเวียนนี้ (ขอกราบหัวใจพวกพี่ๆว่าอึดมาก) จะยังพอยืดเส้นยืดสายได้บ้างกับการลงมาทำธุรกิจปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีแทนที่จะเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไป (เรียกว่าMarketplace Lending) ซึ่งอาจจะอนุมาณได้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน(สินเชื่อบุคคลบางส่วนก็ถูกนำมาใช้ทำธุรกิจส่วนตัว) แต่การที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับคนไทยในวงกว้าง  

P2P Lending ในรูปแบบปล่อยกู้ระหว่างบุคคลยังจำเป็นต้องเกิดขึ้น 

ล่าสุดได้ยินมาว่ามีหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของไทยที่ค่อนข้างจริงจังกับการสนับสนุนฟินเทค (อันนี้ยอมรับจากใจเลย) กำลังเข้ามาช่วยผลักดันให้  

P2P Lending สามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยเสียทีหลังจากที่รอมาอย่างยาวนาน ลองคิดดูล่ะกันครับว่าฟินเทคด้าน P2P Lending จากอินโดนีเซียประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินและบัญชีธนาคารต่ำกว่าเรามากยังสนใจเข้ามาทำธุรกิจในไทยเลย และทำไมเราต้องยอมให้ต่างชาติมาดำเนินธุรกิจโดยไม่มีผู้เล่นชาวไทยเลยครับ