สงครามการค้า: เกมการต่อรองที่มีเดิมพันสูง

สงครามการค้า: เกมการต่อรองที่มีเดิมพันสูง

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าหลักโดยเฉพาะจีนทวีความรุนแรงขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้า

กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จากจีนจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (รูปที่1) รวมทั้งเก็บภาษีนำเข้าเหล็กจากกลุ่มประเทศพันธมิตรหลัก ซึ่งนำมาสู่การตอบโต้ของประเทศคู่ค้า แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นจากมาตรการที่เกิดขึ้นแล้วยังมีจำกัด แต่สงครามการค้ามีแนวโน้มที่จะรุนแรงและขยายวงมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อของเศรษฐกิจโลกและไทยในระยะข้างหน้า

ผลกระทบโดยตรงจากภาษีที่เกิดขึ้นแล้วต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นยังมีจำกัด เนื่องจากสินค้าที่เกี่ยวข้องมีมูลค่ารวมเป็นสัดส่วนไม่มากของมูลค้าการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีก็ช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้พยายามเลือกเพิ่มภาษีนำเข้าบนสินค้าที่จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของตน เช่น ในกรณีของภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน สหรัฐฯ พยายามเลือกสินค้าขั้นกลางมากกว่าสินค้าขั้นสุดท้าย และเน้นสินค้าที่สัดส่วนการนำเข้าจากจีนไม่สูงนัก เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้ผลิตจะสามารถหาสินค้าทดแทนจากตลาดอื่นได้ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อราคาและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ทางการค้ามีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นมากกว่าทุเลาลง อย่างน้อยจนถึงช่วงก่อนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้าได้กลายเป็นนโยบายหาเสียงที่ได้ผลของประธานาธิบดีทรัมป์ และหากจะให้ฐานเสียงและตลาดการเงินเชื่อว่าทรัมป์จริงจังกับเรื่องนี้ ก็จำเป็นที่ทรัมป์จะต้องดำเนินการขึ้นภาษีในบางมาตรการที่ได้ประกาศขู่ไว้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนโยบายและสร้างอำนาจต่อรองกับคู่เจรจา ประกอบกับแนวทางการเจรจาของทรัมป์ที่ยากต่อการคาดการณ์ (unpredictability) จึงทำให้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดการเงินได้แสดงความกังวลต่อความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียซึ่งพึ่งพาการส่งออกมาก ประกอบกับภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างรวดเร็ว

สงครามการค้า: เกมการต่อรองที่มีเดิมพันสูง

ทั้งนี้ ต้องติดตามมาตรการอีก 2 ข้อที่สหรัฐฯ ประกาศว่าอาจนำมาใช้เพิ่มเติม ได้แก่ มาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากจีนไม่หยุดการตอบโต้ และมาตรการภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มยานยนต์มูลค่า 2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจถูกนำมาใช้กับทุกประเทศที่ส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับผลการสืบสวนของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะออกมาปลายเดือนสิงหาคมหรือช่วงต้นปี 2019 เป็นอย่างช้า หากทั้งสองมาตรการถูกนำมาใช้ก็จะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงและชัดเจนขึ้น เพราะสหรัฐฯ เองก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องเพิ่มภาษีกับสินค้าที่จะกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยและอาจทำให้ Fed ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายมากและเร็วขึ้นกว่าที่ตลาดคาดได้ ขณะที่ในกรณีของจีน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการดูแลการเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้น การที่จีนไม่สามารถตอบโต้สหรัฐฯ ผ่านการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าได้มากเท่ากับสหรัฐฯ เนื่องจากจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ น้อยกว่ามาก ทำให้จีนอาจต้องใช้มาตรการอื่นๆ ในการตอบโต้ เช่น การลดการถือพันธบัตรสหรัฐฯ การปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่า หรือมาตรการจัดการกับธุรกิจสหรัฐฯ ที่ลงทุนในจีน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกขยายความรุนแรงในมิติที่มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นด้วย

สำหรับนัยต่อเศรษฐกิจไทย ผลกระทบของมาตรการภาษีต่อการส่งออกไทยในปีนี้จะยังมีจำกัด เพราะสัดส่วนการส่งออกของไทยในหมวดสินค้าที่กระทบคิดเป็นเพียง 1.11% ของมูลค่าการส่งออกรวมไทย ซึ่งได้รวม 1) หมวดเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ (สัดส่วน 0.2%) และหมวดเหล็กและอลูมิเนียม (0.4%) 2) มูลค่าการส่งออกสินค้าขั้นกลางที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนที่ได้ผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (0.34%) และรวมถึง 3) มูลค่ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ และกลุ่มนาฟตา (0.17%) สัดส่วนนี้น่าจะสะท้อนเพดานความเสี่ยงด้านสูง เนื่องจากสมมติว่าไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ หรือจีนในสินค้าดังกล่าวไม่ได้เลยและไม่สามารถหาตลาดทดแทนได้ แต่ในความเป็นจริงข้อมูลในช่วงที่มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ได้เริ่มบังคับใช้สะท้อนว่า แม้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในหมวดเครื่องซักผ้า โซลาร์ และเหล็กจะลดลงจากปีที่แล้ว แต่การส่งออกรวมในหมวดดังกล่าวไปยังประเทศคู่ค้าทั้งหมดยังขยายตัวเป็นบวกอยู่ สะท้อนความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการหาตลาดทดแทนได้

แต่หากสงครามการค้าขยายวงต่อเนื่อง ก็จะส่งผลลบต่อปริมาณการค้าโลกและการส่งออกของไทยอย่างมาก รวมทั้งความไม่แน่นอนที่มากขึ้นอาจทำให้ผู้ประกอบการข้ามชาติต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและอาจลดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มของ FDI สู่ไทยในอนาคตได้ โดยเฉพาะห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และยานยนตร์ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น ไทยจึงควรเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้ ภาครัฐควรเร่งหาพันธมิตรทางการค้าเพิ่ม ส่งเสริมการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี และผลักดันการทำ FTA รายประเทศหรือเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าภูมิภาคขนาดใหญ่อย่าง RCEP และ CPTPP รวมทั้งสนับสนุนวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่เพื่อเป็นตัวกันชนหากการส่งออกชะลอลง ด้านผู้ส่งออกไทยควรเร่งมองหาตลาดการส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่แล้วให้ทั่วถึงในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมทั้งหาโอกาสขยายการลงทุนในห่วงโซ่การผลิตร่วมกับประเทศในภูมิภาคมากขึ้น