สงครามการค้ากับโอกาสในการลงทุน

สงครามการค้ากับโอกาสในการลงทุน

ณ วันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปิดที่ 1,601.42 จุด โดยเป็นการร่วงลงราว 100 จุด ภายใน 1 เดือน

และลดลงกว่า 200 จุด จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ 1,830.39 จุด หรือลดลงกว่า 11% และดัชนีอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน

การร่วงลงของตลาดหุ้นไทยในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งผมได้กล่าวถึงในบทความครั้งก่อนไปแล้ว เช่น ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นต้น ในขณะที่การร่วงลงของตลาดหุ้นไทยล่าสุด มีสาเหตุหลักมาจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า โดยสหรัฐฯเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 25% ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในขณะที่จีนก็มีการตอบโต้โดยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯในอัตราสูงเช่นกัน นอกจากนี้ การร่วงลงแรงของหุ้นบางตัว ก็ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนแย่ลง และฉุดให้ดัชนีร่วงลงแรงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้างในช่วงต้นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง ช่วยสร้างความมั่นในให้แก่ตลาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถรองรับสงครามการค้าและการขึ้นดอกเบี้ยได้

ทั้งนี้ ผลกระทบจากสงครามการค้าไม่น่าจะรุนแรงมากอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะถึงแม้มีการเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 25% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้นทุนการผลิตสินค้าของสหรัฐฯและจีนจะเพิ่มขึ้น 25% เช่นกัน เพราะสินค้าบางประเภทเป็นสินค้าวัตถุดิบ เครื่องยนต์ หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสินค้าที่จะถูกผลิตเพื่อนำออกขาย และอาจจะเคยถูกเก็บภาษีอยู่แล้วในอัตราที่ต่ำกว่า ในกรณีนี้ สินค้าที่นำออกขายนี้ อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในอัตราที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบที่ถูกนำเข้ามาจากสหรัฐฯหรือจีน แต่ในกรณีที่สินค้าที่ถูกนำเข้าเป็นสินค้าที่ถูกผลิตเสร็จและพร้อมจำหน่าย เช่น โทรทัศน์ วิทยุ รถยนต์ ฯลฯ ก็ต้องดูว่าเดิมถูกเก็บภาษีอยู่เท่าใด

นอกจากนี้ ผู้นำเข้าของจีนและสหรัฐฯอาจเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า และเมื่อรวมกับราคาสินค้าแล้ว ไม่ทำให้ต้นทุนสูงกว่าเดิม แต่ในบางกรณีอาจทำได้ยาก เนื่องจากชิ้นส่วนสินค้าบางประเภทอาจมีผู้ผลิตน้อยราย การจะหาผู้ผลิตรายใหม่อาจต้องใช้เวลาให้ผู้ผลิตรายใหม่ปรับเปลี่ยนสายการผลิตหรือลงทุนเพิ่ม ในด้านของผู้ส่งออก ทั้งจีนและสหรัฐฯต่างมีบริษัทย่อยอยู่ในหลายประเทศ เช่น บริษัทฟอกซ์คอนน์ ของจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบไอโฟน มีโรงงานอยู่ในไต้หวัน ไทย มาเลเซีย สาธาณรัฐเช็ค เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จึงสามารถเลี่ยงการถูกเก็บภาษีนำเข้าได้โดยการย้ายฐานการประกอบไอโฟนไปในประเทศอื่นๆได้

อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจช่วยลดผลกระทบจากสงครามการค้า ได้แก่ ทั้งสหรัฐฯและจีนต่างมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าบางประเภทเป็นสินค้าไม่จำเป็น หรือสามารถนำเข้าจากประเทศอื่นได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศมากนัก เพราะทั้งเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯต่างขึ้นอยู่กับการบริโภคภายในประเทศมากกว่าการส่งออก โดยนักวิเคราะห์หลายรายประเมินว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีของจีนเพียงเล็กน้อยราว 0.2 – 0.3% ของจีดีพีเท่านั้น

การที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า และตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งต่อเนื่องของสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนคาดหวังว่าผลประกอบการไตรมาส 2/61 ของบริษัทสหรัฐฯจะออกมาดี เป็นผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาฟื้นตัว

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย มีการเติบโตต่อเนื่องและขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น รวมถึงอาจได้ประโยชน์จากสงครามการค้าจากการที่บริษัทจีนและสหรัฐฯย้ายฐานการผลิตมาไทย หรือนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรเริ่มดีขึ้น การเมืองเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และนักวิเคราะห์ต่างทยอยปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้ขึ้น ในแง่ของตลาดหุ้น บริษัทต่างๆคาดว่าผลประกอบการในอนาคตจะดีขึ้น ค่าพีอีของตลาดหุ้นไทยอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยต่างๆที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย

ดังนั้น นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง อาจมองว่าการร่วงลงของตลาดในช่วงที่ผ่านมาเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน เนื่องจากตลาดมีส่วนลด (discount) ค่อนข้างมากจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า และมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากปัจจัยบวกในประเทศที่มีอยู่มาก แต่อย่างไรก็ดี นักลงทุนต้องพึงระวังไว้ว่า ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ายังไม่หมดไป ความผันผวนในตลาดจึงยังคงมีอยู่