เครื่องตรวจจับความเร็วพกพาเครี่องละ 3 แสน

เครื่องตรวจจับความเร็วพกพาเครี่องละ 3 แสน

ผมติดตามข่าวหลายข่าวในเวลานี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา “Radar gun” ของหน่วยราชการแห่งหนึ่ง

ความที่ผมเองเคยทำการประเมินผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุบัติภัยทางถนนแบบบูรณาการให้กับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อหลายปีก่อน จึงค่อนข้างคุ้นเคยกับเรื่องราวเกี่ยวกับการจราจรบนท้องถนนและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ อยู่ไม่น้อย อีกทั้งประสบการณ์สมัยเรียนหนังสือในต่างประเทศช่วยให้ผมเขียนบทความนี้ได้แบบไม่เคอะเขิน เพราะเคยเห็นวิธีการที่นักเรียนนอกที่มีรถขับทั้งไทยและเทศหาวิธีหลบหนีเจ้าหน้าที่ซึ่งพยายามตรวจจับความเร็วด้วยเครื่องมือที่ทัดหน้าเทียมตากัน นั่นคือ เมื่อใดที่มีสัญญาณตรวจจับของเครื่องที่ว่าเข้ามาในรัศมี เครื่องมือไฮเทคที่ว่านี้จะส่งสัญญาณบอกกล่าวให้รู้เพื่อหลบหลีก เหมือนกับเวลารถบรรทุกส่งสัญญาณกระพริบไฟให้กันเพื่อบอกเพื่อนร่วมทางว่ากำลังจะขับไปเจอด่านตรวจตั้งรออยู่

ผมไม่คัดค้านถ้าทางราชการจะมีเครื่องมือเหล่านี้ไว้ใช้งาน เพราะอาจเหมาะสมด้วยเหตุผลที่น่าจะได้ศึกษากันถี่ถ้วนแล้ว แต่ที่นำอุทาหรณ์มากล่าวถึงเพราะเห็นว่า ลำพังเครื่องตรวจจับอย่างเดียวคงใช้ไม่ได้ผล เพราะหากเรามีเครื่องมือพวกนี้ใช้งาน พวกนักซิ่งคนชอบผ่าฝืนกฎเลี่ยงบาลีเขาก็สามารถไปซื้อหาเครื่องต้านการตรวจจับ (Radar detector) มาสู้ได้ด้วยสนนราคาไม่แพงเลย ที่สำคัญราคาครั้งแรกที่ประกาศออกมาเป็นข่าวในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรา (isranews.org) ทำเอาน่าตกใจมาก เพราะราคาเครื่องละเกือบล้านบาท แต่มาทราบในภายหลังว่า เมื่อมีการยื่นเสนอราคาล่าสุดเวลานี้อยู่ที่เครื่องละประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งสำหรับผม ยังถือว่าแพงอยู่มาก เพราะตัวเองเป็นคนชอบซื้อสินค้าหลายอย่างทางอินเตอร์เน็ตและรู้แหล่งแห่งที่ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่บ้าง ไม่อยากเรียกตัวเองเป็นมืออาชีพ แต่มั่นใจว่าราคาที่ตรวจสอบมาอย่างแพงสุดที่เคยพบอยู่ที่แสนต้นๆ ซึ่งน่าจะมีสมรรถนะคุณสมบัติ (specification) ใกล้เคียงกับที่ทางการพยายามจัดหามาใช้

แหล่งค้นหาสินค้าจำพวกนี้มีมากมายตั้งแต่ เว็บไซต์กูเกิล google.com ที่คุ้นเคยกันดี เว็บไซต์ขายของทั่วไปที่มีทั้งเครื่องตรวจจับความเร็วกับเครื่องที่เอาไว้ต้านการตรวจจับ มีสนนราคาของเก่าของใหม่บอกไว้เสร็จสรรพ ยกตัวอย่างในเว็บไซต์ eBay.com หรือแม้แต่เว็บไซต์ที่ขายของเหล่านี้โดยตรงอีกหลายเว็บไซต์ จึงทำให้สังคมเกิดคำถามมากมาย ซึ่งต้องขอบคุณสำนักข่าวอิศราอย่างมากที่นำเรื่องเหล่านี้มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งฟังความได้ว่า ทางหน่วยราชการเองได้พยายามหาราคากลาง และอาจมีการสอบถามไปยังบริษัทห้างร้านในประเทศที่มีการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้แล้วนำมากำหนดเป็นราคากลาง ในเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสนใจมาก ถึงขั้นให้หน่วยงานต้นเรื่องไปตรวจสอบราคาใหม่เพราะแรกเริ่มมีราคาสูงกว่านี้มาก แต่บริษัทที่ชนะการเสนอราคาไม่ใช่บริษัทที่ทางหน่วยราชการไปสอบทานมาแต่แรก โดยราคาล่าสุดได้ลดลงฮวบฮาบอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ( โปรดอ่านข่าวได้ที่ https://www.isranews.org/isranews/67612-porpor8.html)

คงจำกันได้เมื่อหลายปีก่อนมีข่าวเกรียวกราวเกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิด (จีที 200) ซึ่งเป็นที่ฮือฮากระทั่งส่งผลให้ประเทศอังกฤษต้องดำเนินคดีกับบริษัทสัญชาติอังกฤษที่นำวัสดุซึ่งไม่มีกลไกใดๆ ที่จะช่วยในการตรวจจับวัตถุระเบิดมาจำหน่ายให้กับทางการเป็นราคาเหยียบล้าน กระทั่งมีการเปิดโปงออกมาเป็นข่าวใหญ่ ทำให้ประเทศสามารถประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินไปได้จำนวนมาก ต้องยกความดีให้กลุ่มคนที่มีความสนใจและติดตามข่าวสารแบบมีสาระมากกว่าการสนใจเรื่อง “มายา ดราม่าต่างๆ” อย่างที่เป็นข่าวกันทุกวี่วัน เป็นไปได้หรือไม่ถ้าทางการจะเลือกใช้วิธีการในการจัดหาสินค้าตัวนี้ด้วยวิธีการอื่นที่อาจจะสามารถประหยัดงบประมาณได้เพิ่มขึ้นและด้วยราคาที่ไม่เกิดคำถามมากถึงเพียงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกมาสอบทานราคา จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษหรือวิธีอื่นๆ ที่ทำได้ในขอบอำนาจของกฎหมาย

ในกรณีนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งผู้ซื้อผู้ขายรวมทั้งผู้นำเสนอข่าวนี้ เพราะการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศราก็น่าจะด้วยความปรารถนาดีที่เห็นว่าสินค้าน่าจะมีราคาแพงกว่าปกติมาก จึงมีการนำเสนอข่าวต่อเนื่อง ในขณะที่ผมเองก็ให้ความสนใจกับฟุตบอลโลกและการช่วยเหลือเด็กๆ ที่ติดถ้ำในจ.เชียงราย ประจวบเหมาะกับมีข่าวทัวร์ศูนย์เหรียญ (อีกแล้ว)ที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนต้องเอาชีวิตมาทิ้งบนความมักง่ายของผู้ประกอบการอีกเกือบร้อยชีวิต แถมมีคนไทยจำนวนหนึ่งทำตัวเป็น “นอมินี” รับหน้าเสื่อทำการค้าให้คนต่างชาติต่างภาษา ทำให้เรื่องนี้หายไปจากความทรงจำของผมระยะหนึ่ง กระทั่งมาทราบอีกทีเมื่อเข้าไปอ่านบทความในเว็บไซต์อิศราว่า ได้มีการยื่นเสนอราคากันแล้วและมีผู้ให้ราคาต่ำสุด ราวๆ 300 ล้านบาท ในจำนวนเครื่องล็อตใหญ่ เข้าใจว่าราวๆ 800 กว่าเครื่องขึ้นไป ทำให้สนนราคาอยู่ที่เครื่องละราวๆ 3 แสนบาท แต่ดังเรียนไว้แต่ต้นว่า ถึงจะราคานี้ ก็เห็นว่ายังมีราคาแพง ซึ่งหากทางผู้ผลิตกับทางราชการจะได้ชี้แจงให้เข้าใจว่า เครื่องดังกล่าวมีประสิทธิภาพและความสามารถสูงประการใด เช่น อาจมีบริการหลังการขาย ซ่อมแซมแก้ไข เปลี่ยนอุปกรณ์รับประกันตลอดอายุการใช้งาน เครื่องอาจดีถึงขนาดสามารถ overwrite สัญญาณที่เข้ามาก่อกวน หรือ ปราบพวกเครื่องมือราคาถูกที่เอาไว้ต้านเครื่องตรวจจับความเร็วได้อย่างชะงัด เพราะเครื่องต้านการตรวจจับสมัยนี้หาซื้อกันได้ด้วยราคาไม่ถึงพันบาทก็มี หรือ อาจสามารถพิมพ์ภาพถ่ายรถต้นเหตุ กระทั่งบันทึกข้อมูลติดต่อสื่อสารส่งสัญญาณไปยังฐานข้อมูลกลางเหมือนเครื่องบันทึกการฝ่าฝืนกฎจราจรตามสี่แยก ที่คอยส่งบิลมาเรียกเก็บตามบ้านเรือนราษฎรได้ ถ้าชี้ชัดได้อย่างที่ยกตัวอย่างมานี้ทุกคนก็น่าจะไม่เกิดคำถามว่าทำไมเครื่องถึงได้ราคาแพงนัก

แต่สำคัญที่สุด ซึ่งย้ำมาตั้งแต่การประเมินผลการศึกษาวิจัยฯ ที่เกริ่นมาแล้วว่า การแก้ไขปัญหาจะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมี “ความกล้าหาญ” และบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจอิทธิพลใดๆ” เพราะเครื่องมือแม้จะมีราคาแพงมีประสิทธิภาพสูงอย่างไร หากในที่สุดยังคงมีการอลุ้มอล่วย สามารถต่อรองได้ เจ้าหน้าที่มีความเกรงกลัวโน่นนี่ หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เครื่องราคาหลายแสนก็คงไม่มีประโยชน์โภชน์ผลอันใด เพราะนอกจากตามเทคโนโลยีที่มาต่อต้านไม่ทันแล้ว ยังเอาผิดคนละเมิดกฎหมายจราจรได้ยากยิ่ง