ส่องเศรษฐกิจอีสานด้วย LQ index

ส่องเศรษฐกิจอีสานด้วย LQ index

เนื่องจากผมได้รับเชิญไปบรรยายเกี่ยวกับเศรษฐกิจอีสานในหลายงานๆ ในวันนี้จึงถือโอกาสดีอยากพูดคุยเกี่ยวกับเศรษฐกิจอีสานบ้าง

โดยจะขอใช้ข้อมูลที่ผมได้ทำและใช้ไปบรรยายตามที่ต่างๆ มาย่อยให้ฟังกัน ซึ่งข้อมูลที่มาคุยกันตรงนี้อาจไม่รอบด้าน แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่น่าท้าทายของเศรษฐกิจอีสานครับ

ในภาพรวม ภาคอีสานยังคงมีระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมรายภาคในอันดับล่างๆ (ตีคู่ไปกับภาคเหนือ) อย่างไรก็ตาม เมื่อดูอัตราการเจริญเติบโตในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาพบว่า ภาคอีสานมีการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมที่โดดเด่น สูงถึง 8% ทั้งนี้เศรษฐกิจอีสานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ภาพในสมัยก่อนที่คนมองว่าเกษตรกรรมเป็นกำลังหลักของภาคอีสานนั้นได้เปลี่ยนไปพvสมควร ตัวเลขสัดส่วนผลิตภัณฑ์รายภาคในปี 2558 พบว่า สัดส่วนรายได้นอกภาคเกษตรของอีสานสูงถึง 79% ในขณะที่รายได้จากภาคเกษตรมีเพียง 21% เท่านั้น และ 3 กิจกรรมที่มีสัดส่วนของรายได้สูงสุดในอีสานได้แก่ (1) ภาคการผลิตโรงงาน (manufacturing) มีสัดส่วน 23% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมรายภาค ซึ่งดูได้จากจำนวนโรงงานที่มากถึง 43,630 แห่งทั่วภาคอีสาน ด้วยทุนจดทะเบียน 487,880 ล้านบาท (2) ภาคการศึกษา (education) มีสัดส่วน 17% ซึ่งพบเห็นได้ในหลายเมืองของอีสานที่เป็นเมืองการศึกษา เช่น ขอนแก่น มหาสารคาม (เฉพาะขอนแก่นมีสถาบันระดับอุมศึกษา 22 แห่ง และโรงเรียนอีกกว่า 700 แห่ง) และ (3) ภาคค้าส่งและค้าปลีก (wholesale and retail trade) มีสัดส่วน 14% ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีภาคการผลิตนี้มีบทบาทในอีสานมากขึ้นสังเกตจากจำนวน hypermarket ที่มากมายถึง 62 แห่ง ร้านสะดวกซื้อ 1,000 กว่าแห่ง รวมถึงร้านเฉพาะทางต่างๆ อีก 35 แห่ง ซึ่งทั้งหมดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆในอีสาน

เมื่อเจาะไปตามรายจังหวัดพบว่า ความเป็นอุตสาหกรรมสูงพบได้ใน จ.นครราชสีมาและขอนแก่น (โคราชมีโรงงาน 7,744 โรง ในขณะที่ ขอนแก่น อุดรฯ และอุบลฯ มีจำนวนโรงงานเฉลี่ยพอกันที่ 4,000 โรง แต่ขอนแก่นมีมูลค่าการจดทะเบียนสูงที่สุด) ในขณะที่จังหวัด อุดรฯ อุบลฯ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองคาย สกลนคร ชัยภูมิ เป็นจังหวัดมีมีภาคการค้าและบริการในสัดส่วนสูง ส่วนจังหวัดอื่นๆที่เหลือยังคงมีสัดส่วนรายได้จากภาคเกษตรกรรมที่สูงกว่าจังหวัดที่ได้กล่าวมา อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเอาสัดส่วนรายได้จากภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการ มารวมกันในกลุ่มจังหวัดที่มีสัดส่วนภาคเกษตรสูงก็จะพบว่า กิจกรรมนอกภาคเกษตรยังใหญ่กว่าภาคเกษตรอยู่ (ดูได้จาก chart ครับ)

ส่องเศรษฐกิจอีสานด้วย LQ index

ที่กล่าวมาคือภาพรวมสัดส่วนเศรษฐกิจในอีสาน ทีนี้ผมอยากจะดูให้ละเอียดขึ้นอีกนิดคือนำเอาดัชนีที่ชื่อว่า Location Quotient Index (LQ) มาพิจารณา ดัชนีตัวนี้ถ้าอธิบายอย่างง่ายคือเอาไว้วัดความเด่นของสาขาการผลิต ทั้งนี้ค่า LQ สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย แต่ ณ ที่นี้เราได้วิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างกิจกรรมต่างๆตามรายจังหวัดกับภาคอีสาน และกิจกรรมต่างๆในภาคอีสานกับทั้งประเทศ โดยถ้าค่า LQ มากกว่า 1 เป็นการบ่งชี้ว่าสาขาการผลิตที่พิจารณามีความโดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับสาขาการผลิตอื่นๆ และในภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งค่า LQ index ที่ผมอภิปรายในที่นี้เป็นค่าเฉลี่ยนตั้งแต่ปี 2548-2558

ซึ่งผลการคำนวณค่า LQ จังหวัดต่างๆในอีสานพบว่า ดัชนี LQ ในด้านภาคการผลิตโรงงาน โดดเด่นในโคราชและขอนแก่น LQ ด้านการขนส่งและสื่อสารมีความโดดเด่นใน อุดรฯ และหนองคาย LQ (สันนิฐานว่าเป็นทางออกไปสู่ต่างประเทศที่มี infrastructure ทางราบที่สะดวกสบาย) ด้านการโรงแรมและภัตตาคาร มีความโดดเด่นใน โคราช ขอนแก่น อุดรฯ และสูงโดดเด่นมากในศรีสะเกษ โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.40 ตั้งแต่ปี 2555-2558 ซึ่งก่อนหน้าปี 2555 ค่า LQ ในกิจกรรมนี้อยู่ที่ 2-3 เท่านั้น (ตรงนี้ผมตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมาจากการเปิดประตูค้าชายแดนใหม่ที่ช่องสะงำ) LQ ด้านอสังหาริมทรัพย์มีค่าสูงในอุบลฯ (อาจจะสันนิฐานได้ว่าเริ่มมีผู้พัฒนาจากส่วนกลางมุ่งสู่จังหวัดนี้มากขึ้น) ส่วนจังหวัดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่อื่นๆ เช่น หนองคาย มุกดาหาร นครพนม เมื่อวิเคราะห์จาก LQ index พบว่ายังไม่สามารถสู้จังหวัดหลักในอีสานได้เลย (โคราช ขอนแก่น อุดรฯ อุบลฯ)

ส่องเศรษฐกิจอีสานด้วย LQ index

ทีนี้เมื่อดูกิจกรรมการผลิตในภาคอีสานเทียบกับทั้งประเทศพบว่า LQ index ด้านการศึกษา สูงมากกว่าทุกภูมิภาค (เฉลี่ย 3.42 ตั้งแต่ 2548-2558) ตรงนี้คงไม่ได้บอกว่าอีสานมีการศึกษาที่ดีที่สุด แต่มันสะท้อนว่ากิจกรรมผลิตด้านการศึกษาในอีสานถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสาน (ในภาครวม ภาคการผลิตการศึกษาเฉพาะแค่ในในกรุงเทพฯก็ใหญ่กว่าอีสานแล้ว แต่ในกรุงเทพฯ ยังมีภาคการผลิตอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าการศึกษามาก เช่น ภาคค้าส่งค้าปลีก และภาคท่องเที่ยว ทำให้ภาคการผลิตการศึกษาไม่โดดเด่นขึ้นมา)

ประเด็นที่น่าท้าทายและน่าเอามาคิดต่อจากการวิเคราะห์ค่า LQ คือ (1) ในภาคการโรงแรมและการภัตตาคารที่ในหลายๆจังหวัดของอีสานมีความโดดเด่นนั้น พบว่า เมื่อนำเอาระดับภาคอีสานไปเปรียบเทียบกับทั้งประเทศ ภาคอีสานมีความโดดเด่นเกือบต่ำที่สุดในประเทศ (เฉลี่ยที่ 0.35 เมื่อเทียบกับภาคใต้ที่สูงถึง 2.03) ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าภาคอีสานแย่เรื่องการโรงแรมและภัตตาคาร แต่หมายความการที่ค่า LQ รายจังหวัดสูงมันสะท้อนว่าเรามีศักยภาพซ่อนอยู่ แต่คงต้องมีการวางแผนพัฒนาภาคการผลิตนี้ในระยะยาว (2) ความโดดเด่นของ LQ index ในด้านการศึกษาของอีสานนั้น สะท้อนโอกาสทางธุรกิจในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับ มหาวิทยาลัย โรงเรียน นักเรียน อาจารย์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวสันนิฐานว่าภาคการผลิตนี้ต้องเผชิญความเสี่ยงจากโครงสร้างประชากรที่ผู้เรียนลดลง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเริ่มวางแผนระยาวเพื่อพัฒนาภาคการผลิตอื่นที่สำคัญขึ้นมาควบคู่ด้วย

ทั้งนี้ผมยังมีข้อมูลอีกมากที่ยังไม่ได้นำมาคุยกัน เช่น ประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ท้าทายต่างๆ แต่ครั้งนี้พื้นที่ไม่พอแล้วครับ หวังว่าคงได้เอาหยิบเอามาให้ดูในโอกาสต่อไป

โดย... 

นรชิต จิรสัทธรรม

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น