คู่แข่ง

คู่แข่ง

ปัญหาใหญ่ของธุรกิจในบ้านเราคือขาดการลงมือทำ

ภาวะการแข่งขันทางธุรกิจในทุกวันนี้บีบให้ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจต้องเผชิญกับคู่แข่งรอบด้าน นับตั้งแต่บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาเปลี่ยนระบบนิเวศน์ทางธุรกิจจนส่งผลกระทบกับการหารายได้เพราะสินค้าและบริการที่มีถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ขณะที่ระดับล่างก็ต้องแข่งขันกับธุรกิจเล็กๆ ไปจนถึงฟรีแลนซ์ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมทำงานเป็นลูกจ้างหันมาทำงานอิสระแบบนี้กันมาก ส่งผลให้ธุรกิจแข่งขันกับฟรีแลนซ์รายย่อยไม่ได้เพราะต้นทุนที่ต่างกันมาก ยิ่งบริษัทขนาดใหญ่มีพนักงานจำนวนมากก็ยิ่งต้องรับภาระสูงกว่า

อย่าลืมว่าเงินเดือนของพนักงานแต่ละปีจะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อจูงใจให้เขาทำงานกับบริษัทต่อ ในขณะที่ฟรีแลนซ์แทบจะไม่มีต้นทุนในส่วนนี้เลย หากเราทำธุรกิจที่ไม่มีอะไรแตกต่างจากฟรีแลนซ์ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปรับมุมมองความคิดในการทำธุรกิจใหม่หมด

การปรับมุมมองในการสร้างธุรกิจหรือ Paradigm Shift จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเราจะเห็นความคิดสร้างสรรค์แปลกๆ ใหม่ๆ จำนวนมาก เพราะยุคนี้เป็นยุคที่องค์กรธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กล้วนให้ความสำคัญกับพลังความคิดของคนรุ่นใหม่

แต่ปัญหาใหญ่ของธุรกิจในบ้านเราคือขาดการลงมือทำ เพราะนอกจากคิดและนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจแล้ว ขั้นตอนถัดมาคือการลงรายละเอียด การทุ่มเทเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกลับกลายเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญจนบริษัทไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทุกบริษัทล้วนมีโอกาสที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างเท่าเทียมกัน ด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะส่งกระทบเป็นวงกว้างเช่น ปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence ;AI) ซึ่งนักวิชาการประเมินว่าส่งผลต่ออาชีพของคนในยุคปัจจุบันถึง 65%

ขณะเดียวกันเอไอก็ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ๆ อีกมาก รวมถึงสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ในขณะที่อาชีพอีก 35% ที่ไม่ได้รับผลกระทบก็ยังสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้เพิ่มขึ้นได้อีก

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงกระตุ้นให้งานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงงานที่เกี่ยวของกับสุนทรีย์ศิลป์ เช่น สินค้าราคาแพง ขยายตัวได้มากขึ้นอีก มุมมองในการทำธุรกิจจึงไม่ควรจำกัดอยู่กับการมองผลด้านลบเท่านั้น

เพราะโลกการค้าทุกวันนี้เปลี่ยนโฉมไปอย่างมหาศาล สงครามการค้าระหว่างอเมริกาและจีนที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจีนที่ก้าวข้ามข้อจำกัดจำนวนมากขึ้นมาได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ

จากระบบเศรษฐกิจของโลกแบบดั้งเดิมที่ความตื่นตัวจะหลั่งไหลไปสู่ประเทศที่ค่าจ้างแรงงานราคาถูก เช่นเดียวกับไทยในอดีตก็เปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศจีน ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างฉุดไม่อยู่ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา โดยที่มหาอำนาจอย่างอเมริกาไม่รู้สึกสะทกสะท้านอะไร

จวบจนนโยบาย “Made in China 2025” ประกาศขึ้นพร้อมการเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจของจีนที่ไม่ได้เน้นการเป็นฐานการผลิตเนื่องจากค่าจ้างแรงงานถูก แต่หันมาเน้นความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมไฮเทคและนวัตกรรมที่คนจีนเป็นผู้คิดค้น นั่นจึงทำให้อเมริกายอมต่อไปไม่ได้

เพราะนั่นเท่ากับอนาคตของจีนที่จะก้าวขึ้นมาแทนทีอเมริกาในฐานะประเทศต้นกำเนิดเทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้าจำนวนมากจึงถูกบังคับใช้เพื่อกดดันประเทศจีน ในขณะที่จีนเองก็ไม่สนใจเพราะรู้ดีว่านี่คืออนาคตของประชากรจีนทั้งประเทศ การปรับตัวในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่เป็นเดิมพันระดับประเทศที่คนทั่วโลกเฝ้าจับตามองอยู่