โลกและไทยภายใต้กับดักเศรษฐกิจ (2)

โลกและไทยภายใต้กับดักเศรษฐกิจ (2)

ในบทความที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกและไทยในระยะต่อไปจะเผชิญกับ 3 กับดักเศรษฐกิจที่จะทำให้การขยายตัวชะลอลง

และเสี่ยงต่อภาวะตกต่ำรุนแรง (Hard landing)

กับดักทั้งสามได้แก่ (1) สงครามการค้า ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 6 กรกฎาคม หลังจากที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษี 25% ในสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และจีนประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีในสินค้ามูลค่าเท่ากัน ซึ่งผู้เขียนมองว่าเมื่อเริ่มต้นแล้วยากที่จะจบลงในระยะเวลาอันสั้น จนกว่าจะเจ็บหนักด้วยกันทั้งคู่

(2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นใน 3 ด้านหลัก อันได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน และด้านอสังหาริมทรัพย์ และ (3) ความเสี่ยงของประเทศตลาดเกิดใหม่ จากค่าเงินอ่อนค่า ดอกเบี้ยภายในประเทศที่สูงขึ้น และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป ซึ่งผู้เขียนมองว่า กับดักเหล่านี้กดดันเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดไว้ รวมถึงส่งผลกับเศรษฐกิจไทยกดดันไทยใน 3 ด้าน ดังนี้

ด้านแรก ด้านเศรษฐกิจ โดยภาพล่าสุดของเศรษฐกิจภายในประเทศของไทยนั้นเพิ่งเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างเปราะบาง ไม่ว่าจะวัดจากเงินเฟ้อที่เพิ่งแตะกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เพียง 3 เดือน ขณะที่ตัวเลขการบริโภคและลงทุนยังคงเปราะบางเมื่อเทียบกับส่งออกและท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจ

ดังนั้น หากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นในระยะต่อไป จะกระทบต่อเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจผ่าน 3 ช่องทาง คือ (1) การส่งออกสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิต (Value chain) จากไทยไปให้จีนเพื่อผลิตและส่งออกไปสหรัฐ ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ Hard Disk Drive (2) ความเสี่ยงที่สินค้าไทยจะถูกตัดสิทธิยกเว้นอากรขาเข้า (GSP) จากสหรัฐ โดยมีมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากไทยไม่เปิดตลาดเนื้อหมูให้สหรัฐ และ (3) ผ่านการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยไปยังสหรัฐและตลาดหลักที่ผลิตรถยนต์ไปให้สหรัฐ ที่มีมูลค่าประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อาจถูกเก็บภาษี 25%

ดังนั้น หากรวมมูลค่าสินค้าส่งออกไทยที่จะถูกกระทบจากสงครามการค้าในยกแรก ๆ นี้ อาจรวมได้ประมาณ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.6% ของยอดส่งออกในปีที่แล้ว) ซึ่งแม้ว่าไม่มากแต่ผลกระทบสืบเนื่องมีมากขึ้นและไม่อาจคาดเดาได้ เช่น ผู้ส่งออกและนำเข้าจะวางแผนการค้า วางแผนทางธุรกิจและลงทุนในอนาคตลำบากขึ้น และจะทำให้เอกชนชะลอการลงทุนลง

ด้านที่สอง ด้านค่าเงิน จากประเด็นหยวนอ่อนค่าลง โดยหากพิจารณาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงมาก โดยเฉพาะหยวนจากที่เคยแข็งอยู่ประมาณ 2% นับจากต้นปี กลายเป็นอ่อนประมาณ 2% ในปัจจุบัน และลากให้ค่าเงินสกุลเอเชียลงพร้อมกันหมด

สาเหตุสำคัญเนื่องจากปัจจุบันค่าเงินเอเชียเป็น หยวนบล๊อค (โดยเงินสกุลเอเชียมีค่าสหสัมพันธ์เฉลี่ยกับเงินหยวนประมาณ 60% ขณะที่บาทมีค่าสหสัมพันธ์กับหยวนถึง 88%) ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศเอเชียมีการค้ากับจีนเป็นสัดส่วนที่สูง (10-25% ต่อการส่งออกในแต่ละที่)

ฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอ และทำให้หยวนอ่อนค่าลงไปเรื่อย ๆ ค่าเงินบาทก็จะถูกกระทบแม้ว่าไทยจะยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงประมาณ 10% ของ GDP ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าค่าเงินบาทอาจไม่อ่อนลงมากเท่าค่าเงินเอเชียสกุลอื่นหากเกิดความผันผวนในตลาดการเงิน เพราะเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงที่มีความผันผวนสูง (วัดจากค่าสหสัมพันธ์ระหว่างเงินบาทกับดัชนีความผันผวนหรือ VIX Index ที่ค่อนข้างต่ำ)

ด้านที่สาม ด้านดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ว่าผู้เขียนจะยังเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ที่ 1.5% ไปถึงสิ้นปีนี้ แต่เป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยสถาบันการเงินและตลาดการเงินจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับปัจจุบัน จาก 4 สาเหตุหลัก คือ

(1) สัญญาณจาก ธปท. โดยเฉพาะผู้ว่าการฯ ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจโดยพูดว่ายกความสำคัญให้ Policy space (ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้พิจารณาในการขึ้นดอกเบี้ย และถ้านโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) อยู่ในระดับต่ำเกินไป แล้วหากอนาคตเศรษฐกิจเกิดปัญหา จะไม่มีเครื่องมือใดนำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจได้ ซึ่งการกล่าวเช่นนี้เป็นนัยว่าอยากที่จะให้ดอกเบี้ยขึ้นไปกว่าปัจจุบัน เพื่่อจะได้ลดลงได้หากเกิดวิกฤต

(2) ดอกเบี้ยในตลาดการเงิน โดยนับจากต้นปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้น 20-50 bps แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายไม่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจาก 2 สาเหตุหลัก คือ หนึ่ง ธปท. เพิ่มปริมาณการออกพันธบัตรรุ่น 3 และ 6 เดือนเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 5,000 ล้านบาท และ สอง ดอกเบี้ยพันธบัตรโลกเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐที่เพิ่มขึ้นประมาณ 40 bps

(3) ดอกเบี้ยของสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะดอกเบี้ยพิเศษ (โปรโมชั่น) ทั้ง ดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษ ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล เช่าซื้อ ที่อยู่อาศัย โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ เริ่มยกเลิกดอกเบี้ยพิเศษต่าง ๆ อันเป็นผลจากต้นทุนทางการเงินที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น และ

(4) ดอกเบี้ยหุ้นกู้ โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนเริ่มออกหุ้นกู้ประมาณ 25-30% ของทั้งตลาด ขณะที่ใน SET 100 มีผู้ออกหุ้นกู้ 65-70 บริษัทแล้ว (จากปกติ 50 บริษัทต่อปี) ส่วนหนึ่งเพื่อออกหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อล๊อคต้นทุน และเพื่อระดมทุนในการควบรวมกิจการ

โดยสรุป เศรษฐกิจไทยในอนาคตมีความเสี่ยง 3 ด้าน คือ (1) ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการลงทุนจากความเสี่ยงสงครามการค้าและการชะลอลงของจีน (2) ด้านเงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่าลง แต่บาทน่าจะน้อยกว่าค่าเงินเอเชียสกุลอื่น และ (3) ด้านดอกเบี้ยที่อาจเห็นการตึงตัวของดอกเบี้ยมากขึ้นในช่วงต่อไป

กับดักเศรษฐกิจไทยปรากฎเบื้องหน้าแล้ว นักธุรกิจและนักลงทุน เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]