“พระเอกตัวจริง” ของฟุตบอลโลกและเชียงราย

“พระเอกตัวจริง” ของฟุตบอลโลกและเชียงราย

เหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลกที่ได้แสดงความเห็นผ่านบทความ

 มาถึงการช่วยเหลือเด็กจังหวัดเชียงราย 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำนานเกือบ 10 วันเป็นผลสำเร็จ มีเรื่องราวน่าเล่าสู่กันฟังมากมาย บางคนบอกเป็น “บทเรียน” แต่ผมคิดว่าเป็น บทพิสูจน์อนาคตของประเทศว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปได้เลยทีเดียว

ความตื่นตัวของคนไทยในกีฬาฟุตบอลเป็นเรื่องดี แม้จะดูยากเย็นสำหรับการจะมีผู้เล่นไปเทียบกับดาวเด่นชั้นนำของโลก ทั้งด้วยสรีระร่างกายที่มีตัวอย่างชัดเจนในนัดการแข่งขันระหว่างญี่ปุ่น กับ เบลเยี่ยม ญี่ปุ่นทำดีที่สุดและเล่นด้วยวินัยและศักยภาพที่มีอยู่อย่างเข้มแข็ง แต่ด้วยความเปราะบางทางกายภาพและชั้นเชิงที่เหนือกว่าของฝ่ายตรงข้าม ญี่ปุ่น ไม่สามารถต้านแรงปะทะได้กระทั่งทำให้ฝ่ายเบลเยี่ยมเอาชนะไปได้ตามความคาดหมาย ถ้าเรายังมุ่งมั่นให้ทีมชาติไทยไปถึงเป้าหมายที่ไกลกว่านี้ การพัฒนาและคัดเลือกตัวผู้เล่นเราอาจไม่สามารถคิดแบบเดิมๆ ที่เลือกสรรตัวผู้เล่นที่เน้นความสามารถเฉพาะตัว แต่หากสามารถได้สัดส่วนความสูง น้ำหนักความแข็งแกร่งตัวต่อตัวกับคู่แข่งที่ทัดเทียมกัน จะมีความเป็นไปได้มากกว่า กรณีทีมจากอเมริกาใต้หลายทีมที่เล่นได้ดีด้วยความสามารถของผู้เล่นแต่เมื่อพบกับทีมจากยุโรปที่มีทั้งความสามารถและความแข็งแกร่งทางรายกายที่เหนือกว่า ดูเหมือนจะทำให้ทีมที่เป็นรองเหล่านั้นเล่นฟุตบอลเหมือนเด็กเพิ่งเริ่มหัดกันเลย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เชื่อว่าเป็นเหตุผลของการที่ญี่ปุ่นสามารถยันคู่ต่อสู้ได้กระทั่งถึงช่วงท้ายของการแข่งขัน คือ คำว่า “วินัย” ที่เราเชื่อมั่นว่า คำนี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้ได้เห็นถึงความสำเร็จทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของหลายประเทศไม่ว่าจะเยอรมันนีและญี่ปุ่นเอง เมื่อ “วินัยมาเกี่ยวพันกับการแข่งขันกีฬา” นักกีฬาต่างให้ความเคารพเชื่อฟังและยึดถือแนวทางที่ได้รับการฝึกปรือของผู้ฝึกสอนอย่างเคร่งครัด มีความเชื่อมั่นในแนวทางที่รับมาปฎิบัติไม่แตกแถว วิธีการเช่นนี้ ขออย่าคิดว่าเป็นเรื่องของการกดขี่หรือไม่เปิดโอกาสให้มีความคิดสร้งสรร เพราะความสร้างสรรค์เป็นการปรุงแต่งในการเล่นของแต่ละคน ถ้ามองในภาพรวมของทีมหรือส่วนรวม การเล่นตามการวางแผนที่รัดกุมและไม่บุ่มบ่ามทำให้ทีมสามารถต้านทานคู่ต่อสู้ในขั้นที่น่าพึงพอใจแม้ผลการแข่งขันสุดท้ายจะเป็นเช่นไร แต่เชื่อว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่น่าจะภาคภูมิใจกับทีมชาติของตนมาก

ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซีย ทางประเทศไทยเราเองมีเหตุการณ์สำคัญที่ถ้ำหลวงจังหวัดเชียงราย การระดมกำลังเจ้าหน้าที่ ผู้มีจิตอาสา การสนับสนุนของทุกภาคส่วนและด้วยพระบุญญาบารมีของพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแนวทางการช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำ พร้อมทั้งการจัดโรงทานพระราชทานเพื่อเลี้ยงอาหารให้แก่บุคคลที่เข้าไปช่วยเหลือในกิจการสำคัญนี้ ทำให้บังเกิดผลสำเร็จ สามารถค้นพบเด็กและผู้ฝึกสอนทีม “หมูป่า” ในสภาพที่แข็งแรงและปลอดภัย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับ “อุทาหรณ์หลายประการกรณีฟุตบอลโลก” มีทั้ง “ฮีโร่” และ “ซีโร่” ในเหตุการณ์เดียวกันคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ เท่าที่วิเคราะห์ดูด้วยความเป็นธรรม น่าจะเป็นเรื่องของ “จังหวะสถานการณ์” ที่มีทั้งสร้างและทำลายกันได้หากขาดความระมัดระวังและเข้าใจสาระสำคัญของเหตุการณ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

เรื่องของ “การเลือกใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส” เป็นสิ่งสำคัญที่นักบริหาร หรือ ผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกลต่างทราบดีว่า เป็น “ยุทธวิธี” สำคัญประการหนึ่งที่หากมีความแม่นยำและคาดเดาผลที่ตามมาจากการเลือกใช้โอกาสเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องจะเกิดผลในทางบวกอย่างมหันต์ เหมือนที่ฝรั่งมักเรียกว่าเป็น “game changer” แต่หากประเมินสถานการณ์ผิด ไปหยิบฉวยเอาโอกาสที่คิดว่าเหมาะว่าดี แต่ผิดจังหวะเวลาสถานการณ์ ปัญหาจะตามมานับไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน คงไม่ต้องไปยกตัวอย่างเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ในอดีต บางรัฐบาลมีความมั่นใจจะดำเนินนโยบายหลายอย่างเพราะเชื่อว่าเป็น “โอกาส” จึงรีบดำเนินการทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน กระทั่งกลายมาเป็นจำเลยทั้งของสังคมและในกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องมองอื่นไกลประเทศเพื่อนบ้านของเรา นายกรัฐมนตรีนาจิ๊บ ราซัก อยู่ในอำนาจอย่างมีความสุขใครจะนึกว่าวันดีคืนดีเขากลับถูกจับกุมและดำเนินดดีในการกระทำของเขาที่เขาเห็นว่า “มันคือโอกาสของเขา

ถ้าจะมองว่าทั้งฟุตบอลโลกและเชียงรายเป็นบทเรียนสำคัญที่นอกจากเราจะได้ปรับปรุงพัฒนาแผนเผชิญเหตุ และการจัดการแผนประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤตที่ขอเคลมว่า มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนนี้ขณะเป็นกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ( ก ป ช ) ดีใจมากที่ทางการได้นำแนวทางที่พวกเราได้นำเสนอไปใช้อย่างเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ แต่เราคงต้องเรียนรู้ทั้งจากข้อผิดพลาดและผลสำเร็จที่เกิดขึ้น งานนี้ในส่วนของผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่ ขออย่าไปคิดว่าใครคือ “พระเอก” เพราะคำว่า “พระเอก” อาจเป็นตัวทำลายความรักสามัคคีของพวกเราได้ แต่ถ้าจะกล่าวว่า พวกคุณทุกคน คือ “พระเอกตัวจริง” อันนี้ขอชื่นชมและยอมรับได้ เพราะมีคนอีกจำนวนมากที่อยู่เบื้องหลังและไม่มีโอกาสแสดงตนในที่สาธารณะอีกจำนวนมาก ท่านนายกรัฐมนตรีพูดถูกแล้วที่ท่านกล่าวทำนองว่า “คนดีทำดีได้ในทุกที่” ขอเป็นกำลังใจและสนับสนุนพลเมืองจิตอาสาด้วยความบริสุทธิ์ใจ