เศรษฐกิจไทยในสายตานักลงทุน

เศรษฐกิจไทยในสายตานักลงทุน

ช่วงนี้ผมชีพจรลงเท้า เดินทางบ่อย ล่าสุดสัปดาห์ที่แล้ว ไปประชุมเรื่องเศรษฐกิจที่สิงคโปร์ ได้พบและพูดคุยกับนักวิเคราะห์และนักลงทุนหลายคน

ทำให้ได้ข้อคิดมากเกี่ยวกับมุมมองนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยตอนนี้ วันนี้เลยอยากจะเล่าประเด็นเหล่านี้ให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ แบ่งเป็น 4 ประเด็น 

ประเด็นแรก เศรษฐกิจภูมิภาค หมายถึง เศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน คงจะเติบโตได้ดีในช่วงต่อไป ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับเศรษฐกิจไทยที่จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องตามไปด้วย ความห่วงใยที่นักลงทุนมองเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจภูมิภาคขณะนี้มี 2 เรื่องอย่างที่เคยเขียนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน คือ ผลกระทบของเงินทุนไหลออกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ และปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่จะกระทบการค้าโลกและเศรษฐกิจภูมิภาค ทั้ง 2 ประเด็นเป็นความเสี่ยง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจภูมิภาคควรจะสามารถบริหารจัดการได้ จากความเข้มแข็งที่เศรษฐกิจภูมิภาคมีที่จะช่วยลดผลกระทบของเงินทุนไหลออก ไม่ให้เกิดเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพ และในส่วนของการกีดกันทางการค้า ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การเติบโตของการค้าภายในภูมิภาคหรือ intra-regional trade น่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้การค้าของเศรษฐกิจในภูมิภาคสามารถเติบโตได้ต่อไป ช่วยลดทอนผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่จะทำให้การค้าโลกชะลอ

ประเด็นที่ 2 เศรษฐกิจไทย ประเด็นที่นักลงทุนจับตาขณะนี้คือ นโยบายการเงินของแบงค์ชาติว่าเมื่อไรจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้น และกระแสการไหลกลับของเงินทุนต่างประเทศที่ได้เริ่มกดดันราคาสินทรัพย์ ค่าเงินบาท และภาวะสภาพคล่องในประเทศ สำหรับแนวคิดที่จะให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับเดิมไปก่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยอมให้มีเงินทุนไหลออก ยอมให้เงินบาทอ่อนค่า เพื่อกระตุ้นการส่งออก นักวิเคราะห์มองว่า แนวคิดนี้ค่อนข้างเสี่ยง เพราะจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในภาวะราคาน้ำมันโลกกำลังปรับสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศจะสูงขึ้น กระทบความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออก ที่สำคัญ การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอาจมีต่อเนื่องเกินความพอดี จนท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการของทางการ และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจอย่างไม่จำเป็น เรื่องนี้ผมคิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรเริ่มปรับขึ้นเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่กำลังเร่งตัว เห็นได้จาก ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้น 1.38 % เดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับในเป้าอัตราเงินเฟ้อของแบงค์ชาติแล้ว

เรื่องดอกเบี้ยนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่แบงค์ชาติเรายังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และดูช้ากว่าประเทศอื่น ก็เพราะเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในการทำนโยบายการเงินได้ถูกเปลี่ยนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมาเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทำให้ผู้ทำนโยบายมองข้ามความสำคัญของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับลดลงมาก เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในเป้าเดิมของการทำนโยบายการเงินของแบงค์ชาติมาตลอด ทำให้ไม่มีการพิจารณาที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจนนานหลายปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรปรับสูงขึ้นจากนี้ไป เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ทั้งในแง่อัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพจากผลของเงินทุนไหลออก เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ

ประเด็นที่ 3 เศรษฐกิจภูมิภาคถูกประเมินว่าจะสามารถขยายตัวได้ดีอย่างน้อยอีก 2 - 3 ปีข้างหน้า จากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคมีอยู่ จากพลังการใช้จ่ายและกำลังซื้อของชนชั้นกลางในภูมิภาค และจากการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยภาครัฐที่กำลังทำอยู่ในหลายประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนประเภท private equity ที่เข้ามาร่วมทุนหรือซื้อกิจการเพื่อสร้างกำไรจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทและเศรษฐกิจ ต่างกับนักลงทุนหุ้นหรือพันธบัตรที่ลงทุนตามภาวะตลาดและทิศทางอัตราดอกเบี้ย ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF มองว่าเศรษฐกิจภูมิภาคจะขยายตัวได้ในระดับ 5% ช่วงปีนี้และปีหน้า การปฏิรูปตลาดทุนและด้านธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชนก็มีความก้าวหน้า ทำให้นักลงทุนมีความพร้อมที่จะลงทุนในบริษัทในภูมิภาคมากขึ้น อีกทั้งราคาทรัพย์สินในภูมิภาคก็ยังไม่แพงเทียบกับส่วนอื่นๆของโลก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนสนใจที่จะลงทุน และใช้ความรู้และเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการให้ธุรกิจเติบโตเพื่อขายทำกำไร ประมาณว่าขณะนี้มีเงินทุนที่ได้ระดมแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลล่าร์ ที่ประสงค์จะลงทุนเพื่อซื้อกิจการหรือร่วมทุนกับบริษัทเอกชนในภูมิภาค ถือเป็นโอกาสทองของเศรษฐกิจภูมิภาคที่จะใช้ประโยชน์เงินทุนเหล่านี้ หลายประเทศในภูมิภาคก็มีการปรับนโยบายเพื่อรองรับความต้องการเหล่านี้ ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เวียดนาม ที่ประกาศจะแปรรูปวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ เพื่อใช้ประโยชน์เงินทุนเหล่านี้ ทำให้ประเทศที่มีความพร้อมในแง่นโยบาย บุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานจะได้ประโยชน์ 

ประเด็นสุดท้าย ในแง่ความสามารถที่จะดึงดูดเงินทุนเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ ประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เห็นได้จากตัวเลขเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนปัญหาสำคัญ 2 ปัญหาที่เรามี คือ ความไม่พร้อมในโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการลงทุนสมัยใหม่ที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับสูง เป็นปัญหาด้านฮาร์ดแวร์ (Hardware)  อีกปัญหาคือ การขาดแคลนบุคลากรและทักษะแรงงานระดับสูงที่จะยกระดับความสามารถในการผลิตของประเทศให้สูงขึ้น คือ ปัญหาด้านซอฟแวร์ (Software) ทั้งสองข้อจำกัดนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างประเทศอย่างที่ควร โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถที่จะทำงานกับการลงทุนใหม่ ทำให้ประเทศขาดโอกาส และเมื่อคุณภาพแรงงานของประเทศไม่มีการพัฒนา ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ ทำให้ผลิตภาพหรือความสามารถของแรงงานในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการผลิตให้กับประเทศลดลงต่อเนื่อง เป็นข้อจำกัดต่อการลงทุนและการขยายตัวของเศรษฐกิจ นี่คือ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไขเพื่อยกระดับความสามารถในการผลิตของประเทศให้สูงขึ้น แต่เมื่อไม่มีการแก้ไข โอกาสเหล่านี้ก็จะเป็นของประเทศอื่น ทำให้ประเทศไทยจะยังติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางต่อไป

นี่คือ 4 ประเด็นที่เป็นมุมมองขณะนี้