วิกฤติต้มยำกุ้ง….ให้…อะไรกับระบบสถาบันการเงินไทย

วิกฤติต้มยำกุ้ง….ให้…อะไรกับระบบสถาบันการเงินไทย

วันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540

จุดเริ่มต้นของวิกฤติต้มยำกุ้งที่สะเทือนภูมิภาคเอเชีย ถ้าท่านผู้อ่านมองกลับไปแล้วมันคือความทรงจำที่เจ็บปวดคงจะไม่เป็นถือว่าเกินจริง … งาน รายได้ เงินเก็บ เงินลงทุน บ้านกับรถที่ผ่อนหายไปกับตา ชีวิตครอบครัวและความฝันที่หักเหของคนไทยรวมถึงตัวผมเอง

สาเหตุและผลของวิกฤติก็มีการวิเคราะห์กันไปมากแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าระบบสถาบันการเงินถือเป็นต้นเหตุหลักของวิกฤติ แต่ 20 ปีผ่านไประบบแบงค์ไทยเปลี่ยนไปขนาดไหน ถ้าให้เห็นภาพเราลองมาเทียบ key ratios หลักๆในช่วงวิกฤติกับปัจจุบัน …

ในด้านคุณภาพสินเชื่อ ในช่วงวิกฤติ สัดส่วนหนี้เสีย (NPL Ratio) สูงถึง 43% พูดง่ายๆคือ จากเงินปล่อยกู้ร้อยบาท กลายเป็นหนี้เสียถึงสี่สิบสามบาท ช่วงนั้นยอดหนี้เสียทั้งระบบธนาคารพาณิชย์สูงถึง 2.5 ล้านๆบาท ตัวเลขนี้สูงมากนะครับเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจถึงประมาณ 50% ของ GDP ในขณะที่ปัจจุบัน NPL Ratio ทั้งระบบอยู่ที่ 2.9% เป็นยอดประมาณ 4 แสนล้านบาทอยู่ที่ประมาณ 4% ของ GDP

ในด้านสภาพคล่อง ในช่วงวิกฤติ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan-to-Deposit Ratio) อยู่ในระดับสูงถึง 130% หมายความว่าระบบแบงค์ปล่อยกู้ไปถึงหนึ่งร้อยสามสิบบาทในขณะที่มีเงินฝากแค่ร้อยบาท สภาพคล่องตึงตัวมาก คำถามที่ตามมาคือแล้วแบงค์เอาเงินที่ไหนมาปล่อยกู้เกินตัวเมื่อเทียบกับเงินฝากที่มี คำตอบคือระบบแบงค์ไปกู้แบงค์ในต่างประเทศที่มีระดับดอกเบี้ยต่ำกว่ามาอีกที จำได้มั้ยครับดอกเบี้ยบ้านช่วงนั้น 20% ในขณะที่แบงค์เองกู้ต่างประเทศจ่ายแค่ 5% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ขัดกับกลไกตลาดก็เป็นส่วนหนึ่งที่บิดเบือนพฤติกรรมของระบบแบงค์ให้ไปกู้นอกมาปล่อยในไทย นำมาสู่ภาระหนี้ต่างประเทศมหาศาล

ในด้านเงินทุนเพื่อรองรับความเสี่ยง ในช่วงวิกฤติ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสียง (Capital Ratio) อยู่ในระดับต่ำเพียง 8.7% พูดง่ายๆคือจากสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งหลักๆคือเงินปล่อยกู้หนึ่งร้อยบาท ระบบแบงค์มีส่วนทุนที่ใช้รองรับหนี้สูญหรือการด้อยค่าของสินทรัพย์อื่นๆแค่ประมาณเก้าบาท ถ้าเทียบกับปัจจุบันตัวเลขทั้งระบบอยู่ที่ 18%

จะเห็นได้ว่าระบบสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งขึ้นมาก ผลจากวิกฤติคราวนั้นที่ทำให้แบงค์และหน่วยงานที่กำกับดูแลปรับตัวทั้งเชิงโครงสร้างและพฤติกรรม จากมุมของระบบธนาคารพาณิชย์แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤติโดยหลักแล้วมีอยู่สี่เรื่องด้วยกัน

1) รูปแบบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ก่อนวิกฤติ Business Model หลักคือให้สินเชื่อบนพื้นฐานของหลักประกัน (Collateral-based Lending) คือไม่ได้สนใจมากว่าเงินที่ปล่อยกู้ไปนั้นจะถูกใช้อย่างไร ให้กับลูกค้าที่มีโครงการที่มีผลตอบแทนทางธุรกิจที่ดีหรือไม่ สนใจอยู่เรื่องเดียวคือหลักประกันหลักเช่นที่ดินและโรงงาน แน่นอนครับการที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์กำลังถึงขีดสุดในช่วงนั้นหมายถึงราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่จ่ายคืนไม่เป็นไร ยึดที่ดินรอขายก็ได้กำไร ทำให้ในบางกรณีอาจจะเรียกว่าปล่อยกู้เพื่อยึดที่ดินหรือโรงงานกันเลย ต้องเรียนว่านี่คือเรื่องในอดีตที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใสและคดีความมากมาย ซึ่งปัจจุบันการปล่อยกู้ระบบแบงค์หันมาปล่อยกู้แบบ Business-based Lending กล่าวคือ หลักประกันต้องมาทีหลังความสามารถในการทำธุรกิจของลูกค้า

2) ธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น ก่อนวิกฤติระบบสถาบันการเงินมีประเด็นด้านความโปร่งใสในการปล่อยสินเชื่อ อำนาจการอนุมัติสินเชื่อบางกรณียังอยู่ที่ระดับสาขา ไม่ได้มาจากส่วนกลาง ไม่ต้องพูดถึงคณะกรรมการสินเชื่อ (Credit Committee) ที่เป็นอิสระและมีการคานอำนาจ ซึ่งปัจจุบันระบบแบงค์ได้มีการปรับปรุงในส่วนนี้ไปมากแล้ว

3) การบริหารความเสี่ยงและการรายงานและเปิดเผยข้อมูลที่ดีขึ้น ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะยังไม่ทราบว่านิยามของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SM หรือ Special Mention) เพิ่งเกิดขึ้นหลังวิกฤติ พูดง่ายๆคือเมื่อก่อนไม่มีมาตรฐานในการบันทึกหนี้ที่ถูกชำระคืนล่าช้าอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ต่างแบงค์ต่างบันทึก แน่นอนครับตามมาด้วยปัญหา Cherry Picking และ Under-reporting ในด้านการบริหารความเสี่ยงก็มีการปรับปรุงตามเกณฑ์มาตรฐานสากล Basel ซึ่งมีความรัดกุมในเชิงความเสี่ยงด้านเครดิตมากขึ้น อีกทั้งยังครอบคลุมความเสี่ยงด้านอื่นๆมากขึ้น เช่นด้านสภาพคล่อง ด้านปฏิบัติการและด้านตลาด

4) Asymmetric Information ที่ลดลง หลังวิกฤตินำมาสู่การจัดตั้งบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ซึ่งเป็นจุดรวมศูนย์การบันทึกและตรวจสอบประวัติทางการเงินของลูกค้า นำมาสู่การแชร์ข้อมูลเครดิตระหว่างสถาบันการเงิน ไม่ใช่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้กับที่นึงแล้วไปขอกู้ใหม่จากอีกสถาบันการเงิน จุดนี้ทำให้ระบบประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ได้ถูกต้อง คนที่ประวัติดีก็มีโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า แก้ปัญหา Lemon Problem ไป

จริงๆแล้วระบบสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการปรับปรุงไปอีกมากนะครับ เช่นการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากและศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์