ม็อบฟุตบอล ต้นกำเนิดของฟุตบอลเมืองผู้ดี

ม็อบฟุตบอล ต้นกำเนิดของฟุตบอลเมืองผู้ดี

อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจลูกหนังโลก การที่คนอังกฤษชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบนเกาะแห่งนี้ มีการเล่นเกม

ที่ใช้ลูกบอลมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 เกมที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นที่คลั่งไคล้ก็คือ ม็อบฟุตบอล ซึ่งเริ่มเล่นกันอย่างแพร่หลายในช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า เมล็ดพันธุ์ในวันนี้ คือ หนึ่งในใบเบิกทางสำคัญสู่การเข้าใกล้ถ้วยบอลโลกปีนี้ของทีมอังกฤษ

นักประวัติศาสตร์หลายคนพยายามอธิบายสาเหตุของความคลั่งไคล้ฟุตบอลของคนอังกฤษ ซึ่งสรุปได้เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกเชื่อว่า เกมนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความพ่ายแพ้ของอาณาจักรโรมัน ส่วนกลุ่มที่ 2 เห็นต่างไป พวกเขาเห็นว่าม็อบฟุตบอลไม่ใช่เกมประจำถิ่น แต่ได้รับการเผยแพร่มาจากเผ่านอร์มังของฝรั่งเศส ที่เข้ามาบุกรุกประเทศอังกฤษในช่วงเวลานั้น เพราะมีหลักฐานว่า ชาวนอร์มังมีการเล่นเกมที่คล้ายกันนี้มาก่อนหน้าคนอังกฤษมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับกลุ่มที่ 3 พวกเขาเชื่อมโยงการเล่นบอลเข้ากับพิธีกรรมเพื่อบูชาพระอาทิตย์โดยใช้ลูกบอลเป็นตัวแทน เพราะผู้ที่ร่วมพิธีกรรมเชื่อว่าการเล่นเกมนี้จะช่วยให้พืชผลที่เพาะปลูกไว้เจริญงอกงาม

กลุ่มสุดท้ายเชื่อว่า คนอังกฤษได้รับอิทธิพลมาจากกีฬาคัลโชของอิตาลี ซึ่งแต่ละทีมมีผู้เล่นฝ่ายละ 27 คน ใช้มือและเท้าในการส่งฟุตบอลให้ผู้เล่นคนอื่นทีมของ ทีมไหนสามารถส่งลูกบอลไปยังจุดที่ทำเครื่องหมายเอาไว้ของฝ่ายตรงข้ามได้ก็จะได้รับคะแนนไป จากกติกาของเกมที่คล้ายกับม็อบฟุตบอลของอังกฤษนี้เอง เลยทำให้หลายคนเชื่อกันว่าคัลโชคือต้นกำเนิดของม็อบฟุตบอล

โดยปกติ ม็อบฟุตบอลจะเป็นการแข่งขันระหว่างหมู่บ้านในช่วงที่มีเทศกาลหรืองานเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษต่างๆ กติกาก็ไม่ยาก แค่พยายามนำลูกบอลไปให้ถึงจุดที่เป็นที่ประชุมของหมู่บ้านฝ่ายตรงข้าม ข้อห้ามเพียงอย่างเดียวคือ ห้ามทำร้ายฝ่ายตรงข้ามจนถึงตาย ส่วนจะหัวร้างข้างแตก แขนขาหัก พิกลพิการก็ไม่เป็นไร และไม่ได้จำกัดว่าแต่ละฝ่ายจะมีผู้เล่นกี่คน ลองนึกภาพดูเอาเองแล้วกันว่า คนเป็นร้อยๆ เตะต่อยกันเพื่อแย่งลูกบอลแค่ลูกเดียวมันจะชุลมุนวุ่นวายขนาดไหน

พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 2 ทรงเล็งเห็นว่า โรคคลั่งฟุตบอลของคนอังกฤษในยุคนั้นชักจะเลยเถิดไปกันใหญ่ ความรุนแรงของเกมทำให้มีคนบาดเจ็บกันเป็นจำนวนมาก แถมยังส่งผลกระทบต่อการทำมาค้าขาย เพราะพอแข่งกันที ร้านรวงทั้งหลายก็ต้องปิด ถ้าขืนเปิดไว้ ดีไม่ดีจะถูกลูกหลงจนข้าวของเสียหายได้ ที่หนักกว่านั้น แม้แต่เหล่าทหารก็ยังแอบโดดงานไปเล่นกับเขาด้วย ทั้งที่ช่วงเวลานั้นอังกฤษกับฝรั่งเศสกำลังมีความขัดแย้งกัน อาจจะเกิดสงครามขึ้นตอนไหนก็ได้ ด้วยเหตุนี้เอง พระเจ้าเอ็ดวาร์ดจึงทรงออกกฎหมายห้ามการเล่นม็อบฟุตบอลในวันที่ 13 เม.ย. 1349 แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถห้ามเหล่าสาวกลูกหนังได้สำเร็จ

แม้ว่าม็อบฟุตบอลเป็นเหมือนโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วทุกแห่งและทุกชนชั้น แต่สำหรับชนชั้นสูง พวกเขายังรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะต้องออกไปชกต่อยกันกลางถนนราวกับอันธพาล จึงได้ดัดแปลงกฎกติกาเพื่อให้มีความสุภาพมากขึ้น มีการจำกัดจำนวนผู้เล่น ลดการใช้ความรุนแรงให้น้อยลง

กติกาใหม่ที่กำหนดขึ้นถูกนำไปใช้ในการเล่นฟุตบอลในโรงเรียนของรัฐ รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ คนหนุ่มรุ่นใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะรวมตัวกันที่เมืองลอนดอนและเมืองเชฟฟิลด์ การรวมตัวในลักษณะนี้เองที่เป็นก้าวแรกของการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลต่างๆ ในประเทศอังกฤษ

ในปี 1815 โรงเรียนอีตัน ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนชั้นนำของอังกฤษ ได้ร่างกฎกติกาการเล่นฟุตบอลที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างนำไปใช้ในการแข่งขัน ซึ่งตั้งแต่ปี 1848 กฎนี้ก็ถูกเรียกว่าเคมบริดจ์รูลส์ กฎนี้ห้ามไม่ให้มีการทำร้ายร่างกาย และไม่ใช้มือในการส่งลูกฟุตบอล ถึงแม้กฎนี้จะเริ่มได้รับการยอมรับ แต่ก็ยังมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เล่นโดยใช้กติกาของตนเอง

วันที่ 28 ต.ค.1863 สโมสรฟุตบอลในลอนดอน 11 แห่ง และโรงเรียนต่างๆ ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมที่ร้านฟรีเมสัน เพื่อร่วมกันกำหนดกติกาการเล่นฟุตบอลที่เป็นมาตรฐาน สาเหตุที่ต้องมีกฏิกากลางก็เพราะในสมัยนั้นโรงเรียนชั้นนำของประเทศอังกฤษแต่ละแห่ง ก็มีกติกาของตัวเอง พอ 2 โรงเรียนจะแข่งกันเลยต้องเจรจากันก่อนว่าจะใช้กติกาของใครในเรื่องไหนบ้าง ซึ่งบางครั้งอาจใช้เวลานาน เผลอๆ ตกลงกันไม่ได้เลยอดแข่งกันก็มี

การประชุมครั้งนั้นได้กลายเป็นจุดกำเนิดของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของเป็นหนึ่งมหาอำนาจด้านฟุตบอลของโลก จากม็อบฟุตบอลในวันนั้นถึงการเข้ารอบฟุตบอลโลกในวันนี้ ต้องบอกเลยว่า อังกฤษมาได้ไกลเหลือเกิน