ประชากรโลกชาวพุทธกำลังลดลง

ประชากรโลกชาวพุทธกำลังลดลง

จาก 487 ล้านคนในปี 2010 ประชากรชาวพุทธในโลกจะลดลงเหลือ 486 ล้านคนในปี 2050 โดยประชากรชาวคริสต์ที่ครองแชมป์โลกมาตลอดจะยังครองแชมป์อยู่ต่อไป

คือ จากจำนวน 2.2 พันล้านในปี 2010 จะเพิ่มเป็น 2.9 พันล้านในปี 2050

ในขณะที่อัตราการเพิ่มของชาวอิสลามซึ่งอยู่ในระดับสูงที่สุดในโลกจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโดยสัดส่วนในแต่ละประเทศและจำนวนประชากรโดยรวม จากจำนวน 1.6 พันล้านในปี 2010 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านในปี 2050 ทำให้ภายในอีก 50 ปีต่อไปก็จะชิงแชมป์จากประชากรชาวคริสต์คาดการณ์ว่า ในปี 2100 ประชากรโลกชาวอิสลามจะมีมากกว่าประชากรชาวคริสต์

นอกจากแนวโน้มจำนวนประชากรโลกที่นับถือศาสนาพุทธคริสต์ อิสลามยังมีแนวโน้มของชาวฮินดู ชาวซิกข์ ชาวขงจื๊อ ชาวยิวฯ ซึ่งเก็บข้อมูลจาก 70 ประเทศเสนอในรายงานปี 2011 ของ Pew Research Center : religion & public lifeในสหรัฐ

ปัจจัยหลักที่ทำให้ภูมิทัศน์ทางศาสนาของโลกเปลี่ยนแปลง คือ อายุของประชากรและ ภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีหรืออัตราการมีลูกของผู้หญิง

กล่าวคือ อายุประชากรชาวอิสลามในขณะนี้อยู่ในวัยหนุ่มสาวกว่า และหญิงอิสลามมีลูกมากกว่าอัตราทดแทน คือประมาณ 2.6 ในขณะที่ประชากรชาวคริสต์แม้จะครองแชมป์จำนวนมากมาตลอด แต่โดยเฉลี่ยอายุมากกว่ามีคนแก่มากกว่าการตายจึงสูสีการเกิดและต่อไปก็จะมีตายมากกว่าเกิด

อีกทั้งหญิงชาวคริสต์และหญิงชาวพุทธก็เหมือนกันตรงที่มีลูกน้อยกว่าอัตราทดแทน คือ ประมาณ 1.6 เท่านั้นเอง โดยเฉพาะในยุโรปที่มีประชากรชาวคริสต์หนาแน่นที่สุดโดยสัดส่วนในประเทศภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำมานานแล้วในประชากร สตรีในยุโรปนับแต่ครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 เมื่อมาบวกกับการตายของผู้สูงอายุชาวคริสต์ขณะนี้ ยุโรปจึงมีตายมากกว่าเกิด

ประมาณว่าถึงปี 2035 จำนวนทารกเกิดในหมู่ประชากรโลกชาวอิสลามจะเริ่มมีมากกว่าจำนวนทารกเกิดในหมู่ชาวคริสต์

คณะผู้วิจัยใช้สมมติฐานที่ว่าความเชื่อทางศาสนาโดยทั่วไปสืบทอดมาจากแม่จึงใช้คำว่า “ทารกเกิดในหมู่ชาวคริสต์ (babies born to Christians)” หรือ “จำนวน(ทารก)เกิดในหมู่ชาวคริสต์(Christian births)” โดยเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “ทารก(นับถือ)คริสต์(Christian babies)”หรือ “ทารก(นับถือ)พุทธ” อะไรทำนองนี้ เพราะไม่เหมาะที่จะกำหนดว่าทารกนับถือศาสนาใด อีกทั้งก็อาจเปลี่ยนศาสนาได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ซึ่งในการวิจัยได้ คิดในทางสถิติเผื่อไว้ด้วยแล้วการแบ่งประชากรตามศาสนาที่นับถือก็แบ่งกว้างๆ เช่น ชาวคริสต์ก็รวมทุกนิกายไม่จำแนกโรมันแคธอลิก โปรแตสแตนท์ ออร์ธอดอกซ์ ชาวพุทธก็ไม่จำแนกมหายาน หีนยาน วัชรยาน ชาวอิสลามก็ไม่จำแนก สุหนี่หรือชีอะห์

 หนึ่งแนวโน้มที่น่าจับตาคือ การเพิ่มของประชากรโลกที่ไม่อยู่ในกลุ่มศาสนาใด ไม่เชื่อไม่นับถือพระเจ้าองค์ใด(the unaffiliated /agnostics and atheists )โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และในเอเชีย-แปซิฟิกมีมากกว่า 1.1 พันล้านคนในปี 2010 ซึ่งนับว่ามากกว่าชาวฮินดูที่มี 1 พันล้านมากกว่าชาวพุทธที่มีระดับประมาณ 500 ล้านเสียอีก ทำให้สถิติประชากรโลกกลุ่มนี้เป็นอันดับ 3 รองลงมาจากประชากรชาวมุสลิมที่มี 1.5 พันล้านซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากประชากรโลกชาวคริสต์ที่มีระดับ 2 พันล้าน

มีการระบุด้วยว่าประชากรโลกไม่อยู่ในกลุ่มศาสนาใดไม่เชื่อไม่นับถือพระเจ้าองค์ใดส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย-แปซิฟิกโดยส่วนมากอยู่ในจีน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนใจจะนับถือศาสนา ก็หันไปหาศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธ

 การเพิ่มของประชากรกลุ่มไม่นับถือศาสนาใดนี้จะดำเนินต่อไปในอเมริกาเหนือยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์จนถึงปี 2050 ยกเว้นในเอเชีย-แปซิฟิกที่จะลดจำนวนลงบ้าง

อย่างไรก็ดี ถึงปี 2050 จำนวนประชากรโลกที่ไม่อยู่ในกลุ่มศาสนาใดไม่เชื่อไม่นับถือพระเจ้าองค์ใดจะลดลงด้วยสาเหตุหลักที่อัตราการเกิดต่ำนั่นเอง เพราะประชากรกลุ่มนี้มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกแม้เปรียบเทียบกับกลุ่มที่นับถือศาสนา ผู้ซึ่งแม้จะมีอัตราการเกิดที่ว่าต่ำเช่น ชาวคริสต์และชาวพุทธ อัตราการเกิดในกลุ่มประชากรโลกที่ไม่นับถือศาสนาใดไม่เชื่อไม่รับถือพระเจ้าองค์ใดอยู่ดีก็ยังต่ำกว่าอยู่ดีทำให้โดยรวมในประชากรโลกกลุ่มไม่นับถือศาสนาใดมีเกิดน้อยกว่าตาย

อัตราการเกิด-ตาย ที่ไม่สมดุลกันนานๆ ทำให้เกิดสังคมผู้สูงอายุ เช่น ในยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้งไทยที่อัตราการเกิดลดลงต่อเนื่องหลายทศวรรษจนต่ำกว่าระดับทดแทนและปลุกเท่าไรก็ไม่ขึ้น คือประมาณ 1.4-1.6 ต่ำพอๆ กับหญิงญี่ปุ่น เพียงแต่สังคมญี่ปุ่นเหมือนสังคมยุโรปตรงที่รวยก่อนแก่ แต่ของไทยแก่ก่อนรวย

นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจสังคมสังคมไทยอาจต้องใส่ใจปัจจัยศาสนาที่ส่งผลถึงอัตราการเกิดด้วยหากว่าไม่เคยมองมาก่อนน่ารู้ว่าฐานข้อมูลของไทยที่คณะนักวิจัยของPew Research Center ใช้อยู่โดยถือว่าประชากรไทยชาวพุทธโดยสัดส่วนในประเทศมี 98%  ยังเป็นจริงอยู่หรือไม่

ยิ่งมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ประกาศไม่นับถือพระเจ้าองค์ใดและได้คะแนนนิยมทางการเมืองในระดับดียิ่งน่าตั้งคำถามกับฐานข้อมูลเดิม ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรหนุ่มสาว

น่าจะมีการสำรวจทางประชากรศาสตร์ตามศาสนาที่นับถือ (religious demography )และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆรวมทั้งแนวโน้มของกลุ่มที่ไม่นับถือศาสนาใดด้วย

อีกทั้งควรจำแนกนิกายพุทธ เช่นหีนยาน(เถรวาท) มหายาน วัชรยาน และอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรสตรีอาจพบความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญตามที่มีนักวิชาการพุทธศาสนาคนสำคัญๆของโลก เช่น ริชาร์ด กอมบริช คาดการณ์มานานแล้วว่าหญิงไทยการศึกษาดีขึ้นโลกทัศน์กว้างขึ้นจะมีทางเลือกมากกว่านับถือพุทธเถรวาท.