จัดประเภทความเสี่ยง

จัดประเภทความเสี่ยง

จากคอลัมน์ฉบับก่อนหน้า ผมได้ทิ้งทายไว้ เรื่องจัดประเภทความเสี่ยง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk-based model)

เนื้อหาที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นการถ่ายทอดแนวคิดด้วยภาษาง่าย ๆ ผสมผสานระหว่างทฤษฎี ประสบการณ์ และปรัชญาด้านการลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางให้กับผู้ลงทุนนำไปวิเคราะห์ เพื่อใช้จัดประเภทความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้

ผมขอเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองก่อน โดย ดูจากอายุการทำงานของคุณ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอายุ 24 ปี และมีแผนเกษียณการทำงานตอนอายุ 60 ปี นั่นแปลว่า คุณมีเวลาทำงานทั้งหมด 36 ปี ซึ่งยิ่งมีมาก คุณจะสามารถรับความเสี่ยงได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากอายุยังน้อยรับความเสี่ยงได้มาก แนวทางการลงทุนอาจเป็นลักษณะระยะสั้นเพื่อใช้จ่ายสำหรับเป้าหมายส่วนตัวที่ชัดเจน เช่น บ้านและรถยนต์ วัยกลางคนหรือเริ่มมีครอบครัว การลงทุนควรเน้นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว และเริ่มมองหาการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ รวมถึงค่าการศึกษาบุตร ช่วง 10 ปี ก่อนเกษียณ อายุ 51-59 ปี เน้นการออมเงินระยะยาวเพื่อใช้จ่ายยามเกษียณเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับอายุช่วงนี้ เนื่องจากความสามารถรับความเสี่ยงได้น้อยลง ประการต่อมา เป็นเรื่องความรู้ความเข้าใจในการลงทุน นอกเหนือจากทุนทางการเงินของแต่ละคนที่ไม่เท่ากันแล้ว การศึกษาของผู้ลงทุนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างกัน แต่ทั้งสองสิ่งสามารถสะสมเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา ฉะนั้น “กฎเหล็ก” หนึ่งข้อที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจเสมอ คือ อย่าตัดสินใจลงทุนในสิ่งที่คุณไม่รู้จักว่าคืออะไร และไม่เข้าใจถึงกลไกในการสร้างผลตอบแทนว่าเป็นอย่างไร

ความเสี่ยง (Risk) ในการลงทุนสามารถ มี 2 ชนิด คือ 1) ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic) คือ ความไม่แน่นอนซึ่งมีการลงทุนโดยรวม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น สงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้ เป็นต้น และ 2) ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ(Unsystematic)หมายถึง บริษัท หรือ ธุรกิจ เช่น การล่มสลายของธุรกิจเดิมที่เกิดจากธุรกิจรูปแบบใหม่ (Disruption) แต่ เราสามารถจัดการกับความเสี่ยงประเภทนี้ให้ลดลงได้ ด้วยการกระจายการลงทุนไปยังหลายธุรกิจหรืออุตสาหกรรม

จากความแตกต่างของปัจจัยด้านเงินทุน ความรู้ความเข้าใจ ช่วงอายุ และความเสี่ยง แนวทางการลงทุนที่เหมาะสมของผู้ลงทุนแต่ละคนจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การจัดพอร์ตการลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์ (Asset allocation) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เพราะสามารถตอบโจทย์ในด้านการกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การมีธุรกิจบริหารกองทุน ที่มีผลิตภัณฑ์กองทุนหลายรูปแบบ ทำให้ผู้ที่มีความประสงค์จะลงทุนแต่มีเงินทุนน้อยสามารถลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์ได้ แปลว่า เงินเพียงหลักพันบาท ก็สามารถจัดเป็นพอร์ตการลงทุนได้

ในบทความฉบับหน้า ผมจะนำเสนอ พอร์ตการลงทุนที่จัดลำดับผลตอบแทน ตามค่าความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ถึงตอนนั้น เรามาลองดูกันว่า สินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้พอร์ตเหล่านั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าหากใจร้อนและสนใจศึกษาเพิ่มเติม ผู้อ่านสามารถใช้คีย์เวิร์ด Strategic asset allocation model, Target date fund, Income Fundในการค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตได้ หรือสามารถเข้าไปดูแบบจำลองการลงทุน (Portfolio model) ที่มีอยู่มากมายตามเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุน