เอ็กซ์โพเนนเชียล...เทคโนโลยีเปลี่ยนคนต้องก้าวกระโดด

เอ็กซ์โพเนนเชียล...เทคโนโลยีเปลี่ยนคนต้องก้าวกระโดด

ตอนเป็นเด็กดิฉันเคยฟังนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่าที่วิ่งแข่งกัน เจ้ากระต่ายที่วิ่งไวดูยังไงก็ชนะกลับชะล่าใจ

คิดว่างีบหลับสักครู่เจ้าเต่าก็คงยังตามไม่ทัน แต่มันเผลอหลับยาวพอตื่นขึ้นมามองไม่เห็นเต่าก็ตกใจวิ่งสุดชีวิตแต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว มันต้องพ่ายแพ้เจ้าเต่าที่เดินอย่างคงเส้นคงวาและเข้าเส้นชัยไปในที่สุด นี่คือกระต่ายกับเต่าในโลกนิทานที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ

เมื่อเร็วๆ นี้ดิฉันไปร่วมงานสัมมนา SingularityU Thailand Summit 2018 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย นับเป็นงานสำคัญที่รวมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ ในภาคพื้น Asia-Pacific มารับฟังข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ได้รับการกระตุกความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้ตื่นตัวกับเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดด (Exponential Technology) ตลอดสองวันนั้นมีข้อมูลที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนคนตามแทบไม่ทัน ทำให้ดิฉันนึกถึงเจ้ากระต่ายในนิทานขึ้นมาอีกครั้ง

แต่เจ้ากระต่ายที่ดิฉันนึกถึงมันไม่ได้เผลอหลับเหมือนในนิทาน มันคือกระต่ายยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น (Digital Disruption) ที่เป็นตัวแทนของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่วิ่งไปไม่หยุดด้วยอัตราเร็วเหมือนกราฟเอ็กซ์โพเนเทียล (Exponential) ในขณะที่เจ้าเต่าเป็นตัวแทนของคนที่กำลังปรับตัวตามเทคโนโลยีด้วยอัตราเร็วเหมือนกราฟเส้นตรง (Linear) เมื่อกราฟทั้งสองวิ่งมาตัดกันจะพบว่าเมื่อเลยจุดตัดนั้นไปแล้วกระต่ายจะวิ่งเร็วจี๋และวิ่งหนีเต่าออกไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่น่าตกใจคือ “คน” กำลังอยู่ในบริเวณที่เลยจุดตัดนั้นมาแล้วและต้องหาทางเร่งตัวเองให้เท่าทันอย่างไรดี

สาเหตุที่ทำให้ยุคนี้เป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่ายุคไหนๆ ก็คือการมาบรรจบกันของเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ที่ถูกพัฒนามาอย่างไม่หยุดยั้ง เริ่มจากเทคโนโลยีในการทำชิปประมวลผลที่ กอร์ดอน มัวร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอินเทลได้ทำนายไว้ว่าทุกๆ 2 ปี ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวมจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในอนาคตชิปประมวลผลจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลงมาก มัวร์ทำนายไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้วและมันได้กลายเป็นความจริงในยุคปัจจุบัน ที่ความสามารถในการประมวลผลถูกยกระดับไปเป็น Quantum Computing ซึ่งปฏิวัติวงการเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลไปโดยสิ้นเชิง แนวคิดนี้เป็นที่รู้จักและเรียกกันว่า กฎของมัวร์ (Moore’s Law)

ความล้ำสมัยของชิปประมวลผลเมื่อมาบรรจบกับเทคโนโลยีชั้นนำอื่นๆ ที่โผล่ขึ้นมาในเวลาเดียวกัน เช่น Big Data, AI, Machine Learning, Cloud Computing, IoT และ อื่นๆ ทำให้เกิด platform ในการทำธุรกิจแบบใหม่ที่เปลี่ยน Business Landscape ไปโดยสิ้นเชิง platform เหล่านี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้บทบาทของคนกลางในการทำธุรกิจไม่จำเป็นอีกต่อไป ใครที่เป็นเจ้าของ platform ย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่เสมอ เช่น Amazon, Alibaba, และ facebook เป็นต้น

ดิฉันคิดว่าผู้ร่วมสัมมนาท่านอื่นๆ คงมีความคิดคล้ายกันว่าเราจะทำธุรกิจด้วยวิธีแบบเดิมไม่ได้แล้วและจะต้องเตรียมคนให้มีวิธีคิดและปฏิวัติวิธีการทำงานให้ตามโลกได้ทัน การวางแผนธุรกิจต้องแน่ใจว่าเราวางกำลังคนของเราให้ commit ไปกับการเปลี่ยนแปลงบนนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะการแข่งขันในยุคนี้แข่งกันที่นวัตกรรม มันจะช่วยทำให้เราสร้างคุณค่าและตอบโจทย์ให้ลูกค้าได้มากขึ้น

ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหนลูกค้าของเราก็คือ “คน” นวัตกรรมทั้งหลายที่คนทั้งโลกเป็นลูกค้าและใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็ล้วนแล้วแต่ตอบสนองความต้องการได้ โดนใจ หรือช่วยแก้ปัญหาในชีวิตผู้คนได้ ถูกจุดแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้คนของเราจึงต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการทำงานแบบที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลักและต้องเข้าใจปัญหาหรือความคับอกคับใจของลูกค้า (pain point) ได้อย่างลึกซึ้งจนสามารถมองทุกอย่างผ่านมุมมองของลูกค้าได้ แนวคิดนี้เรียกว่า Human Centered Design หรือ Design Thinking ที่องค์กรนวัตกรรมชั้นนำทั้งหลายใช้กันอยู่นั่นเอง

Design Thinking เป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมที่จะเป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าของปัญหาโดยยึดลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง ที่ SCB เราจัดหลักสูตร Design Thinking ให้กับพนักงานทุกระดับ โดยหลักสูตรและ learning platform ที่เราใช้ถูกออกแบบโดยความร่วมมือของบริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลกที่ใช้ Design Thinking สร้างนวัตกรรมให้กับลูกค้าและเป็นผู้ออกแบบเมาส์คอมพิวเตอร์ (mouse computer) ตัวแรกให้กับ Apple

ในหลักสูตรนี้เราสอนกระบวนการคิดและปลูกฝัง mindset ตามขั้นตอนต่างๆ ของ Design Thinking Process โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง การค้นหาไอเดียและแนวคิดเพื่อนำไปทดลอง การทำตัวต้นแบบและการทดสอบไอเดีย ใน workshop พนักงานจะต้องสร้างตัวต้นแบบหรือ prototype อย่างง่ายๆ เพื่อนำมาทดสอบ เมื่อทดสอบแล้ว “ล้มเหลว” เขาจะได้เรียนรู้จาก feedback และได้รับประสบการณ์ที่จะนำไปพัฒนาไอเดียในการทำทดสอบครั้งต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไปถึงคำตอบที่เป็นนวัตกรรมได้ในที่สุด ดังที่ Jeff Bezos ซีอีโอของ Amazon เคยกล่าวไว้ว่า “ความล้มเหลวและนวัตกรรมเป็นคู่แฝดที่แยกจากกันไม่ได้”

หลังงานสัมมนาครั้งนั้นดิฉันก็ยังนึกเห็นภาพเจ้ากระต่าย มันยังคงวิ่งต่อไปและวิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่หยุดพัก ส่วนเจ้าเต่านั้นคงต้องแปลงร่างเป็นกบที่สามารถกระโดดไปได้ไกล (Leapfrog) เพื่อให้เท่าทันกระต่ายและพร้อมที่จะผจญภัยไปในโลกแห่งอนาคตด้วยกัน เพื่อความอยู่รอดของเราทุกคน

โดย... 

พรรณพร คงยิ่งยง

รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief People Officer - SCB