อนาคตยูโรและยุโรป ตอนที่ 13

อนาคตยูโรและยุโรป ตอนที่ 13

มีนักคิดและนักประวัติศาสตร์ตั้งคำถามและให้ข้อสังเกตอยู่เสมอเกี่ยวกับความไม่เป็นปกติ (Normal COUNTRY) ในเรื่องใหญ่ๆ

หลายเรื่องของอิตาลีและเป็นข้อสังเกตที่มีต่อญี่ปุ่นด้วย เพราะ 2 ประเทศนี้มีหลายอย่างที่ดูเหมือนคล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะการเป็นรัฐสมัยใหม่และเริ่มพัฒนาช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ที่เจริญมาก่อนโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรม Barzini เขียนไว้ 50 กว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนคิดว่ายังใช้ได้สำหรับวันนี้ เขามีข้อสังเกตว่าอิตาลีมีอัจฉริยะบุคคลมากเหลือเกิน มีคุณูปการต่อโลกมากมาย แต่อิตาลีในฐานะประเทศกลับดูกว่าผลรวมของอัจฉริยะบุคคล มันเป็นเพราะอะไร อัจฉริยะบุคคลของอิตาลีนั้นมีมากจริง ๆ นึกถึงความรุ่งเรื่องยุค Renaissance (Leonardo de Vinci, Michelanglo) ที่เริ่มที่อิตาลีในศตวรรษที่ 15 จุดเริ่มต้นของทุนนิยมพาณิชยกรรมระบบบัญชีคู่ การธนาคาร นึกถึงโรมที่ให้ปฏิทินแก่โลก มรดกของกฎหมายโรมัน นึกถึงวิธีคิดของ มาเคลียเวลลี่ โคลัมบัส หรือต้นกำเนิดของไวโอลินและเปียโน Monteverdi และวงออเคสตร้า ดนตรีสมัยใหม่หรือ มาร์โคนี ที่ประดิษฐ์วิทยุหรือคนที่รักรถคงนึกถึง เฟอร์รารี่ หรือแบรนด์มีระดับของเสื้อผ้า กระเป๋าหรู ฯลฯ ทั้งหลาย

หลังสงครามโลกครั้งที่ การเมืองและประชาธิปไตยของเยอรมัน ญี่ปุ่นและอิตาลีล้วนได้รับอิทธิพลจากสหรัฐในฐานะผู้ชนะสงคราม เมื่อเวลาผ่านไปคนญี่ปุ่นเริ่มรู้สึกว่าประเทศของตัวเองมีอะไรที่ไม่ปกติ ไม่เหมือนใคร ประเทศเริ่มร่ำรวย คนญี่ปุ่นมีชีวิตดีขึ้นแต่กลับถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญไม่สามารถมีกองกำลังเพื่อป้องกันตัวเอง มีสหรัฐเป็นเกราะป้องกัน มองได้ว่าเป็นการเอาเปรียบชาวโลก มีสหรัฐคอยช่วยเหลือในแทบทุกด้าน เพราะสหรัฐกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เขามีระบบ 2 พรรคใหญ่ เกือบ 70 ปีแล้วถึงวันนี้ ญี่ปุ่นเหมือนมีพรรคเดียวคือ LDP เป็นรัฐบาลมาตลอด ประเทศสามารถเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีคอรัปชั่นในเชิงโครงสร้างเรื้อรังอันเกิดจากระบบการเมืองที่ต้องใช้เงิน (สำหรับญี่ปุ่นที่เลวมากกว่าอิตาลีคือมีการให้อำนาจนายกฯ ในการที่อัยการจะไม่ฟ้องผู้บริหารระดับสูงทางการเมือง ผลคือแม้จำนวนมากจะถูกสอบสวน แต่ในที่สุดมีนายก Tanaka คนเดียวที่ติดคุก) ความไม่ปกติของอิตาลีนั้นในเนื้อหาสาระมีที่มาคล้าย ๆ กัน เช่นเมื่อจะพัฒนาอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นและอิตาลีโดยรวมประเทศยังยากจน แต่เมื่อเวลาผ่านไปอิตาลีมีลักษณะพิเศษและต่างจากญี่ปุ่นตรงที่ว่าประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมร่ำรวยขึ้น รัฐบาลพยายามลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างทางเหนือและทางใต้

(Mezzorgiono) ลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมโดยตั้งกองทุนจำนวนมากศูนย์เปล่า ช่วงหนึ่งความแตกต่างแคบลงแต่วันนี้เกือบจะกลับไปเหมือนช่วงแรก ความแตกต่างระหว่างเหนือใต้ที่มีมาตลอดจนทางเหนืออยากจะขอแยกประเทศเพราะต้องเอาภาษีมาอุ้มทางใต้ ความไม่เสมอภาคในระดับภูมิภาคและความขัดแย้งในกรณีของญี่ปุ่นนั้นเกือบจะไม่มี ขณะที่อิตาลีมีประวัติศาสตร์ของความแบ่งแยกทางภาษาวัฒนธรรม ญี่ปุ่นกลับมีความกลมกลืนกับระดับชาติสูง ตอนอิตาลีรวมชาติมีคนพูดภาษาอิตาลีได้เพียงแค่ 3% ปัจจุบันแม้ 90% พูดภาษาอิตาเลียนได้ แต่ที่ไม่พูดเป็นประจำมีถึง 60% ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้คนอิตาลีไม่มีความไว้วางใจให้กันและกันหรือมีต่ำมาก ซึ่งต่างจากญี่ปุ่นค่อนข้างมาก โดยทั่วไประบบราชการและรัฐของญี่ปุ่นโดยรวมจะแข็งแกร่ง (ยกเว้นหลังช่วงทศวรรษ 90 เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกและญี่ปุ่นมีปัญหาเรื้อรัง) ซึ่งตรงกันข้ามกับอิตาลี ความอ่อนแอของรัฐอิตาลีเกิดจากการที่ไม่มีรัฐศูนย์กลางเหมือนที่เกิดที่ญี่ปุ่นตั้งแต่สมัย Tokugawa แว่นแคว้นต่าง ๆ ของอิตาลีถูกปกครองโดยมหาอำนาจขณะนั้นมายาวนานหลายร้อยปีในญี่ปุ่นรัฐหรือแว่นแคว้นไม่เคยจำเป็นต้องแข่งกับศาสนจักรเพื่อได้ความจงรักภักดี แต่ในอิตาลีในอดีตกาลสันตะปาปาที่โรมบั่นทอนและเป็นศัตรูกับรัฐมาตลอด สันตะปาปาเอาต่างชาติมาหยุดยั้งขบวนการกู้ชาติ 

ที่ร้ายกว่านั้นแม้เข้าสู่รัฐยุคใหม่ ศาสนจักรคาทอลิกเป็นรัฐภายในรัฐเป็นศัตรูทุกรูปแบบต่อการเติมโตของรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้มีผลต่อการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจรัฐทำให้รัฐสมัยใหม่ของอิตาลีขาดความเป็นอิสระ พัฒนาเป็นระบบอุปถัมภ์เรื่อยมา เมื่อพรรคอนุรักษ์นิยมได้เสียงข้างมากหรือเป็นรัฐบาลร่วมกับฝ่ายซ้ายการทุจริตเชิงโครงสร้างเป็นปรากฏการณ์ถาวรของระบบ รัฐโดยพรรคการเมืองหรือ Party State ขยายภาครัฐให้ใหญ่โตเพื่อให้งบประมาณและโครงการสามารถแบ่งปันกันได้สำหรับทุกฝ่ายในระบบแม้กระทั่งฝ่ายค้านก็มีส่วนได้เอี่ยวในทุจริตเชิงโครงสร้างนี้ นโยบายเศรษฐกิจและพรรคการเมืองใช้เศรษฐกิจเพื่อรับใช้การเมือง ปรากฏการณ์ข้างต้นในกรณีของอิตาลีน่าจะรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นโดยเปรียบเทียบ เห็นได้จากการที่ภาครัฐของอิตาลีใหญ่กว่าญี่ปุ่นค่อนข้างมาก รัฐอิตาลีทั้งก่อนและหลังสงครามเข้าไปเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมมากกว่าที่ญี่ปุ่นที่รัฐอาจจะเข้าไปในช่วงแรก แต่แปรรูปและขายให้เอกชนโดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นต่างกับอิตาลีคือไม่ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมใหญ่หรือหนักเหมือนที่ทำในอิตาลี ผลโดยรวมทำให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีความแข็งแกร่งกว่าอิตาลีและรัฐไม่ต้องใช้เงินมาอุ้มชูเหมือนที่รัฐบาลอิตาลีทำมายาวนาน มองจากประวัติศาสตร์ทั้งอิตาลีและญี่ปุ่น

รัฐล้วนแทรกแซงและปกป้องอุตสาหกรรมของตัวเอง แต่ญี่ปุ่นทำได้อย่างชาญฉลาดและมียุทธศาสตร์การพัฒนา ช่วงแรกอิตาลีเน้นอุตสาหกรรมใช้แรงงาน แต่ญี่ปุ่นต้องการอุตสาหกรรมหนักและใช้ทุนเพื่อสร้างความได้เปรียบในระยะยาว อิตาลีใช้ระบบการค้าเสรีเร็วไปในช่วงปลายทศวรรษ 60 จนเป็นความเสียหายบริษัทล้มละลาย แม้จะคุ้มครองอุตสาหกรรมก็ไปมุ่งช่วยเหลือคุ้มครองเฉพาะบริษัทเอกชนที่ผลิตให้รัฐบาลเพื่อการทหาร ผลคือได้อุตสาหกรรมที่ไม่แข็งแกร่ง ความแตกต่างที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือขณะที่ญี่ปุ่นสนใจที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศโดยไม่ให้ต้องตกเป็นเบี้ยล่างทางการเงิน และไม่สนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ พยายามส่งเสริมให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทญี่ปุ่น แต่อิตาลีทำตรงกันข้ามจึงต้องพึ่งพา ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ค่อนข้างมากด้านเทคโนโลยีและเงินทุน ทำให้ผู้ประกอบการอิตาลีต้องพึ่งรัฐกลายเป็นวัฏจักรของความชั่วร้ายต่อมา

อิตาลีใช้จ่ายเกินตัวมาตลอด มีหนี้สูงมาก ถึงเวลาที่คนอิตาลี ต้องเสียสละอดออม เหมือนที่เยอรมันเคยทำในช่วงรวมเยอรมันตะวันออก ตะวันตก ปัญหาผู้อพยพไม่ใช่ปัญหาหลัก จริงๆ อิตาลีต้องการแรงงานอพยพ อิตาลีต้องลดขนาดภาครัฐและการใช้จ่าย สร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยี