ขุด เจาะ สูบน้ำในเขตอุทยานฯ ช่วยเด็กติดถ้ำผิดมีโทษหรือไม่

ขุด เจาะ สูบน้ำในเขตอุทยานฯ ช่วยเด็กติดถ้ำผิดมีโทษหรือไม่

จากกรณีที่เด็กทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี แม่สาย” และโค้ชรวม 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียราย ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

 เนื่องจากน้ำป่าท่วมถ้ำ ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2561 หน่วยราชการหลายแห่งทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัครทั้งในและต่างประเทศหลายประเทศ ระดมกำลังและบรรดาเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์ต่างฯทั้งหลาย ไปช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. เป็นต้นมา ะหว่างที่ทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาเพื่อช่วยเหลือเด็กดังกล่าว คนไทยเกือบทั้งประเทศใจจดใจจ่อเอาใจช่วยขอให้เด็กปลอดภัย เป็นกำลังใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้น ส่งแรงใจเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทั้งหลายที่ทุมเทกำลังกายกำลังใจในการปฏิบัติงานช่วยเหลือเด็กอย่างเหน็ดเหนื่อย ผู้คนจำนวนมาก ตื่นขึ้นมาก็คว้าโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตขึ้นมา ลุ้นขอให้พบข่าวว่าพบเด็กและช่วยเหลือออกมาได้แล้ว ปลอดภัยทุกคนทั้งเด็กและผู้ช่วยเหลือ

ในการช่วยเหลือนั้น ต้องมีการขุด เจาะ สูบน้ำ เปลี่ยนทางน้ำ เพื่อลดระดับน้ำในถ้ำ หรือเจาะผนังถ้ำเพื่อให้หน่วยช่วยเหลือ โดยเฉพาะหน่วยซีล กองทัพเรือ สามารถดำน้ำลอดเข้าไปยังจุดที่น้ำท่วมไม่ถึงที่คาดว่าเด็กจะอยู่ตรงจุดดังกล่าว นอกจากการสูบน้ำขุดเจาะบ่อบาดาลแล้ว ทางด้านบนเขานอกถ้ำ ก็มีการตระเวนตรวจสอบโพรงด้านบนภูเขา เพื่อหาทางโรยตัวลงไปในโถงในถ้ำเพื่อช่วยเด็กอีกทางหนึ่ง ซึ่งต้องมีการตัดต้นไม้ ถางพง เพื่อเดินทางเข้าไปยังโพรงดังกล่าว ขณะเดียวกันมีการทำลานจอดเครื่องเฮลิคอปเตอร์ เพื่อลำเลียงเครื่องมือุปกรณ์ เสบียง กำลังพลไปเสริมด้วย นอกจากนี้มีการใช้โดรนบินสำรวจเพื่อช่วยหาโพรงด้วย

เนื่องจากถ้ำหลวงตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 คุ้มครองอยู่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีรัฐมนตรีว่า(รมว.)การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รักษาการ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ คือข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ เป็นไปตามหมวด 3 มาตรา16 ถึงมาตรา 22 มาตราที่สำคัญที่สุดคือมาตรา 16 ที่เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้บุคลใด กระทำการตามที่บัญญัติไว้ใน (1) ถึง(19) ในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่สำคัญเช่น (4)ทำด้วยประการใดฯ ให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด (5) เปลี่ยนทางน้ำ หรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วยหนอง บึงท่วมท้น หรือเหือดแห้ง (8)ทำให้เป็นอันตรายต่อ ดอกไม้ ใบไม้ หรือผลไม้ (9)นำยานพาหนะเข้าออกหรือขับขี่ยานพาหนะในทางที่มิได้จัดไว้ให้ขับขี่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ (10) นำอากาศยานขึ้นลงในที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่ การฝ่าฝืนบทบัญญัติของมาตรานี้ มีโทษทางอาญา โทษหนักคือฝ่าฝืน (4) หรือ (5) จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รองลงไปคือฝ่าฝืน (9) หรือ(10) จำคุกไม่เกิน 1 เดือนปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เบาสุดคือฝ่าฝืน (8)ปรับไม่เกิน 5 ร้อยบาท

การจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามมาตรา20 บัญญัติให้เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

สำหรับ โดรนถือว่าเป็นอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 การบังคับหรือปล่อยโดรนต้องได้รับใบอนุญาตเป็นหนังสือจาก รมว.คมนาคม ตามมาตรา24 ซึ่งมีประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ.2558 โดยสรุปคือ โดรนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม(กม.) อนุญาตเป็นหลักการไว้เป็นการทั่วไปให้บังคับหรือปล่อยให้บินได้ ตามเงื่อนไขทีกำหนด แต่ถ้าเป็นโดรนที่มีน้ำหนักเกิน 25 กม.ต้องยื่นขออนุญาตต่ออธิบดีเป็นกรณีไป ผู้ที่มีอำนาจอนุญาตคือ รมว.คมนาคม โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ผู้นำโดรนที่มีน้ำหนักเกิน 25 กม.ขึ้นบินโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การปฏิบัติการช่วยเหลือ เด็กที่ติดอยู่ในถ้ำดังกล่าว ที่มีการนำเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นลงในเขตอุทยานที่ลานจอดที่ทำขึ้นใหม่ หรือการนำรถยนต์บรรทุกสิ่งของเข้าไปในเขตอุทยาน ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็รู้เห็น อาจอนุโลมได้ว่าเป็นการอนุญาตโดยปริยาย ส่วนการ สูบน้ำเปลี่ยนทางน้า ปรับทางเดิน เจาะถ้ำ ขุดน้ำบาดาล ถ้าเป็นการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติการ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองดูแลรักษาอุทยาน หรือ เพื่ออำนวยความปลอดภัยแก่ประชาชน ก็สามารถ กระทำได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำของบุคคลอื่นซึ่งมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีบทบัญญัติยกวันให้กระทำได้ แม้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ก็ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นเหนือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ แต่เชื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิด คงไม่เคร่งครัดการบังคับใช้กฎหมายอย่างผิดที่ ผิดเวลา ผิดสถานการณ์ ปราศจากสามัญสำนึกไม่คำนึงถึงชีวิตเด็กที่มีคุณค่ามากกว่าพื้นที่ถูกขุดเจาะ ทางน้ำที่ถูกเปลี่ยน แล้วเข้าจับกุมกล่าวโทษบรรดาผู้ปฏิบัติการช่วยเหลือดังกล่าว รวมทั้งกรณีผู้ที่นำโดรนขึ้นบินสำรวจ หากเป็นโดรนที่มีน้ำหนักเกิน 25 กม. โดยไม่ได้รับอนุญาต คงไม่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.เดินอากาศ กล่าวโทษ ดำเนินคดี ด้วยเหตุผลเดียวกัน

การพิจารณาว่าบุคลใดกระทำความผิดและต้องรับโทษหรือไม่ ต้องพิจารณาเจตนา และบทยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นแม่บทหลัก ด้วยประมวลกฎหมายอาญามีบทเว้นโทษถ้าทำผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา67 และบทยกเว้นความผิดถ้าทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ตามมาตรา 68 การทำผิดเพราะความจำเป็น ตามที่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 (2) คือ 

มาตรา67 ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นด้วยวิธีอื่นได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนเอง

ถ้าการกระทำนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรัฐโทษ

ตามมาตรา67 ดังกล่าว ผู้คนทั้งหลายทั้งหลายคงเห็นได้ด้วยสามัญสำนึกธรรมดาว่า การปฏิบัติการของผู้ช่วยเหลือเด็กที่ติดในถ้ำดังกล่าว หากจะเป็นความผิด ก็ได้รับการยกเว้นโทษ ตามมาตรา 67 ซึ่งไม่ว่าผู้ใดก็ไม่สามารถกล่าวโทษฟ้องร้องให้รับโทษได้ ทั้งนี้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่นำมาเป็นบรรทัดฐานได้ คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231/2518 ที่วินิจฉัยว่า การที่จำเลยทำลายพนังคันกั้นน้ำที่ปิดทางระบายน้ำทำให้น้ำท่วมนาของจำเลยเสียหาย เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นเพื่อให้ทรัพย์สินของตนเองพ้นจากภยันตราย ซึ่งไม่มีทางเลี่ยงด้วยวิธีอื่น เป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุไม่ต้องรับโทษ