คุณสมบัติของกองทุน LTF RMF ที่ดี

คุณสมบัติของกองทุน LTF RMF ที่ดี

กองทุนที่คุณจะเลือกมาก็ควรมีผลการดำเนินงานติด 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมบ่อย ๆ

'ซื้อกองไหนดี?' นับว่าเป็นคำถามยอดฮิตของนักลงทุนผู้สนใจในการลงทุนผ่านกองทุนรวมทุกท่าน หลายท่านก็ถามเพื่อน แล้วซื้อตามเพื่อน บ้างก็คลิก Morning Star แล้วจิ้มเอากองที่ดาวเยอะๆ และที่แย่ที่สุดคือ จิ้ม ๆ สุ่ม ๆ แล้วซื้อเลย … (อันนี้ผมไม่แนะนำนะครับ) แต่สุดท้ายวิธีการคัดเลือกที่เหมาะสมที่สุดควรเป็นอย่างไร? ลองดูนี่เป็นแนวทางครับ

อย่าเลือกแต่เฉพาะกองทุนที่ผลการดำเนินงานในอดีตดี

นักลงทุนส่วนใหญ่ มักจะซื้อกองทุนรวมที่มี Performance สวย ๆ ด้วยการตั้งสมมติฐานว่าในวันพรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไป Performance ของมันจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง … ไม่แปลกครับ มีผลวิจัยเชิงจิตวิทยาว่า คนเรามักจะคาดการณ์ผลลัพธ์ระยะยาวโดยอิงผลลัพธ์ระยะสั้นในอดีต แต่ในโลกของการลงทุน ผลงานในอดีตไม่ได้การันตีผลงานในอนาคตเลยแม้แต่น้อย ที่ทำได้คือมันทำให้รู้ว่ากองทุนรวมกองนั้นเป็นยังไงในสภาวะตลาดต่าง ๆ … แค่นั้น!

ขนาดต้องพอเหมาะ

นักลงทุนบางคนคิดว่ากองใหญ่ ๆ แสดงถึงความนิยม ความไว้ใจ แต่หารู้ไม่ ยิ่งขนาดของกองทุนใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ ผู้จัดการกองทุนยิ่งปวดหัวมากขึ้นเท่านั้น ลองนึกภาพตามนะครับ กองทุนกองหนึ่งมีขนาด 100 ล้านบาท ใช้เงิน 2% (2 ล้านบาท) ซื้อหุ้นของบริษัทขนาดเล็กแห่งหนึ่งซึ่งมี Market Cap. เท่ากับ 500 ล้านบาท กองทุนกองนี้จะได้หุ้นในสัดส่วนไม่ถึง 0.5% ของบริษัท แต่เมื่อเวลาผ่านไป Performance อันสวยหรูทำให้ขนาดของกองทุนรวมกองนี้เพิ่มเป็น 1 หมื่นลบ. เงินลงทุน 2% ก็จะเท่ากับ 200 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ Market Cap. ของบริษัทดังกล่าว นั่นทำให้กองทุนไม่สามารถซื้อหุ้นของบริษัทนี้ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะอยากซื้อมากแค่ไหนก็ตาม โดยกองทุน LTF & RMF บ้านเรา ถ้าขนาดอยู่หลักหมื่นล้านก็ถือว่าโอเคเลยครับ แต่ก็ใช่ว่ากองทุนขนาดเล็ก ๆ จะดีนะครับ เพราะกองทุนที่ขนาดเล็กเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อการกระจายการลงทุนเช่นกัน ทำให้บางครั้งที่ผู้จัดการกองทุนต้องการจะซื้อหุ้นของบริษัทซักแห่ง อาจเจอปัญหาเงินไม่ถึงหรือสภาพคล่องต่ำก็เป็นได้ แถมหากขนาดเล็กมาก ๆ แล้วเกิดมีผู้ถือหน่วยบางคนขายออกเกิน 2 ใน 3 ก็ถูกบังคับปิดกองตามเกณฑ์อีก

ต้องกล้าที่จะแตกต่าง

Peter Lynch ถือเป็นผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนนึงของโลก โดยช่วงที่เขาบริหารกองทุนนั้น สามารถทำผลตอบแทนได้สูงราว ๆ 30% ต่อปี โดยสมัยที่บริหารกองทุน Fidelity Magellan ใหม่ ๆ เขาถูกมองว่าเป็นผู้จัดการกองทุนที่อินดี้มากที่สุดคนหนึ่ง อันเนื่องมาจากหุ้นที่กองทุนของ Peter Lynch ไปลงทุนนั้น ต่างก็เป็นบริษัทนอกสายตา ที่กองทุนส่วนใหญ่ไม่สนใจ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งอย่าง Chrysler ที่ขณะนั้นกำลังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดก็มองว่าการลงทุนในหุ้นดังกล่าวมันไม่คุ้มค่าเลย ซึ่งภายหลังจากนั้นไม่นาน Peter Lynch ก็ได้พิสูจน์ว่าพวกนักวิเคราะห์นั้นคิดผิด เล่นเอาหงายเงิบไปตาม ๆ กัน

ค่าธรรมเนียมต่ำ

เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม นักลงทุนอาจจะมีความเข้าใจที่ว่า กองทุนไหนที่มีค่าธรรมเนียมสูงๆ มักจะมีผลตอบแทนที่สูงไปด้วย แต่ลองคิดง่าย ๆ นะครับ ว่าผลตอบแทน คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ค่าธรรมเนียมคือสิ่งที่คงที่ตลอด ไม่ได้ลดลงไปตามผลตอบแทนที่ลดลง

ผลตอบแทนสม่ำเสมอ

กองทุนที่ดีต้องมีความสม่ำเสมอในการสร้างดอกผลให้กับนักลงทุน แม้ว่ามันจริงอยู่ว่าเป็นเรื่องยาก ที่จะหากองทุนที่ทำผลการดำเนินงานอันดับ 1 ทุกปี แต่อย่างน้อย ๆ กองทุนที่คุณจะเลือกมาก็ควรมีผลการดำเนินงานติด 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมบ่อย ๆ และไม่เพียงแต่จะดูแค่ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีนะครับ แต่ควรดูผลตอบแทนหลาย ๆ ช่วงเวลา เช่น 2 ปีย้อนหลัง 3 ปีย้อนหลัง หรือ 5 ปีย้อนหลัง เพื่อดูว่ากองทุนที่คุณกำลังจะเลือกลงทุนนั้น เขาดีมาแต่ไหนแต่ไร หรือเพิ่งจะมาดีเอาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมากครับ