ผลงาน ‘ทัพซามูไร’ ปลุกธุรกิจญี่ปุ่นคึกคัก

ผลงาน ‘ทัพซามูไร’ ปลุกธุรกิจญี่ปุ่นคึกคัก

การเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลกของทีมญี่ปุ่น ช่วยหนุนให้ธุรกิจในประเทศคึกคักอย่างมาก

ผลงานสุดเซอร์ไพรส์ของ “ขุนพลซามูไร บลูส์” ที่ทะลุเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในศึกฟุตบอลโลกที่รัสเซียและกลายเป็นทีมเดียวจากเอเชียที่ยังอยู่รอดในทัวร์นาเมนท์ นอกจากจะสร้างความปลื้มใจและสะใจให้กับแฟนบอลญี่ปุ่นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย

เนื่องจากเกมส่วนใหญ่ของทัพซามูไรเตะกันตั้งแต่ช่วงดึกไปจนถึงเช้ามืดอีกวันตามเวลาญี่ปุ่น ทำให้สินค้าหลายชนิดมียอดขายเพิ่มขึ้น เช่น เบียร์กระป๋อง อาหารพร้อมทานในร้านสะดวกซื้อ และพิซซ่าแบบส่งถึงบ้าน อีกทั้งหลายคนยังซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่แทนเครื่องเดิมเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมฟุตบอลโลก

“แฟมิลี่มาร์ท โค” ผู้ดำเนินการเชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ลดราคาอาหารพร้อมทานลง 20 เยน (ประมาณ 6 บาท) ตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงกลางดึก โดยเริ่มบริการนี้ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ทีมญี่ปุ่นเอาชนะโคลอมเบียไปได้ 2-1 และทำให้ความต้องการจากผู้บริโภคที่ชมเกมจากบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่นั้นมา

แฟมิลี่มาร์ท เผยว่า ยอดขายอาหารต่าง ๆ รวมถึงถั่วแระญี่ปุ่นและไก่ย่างจนถึงวันจันทร์ (25 มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 60% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

เมื่อวันอาทิตย์ (24 มิ.ย.) บริษัทพิซซ่าฮัท เจแปน ขยายเวลาบริการสำหรับร้านค้าบางแห่งทั่วประเทศอีก 1-3 ชั่วโมง จนถึงเวลา 23.55 น. เพื่อเอาใจคอบอลที่รอชมเกมระหว่างญี่ปุ่นกับเซเนกัลช่วงเที่ยงคืน ซึ่งเสมอกันไป 2-2

พิซซ่าฮัท เผยว่า มียอดขายสูงกว่าปกติราว 10% บริษัทยังขยายเวลาบริการในช่วงที่ญี่ปุ่นลงสนามพบกับโปแลนด์เมื่อคืนวันพฤหัสบดี (28 มิ.ย.) ซึ่งทัพซามูไรแพ้ไป 0-1 แต่ก็ยังตีตั๋วเข้ารอบเพลย์ออฟได้จากกฎแฟร์เพลย์ที่ “ฟีฟ่า” นำมาใช้เป็นครั้งแรกในฟุตบอลโลกปีนี้ ด้วยการมีใบเหลือง-แดงสะสมน้อยกว่าเซเนกัล

ด้าน “คิริน บริวเวอรี โค” ผู้ผลิตเบียร์และเครื่องดื่มญี่ปุ่น เผยว่า มียอดขายเพิ่มขึ้นราว 10% ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา อานิสงส์จากความนิยมของเบียร์ “อิจิบัน ชิโบริ” แบบพิเศษซึ่งมีรูปบรรดานักเตะทีมชาติญี่ปุ่นที่ข้างกระป๋อง ซึ่งบริษัทก็คาดว่าหลังผ่านเกมกับโปแลนด์ ยอดขายจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะคนเริ่มสนใจฟุตบอลโลกมากขึ้น

นอกจากอาหารและเครื่องดื่มแล้ว เหล่านักเตะซามูไรยังช่วยกระตุ้นยอดขายโทรทัศน์ขนาดใหญ่ด้วย “โนจิมะ คอร์ป” เชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าท้องถิ่น เผยว่า ยอดขายชุดโทรทัศน์ความคมชัดสูงระดับ 4K เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วง 2 วันจนถึงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา อานิสงส์จากชัยชนะเหนือโคลอมเบียนั่นเอง

ยอดขายโทรทัศน์จอใหญ่ (ขนาด 43 นิ้วขึ้นไป) ของ “บิ๊ก คาเมร่า อิงค์” ในเดือนพ.ค.-มิ.ย. เพิ่มขึ้น 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปกติแล้ว อายุการใช้งานเฉลี่ยของโทรทัศน์สีเครื่องหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 9 ปี

โตชิฮิโร นางาฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยได-อิจิ ไลฟ์ คาดการณ์ว่า การที่ทีมชาติญี่ปุ่นทะลุเข้ารอบน็อกเอาท์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ 2.15 หมื่นล้านเยน (ราว 6,442 ล้านบาท) หรือประมาณพอ ๆ กับช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้

ทั้ง 2 ทัวร์นาเมนท์มีความคล้ายกันหลายอย่าง รวมถึงการที่ชาวญี่ปุ่นรู้สึกตื่นเต้นกับผลงานเหนือความคาดหมายของทีมชาติตัวเอง และเกมส่วนใหญ่แข่งขันช่วงกลางดึก

“การชมเกมฟุตบอลโลกจากบ้านมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเริ่มต้องการประหยัดเงินกันมากขึ้น และยิ่งญี่ปุ่นเข้ารอบลึกมากเท่าไหร่ การบริโภคที่เกี่ยวข้องกับการชมฟุตบอลโลกก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย” นางาฮามะ กล่าว

จะเห็นได้ว่า ผลงานของทีมญี่ปุ่นส่งผลถึงนอกสนามอย่างชัดเจน ขณะที่เรื่องในสนาม ส่วนตัวในฐานะคนเอเชียก็แอบลุ้นให้ญี่ปุ่นเข้ารอบลึก ๆ เหมือนกัน ทว่าการโคจรมาเจอกับกระดูกชิ้นโตอย่าง "เบลเยียม" ในรอบน็อกเอาท์ ทำให้ญี่ปุ่นดูเป็นรองอยู่พอสมควร

ถึงอย่างนั้นก็ต้องไม่ลืมว่า "ลูกฟุตบอลกลม ๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้" ขนาดแชมป์เก่ายังตกรอบมาแล้ว!