จะปฏิรูปประเทศกันจริงๆได้อย่างไร

จะปฏิรูปประเทศกันจริงๆได้อย่างไร

ที่ไทยยังล้าหลังมีปัญหามากมายหลายด้าน ได้แต่ปฏิสังขรณ์ ปะผุแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ไม่ได้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม

ในแนวก้าวหน้า เพราะคนไทยส่วนใหญ่รวมทั้งชนชั้นนำมีกรอบความคิดคับแคบแบบเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและจารีตนิยม มุ่งรักษาสถานภาพเดิม ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวหน้า ทั้งยังเป็นคนที่ไม่สนใจอ่าน ไม่สนใจรับฟัง เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่รู้จักคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ชอบใช้แต่ความรู้เก่าและความคิดเห็นของตัวเองมากกว่า ยิ่งคนมีอำนาจ มีตำแหน่งก็ยิ่งหลงตัวเอง (และพรรคพวก) ไม่ใจกว้างพอที่จะเรียนรู้ คิด และทำอะไรใหม่ๆ ในการปฏิรูปเชิงระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ที่เน้นความโปร่งใส สมดุล เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ เพื่อส่วนรวมและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

รัฐบาลคสช. คิดว่าพวกตนกุมความรู้และอำนาจในการปฏิรูปประเทศมากกว่าใครเพื่อน มีทั้งยุทธศาสตร์ 20 ปี ,การพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 และโครงการลงทุนทางเศรษฐกิจมากมาย แต่จริงๆ แล้วพวกเขาคิดอยู่ในกรอบการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสุดโต่ง ที่เน้นการกระตุ้นการเติบโตของการผลิตและการบริโภค การแข่งขันแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้เศรษฐกิจภาคที่เกียวข้องเติบโตได้ระดับหนึ่ง แต่กระจายให้คนรวย คนชั้นกลางเป็นหลัก คนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกร คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยได้น้อย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง/ความยากจน โดยเปรียบเทียบเพิ่มขึ้น สร้างปัญหาอื่นตามมามากมาย

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไม่เข้าใจสาเหตุลึกของปัญหาว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่พวกเขาทำโดยหวังว่าจะกระจายไปสู่คนส่วนใหญ่ตามลำดับนั้น แท้จริงคือตัวสร้างปัญหาการกระจายทรัพย์สินรายได้ ความรู้ ฯลฯ ที่ไม่เป็นธรรม ตัวปัญหาอีกตัวคือ โครงสร้างการที่คนส่วนน้อยเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ทำให้เกิดรายได้ เช่น ที่ดิน อาคารให้เช่า หุ้นในธุรกิจ เงินฝาก เงินลงทุนในสถาบันการเงินต่างๆ ที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่มาก โครงการช่วยคนจนหรือให้คนจนกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นการแก้ที่ปลายเหตุและบรรเทาปัญหาได้เพียงเล็กน้อย ต้องแก้ที่สาเหตุหลักคือ การปฏิรูประบบการกระจายทรัพย์สิน ปฏิรูปที่ดิน การคลัง การเงิน การเก็บภาษี โดยเน้นการเก็บภาษีจากทรัพย์สิน และรายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่า เงินปันผล ดอกเบี้ย กำไรจากการขายทรัพย์สิน ฯลฯ ของคนรวย คนชั้นกลาง ในอัตราก้าวหน้า คือยิ่งรายได้สูงต้องเสียในอัตราสูง จ่ายคืนภาษีให้ประชาชนรายได้ต่ำโดยตรงเป็นรายเดือน ปฏิรูประบบการศึกษา ปฏิรูปสาธารณสุข การให้บริการทางสังคมและการประกันทางสังคม ปฏิรูปการใช้งบรัฐและงบกองทุนประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น

การอ้างว่ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตขึ้น 4% ไม่ได้แปลว่าคนไทยส่วนใหญ่จะมีรายได้ที่สามารถจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในอัตรา 4% ทุกคน คนส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำกว่านั้น หรือบางคนที่ว่างงาน เกษียณแบบไม่มีบำนาญอาจมีรายได้ที่ลดลงหรือไม่มีเลย การที่ค่าครองชีพสูงขึ้น (อัตราเงินเฟ้อ) ก็ทำให้คนรายได้ต่ำยิ่งลำบากมากเพิ่มขึ้นอีกด้วย ขณะที่คนรวยส่วนน้อยอาจจะรวยขึ้นกว่าปีก่อนหลายสิบเปอร์เซ็นต์

นี่คือการวิจารณ์ภาพใหญ่ที่ไม่ได้มุ่งที่รัฐบาลคสช. เท่านั้น แต่หมายรวมถึงพรรคการเมือง เช่น เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และอื่นๆ รวมทั้งผู้บริหารในระบบราชการ และธุรกิจเอกชนที่คิดในกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจในแนวเดียวกับรัฐบาลคสช. ที่ได้กล่าวมา พวกพรรคการเมืองอื่นๆ ชอบวิจารณ์แค่พฤติกรรม ผลงานคสช. เพื่อหาเสียงแบบง่ายๆ แต่พวกเขาไม่ได้วิจารณ์เชิงนโยบายและไม่ได้เสนอนโยบายทางเลือกใหม่ในเรื่องใหญ่ๆ ที่เห็นได้ชัด เพราะพวกเขาเองก็ยังคงมุ่งรักษา และคิดในเชิงอำนาจผลประโยชน์ของชนชั้นสูง ชั้นกลาง ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ เรื่องการปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจนอย่างแท้จริง

นักวิชาการที่มีแนวคิดก้าวหน้า องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพองค์กรชุมชน ฯลฯ มีข้อวิจารณ์และข้อเสนอแนะที่เป็นทางเลือกในบางเรื่องบางอยู่บ้าง แต่สื่อมวลชนเสนอเรื่องพวกนี้น้อย สื่อมวลชนที่เป็นธุรกิจชนิดหนึ่งชอบเสนอเรื่องความขัดแย้งระหว่างบุคคล กลุ่มคน ที่มีสีสันของความเป็นข่าว ที่คิดว่าประชาชนจะสนใจเสพมากกว่าข่าวเชิงความรู้ ความคิดใหม่ๆ เชิงปฏิรูป พวกรัฐบาล พรรคการเมืองไม่สนใจติดตามข้อมูลเหล่านี้เท่าที่ควร รัฐบาลจะสนใจก็เฉพาะเรื่องที่ประชาชนประท้วงหนักๆ หรือมีข่าวเรื่องทุจริตที่เป็นข่าวใหญ่ และเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเป็นเรื่องๆ แต่ไม่ได้คิดจะศึกษาตัวปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างเอาจริงเอาจัง

ทางแก้ไขคือ ประชาชนต้องสนใจศึกษาปัญหาของประเทศ และแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในเชิงผ่าตัดโครงสร้าง ปฏิรูปกันทั้งระบบครบวงจร มากกว่าที่จะคิดแบบเลือกข้าง ฝากความหวังไว้ที่นักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แนวคิดเรื่องปัญหาและการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ มีคนเสนอไว้ที่พอจะหาอ่านจากเว็บไซต์ เอกสาร หนังสือต่างๆ ได้ เช่น ทีมคณะกรรมการปฏิรูปของอ.ประเวศ วะสี, คุณอานันท์ ปันยารชุน ข้อเสนอเรื่องการปรองดองของทีมคุณคณิต ณ นคร ข้อเสนอของสถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ ธนาคารชาติ องค์กรประชาชน/ชุมชน นักวิชาการ หนังสือและบทความที่ผมและนักวิชาการคนอื่นเขียน ฯลฯ เราควรนำประเด็นเหล่านี้มาอภิปราย ถกเถียงกันหาจุดแข็ง จุดอ่อน ความเป็นไปได้ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม โดยยึดหลักเหตุผล หลักวิชาการ ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

รวมทั้งพยายามเผยแพร่ข้อมูล ข้อเสนอแนะ แนวคิดเชิงปฏิรูปทั้งหลายให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ และสนใจเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เรื่องนี้สื่อมวลชน เช่น สถานีโทรทัศน์ วิทยุ น่าจะช่วยได้มาก เพราะประชาชนชอบดู ฟัง มากกว่าการอ่านหนังสือ สื่อทางสังคมก็อาจจะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ควรจะทำหลายทางควบคู่กันไป โดยเฉพาะการส่งเสริมการจัดประชุมพัฒนาอภิปราย ประชาพิจารณ์ต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนสนใจและมีส่วนร่วมในการหาทางปฏิรูปประเทศได้เพิ่มขึ้น

พรรคการเมืองควรมีฝ่ายวิชาการ ฝ่ายศึกษาและเผยแพร่นโยบายในการแก้ไขปัญหา พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ จัดประชุม อภิปรายให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารในเชิงให้ข้อเสนอแนะที่เน้นประโยชน์แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่วิจารณ์คนอื่น แต่ตนเองไม่ได้เสนอทางแก้ ทางเลือกใหม่ๆ