ขอเพียงคำมั่น แค่นั้นก็พอ

 ขอเพียงคำมั่น แค่นั้นก็พอ

หลักสูตรอบรมผู้บริหาร ที่ผมเอาใจใส่ใกล้ชิด มีชื่อว่า LSP ซึ่งย่อมาจาก “Leadership Succession Program”

จุดมุ่งหมายคือการสร้างผู้นำระดับ เบอร์ 2-3 ให้มีความพร้อมก้าวขึ้นเป็น เบอร์ 1 ที่มีคุณภาพ

จัดไป 8 รุ่น ได้เป็นซีอีโอกันไปแล้วมากมาย โจทย์สำคัญ ที่พวกเขาต้องทำก่อนจบ ก็คือต้องนำเสนอต่อสาธารณะว่า ทำอย่างไรผู้นำไทยในทุกภาคส่วน จึงจะก้าวขึ้นไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ กับผู้นำของประเทศชั้นนำในอาเซียนได้อย่างสง่างาม ซึ่งทุกรุ่นก็นำเสนอได้ดีมาก

พอถึงรุ่นปัจจุบัน LSP 9 ผมเริ่มคิดว่า ความฝันที่จะก้าวไปเป็นผู้นำระดับอาเซียน เราคงไปไม่ถึง เพราะเมื่อมองรอบตัว ก็เห็นผู้นำทำผิดกฎหมาย และล้มเหลวทางจริยธรรมในทุกภาคส่วน ถ้าเรายังอยู่ในสภาพเช่นนี้ วันหนึ่ง เราอาจจะล้มละลายทางจริยธรรม อย่างน่าหดหู่ยิ่งนัก

เราเห็นการโกงมากมาย โกงสอบติดยศนายตำรวจ โกงสอบบรรจุครูผู้ช่วย โกงสอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์ โกงเงินช่วยคนยากไร้ โกงทุนการศึกษาเด็ก โกงพระและวัด โกงอาหารกลางวันเด็ก ฯลฯ โกงกระทั่งสุนัข โดยหาประโยชน์ส่วนตัวจากวัคซีนป้องกันสุนัขบ้า

ถึงขนาดนี้แล้ว สังคมจะสุขได้อย่างไร เราจะคาดหวังอะไรได้จากผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ผมจึงได้เปลี่ยนโจทย์ใหม่ ให้ LSP 9 วิเคราะห์กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นทั้งในภาคราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และ ภาคศาสนา และให้ระบุว่ารากเหง้าของปัญหาคืออะไร มีวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้ และหวังผลได้ในเวลาที่ไม่นานเกินไป อย่างไร

นอกจากนั้น ผมสังเกตว่ากรณีทุจริตหรือผิดจริยธรรมที่เป็นข่าว เราก็ไม่อยากจะเชื่อว่า คนที่ทำสิ่งเหล่านั้น เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีตำแหน่งการงานที่น่านับถือ ผมจึงให้โจทย์ผู้เข้าอบรมอีกข้อหนึ่งว่า ผู้นำอย่างพวกเขาจะหา เกราะป้องกันตนเองได้อย่างไร เพื่อในอนาคตจะได้ไม่ก้าวเดิน “ผิดทิศผิดทาง” จนกลายเป็นคนด่างพร้อยทางจริยธรรม

จริยธรรมนั้นสูงกว่ากฏหมาย บางเรื่องแม้กฎหมายไม่ได้ห้าม คนที่มีจิตสำนึกสูง ก็จะไม่ทำสิ่งนั้น แต่เรื่องที่เป็นข่าวใหญ่ทุกวันนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ทำ “ผิดกฎหมาย” แทบทั้งสิ้น ในเมื่อผู้นำกล้าทำผิดกฎหมาย แล้วเราจะไปคาดหวังอะไรได้ กับเรื่องที่สูงกว่านั้น ที่เราเรียกว่า จริยธรรม?

ส่วนข้อคิดเห็นของ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ให้เกียรติไปวิจารณ์ผลงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีประเด็นดีๆที่ผมอยากนำมาถ่ายทอด เช่น ภาคราชการ ศ. วิชา มหาคุณ บอกว่า ความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของคนจน คือต้นตอแห่งการทุจริต เพราะเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการจัดทำโครงการและตั้งงบประมาณ แล้วก็ยักยอกจากงบนั้น

ท่านบอกว่าช่วง ต้มยำกุ้ง เราเผชิญทั้ง วิกฤตเศรษฐกิจ และ วิกฤตจริยธรรม เราฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ แต่เรายังไม่ฟื้นจากวิกฤตจริยธรรม ซึ่งตรงนี้ผมว่าเรากำลังจมปลักหนักหนา สาหัสขึ้นเรื่อยๆด้วยซ้ำไป

ทั้งภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ ความล้มเหลวทางจริยธรรม มีสาเหตุหนึ่งที่เราทราบดี นั่นคือ “การเข้าสู่ตำแหน่ง" ที่มีการซื้อหากันได้ บางท่านบอกว่าไม่เว้นแม้วงการสงฆ์ แต่นอกจาก “ต้นทุนในการซื้อตำแหน่ง” แล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งชี้ว่า ยังมี “ต้นทุนในการรักษาตำแหน่ง” อีกด้วย

ด้านศาสนา นพ. จักรธรรม ธรรมศักดิ์ เตือนสติว่า “พระพุทธเจ้าทรงสละความสุขจากในวัง ไปอยู่ใต้ต้นไม้นะ” ตรงนี้ ทำให้ผมเห็นภาพตรงข้าม เพราะพระบางรูป ก็เริ่มที่ใต้ต้นไม้เท่านั้น แต่ตอนท้ายกลับสุขสบาย เหมือนอยู่วัง!

บางท่านยกตัวอย่างว่า พ่อขับรถพาลูกไปส่งโรงเรียน รถรอคิวที่ประตูโรงเรียน แล้วคันหนึ่งก็ปาดหน้าลัดคิวเข้าไปได้ ส่งลูกได้ทันเวลา แต่เด็กในรถคันแรกถึงโรงเรียนสาย ครูจับยืนหน้าเสาธง

เด็กที่พ่อขับรถปาดคนอื่น กล่าวอย่างภูมิใจว่า เขาไม่โดนลงโทษ ผมฟังแล้วก็อดถามในใจไม่ได้ว่า นี่มันอะไรกัน เด็กที่ไม่ถูกลงโทษ จะโตขึ้นเป็น สินทรัพย์ หรือหนี้สิน ของสังคม และเด็กที่ถูกลงโทษ จะเข้มแข็งพอที่จะอยู่ในเกราะจริยธรรม ต่อไปได้อีกนานเพียงใด

สำหรับผมเอง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง Code of Conduct ให้ผู้บริหารจำนวน 300 กว่าคน ผมตั้งชื่อเรื่องว่า “จริยทำธุรกิจ...วิถีชีวิตคนทำงาน โดยให้เน้นในโปสเตอร์ว่า จริยทำ นะ ไม่ใช่ จริยธรรม

ผมต้องการสื่อว่ามันหมดเวลาแล้ว ที่จะกล่าวเพียงหลักการ ว่าการทำงานต้องมีจริยธรรม เพราะพูดกันมานาน แต่เราก็ยังชำรุดทางจริยธรรมเช่นเดิม มันถึงเวลาที่จะต้องลุกขึ้นมา ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน เพื่อนำแนวปฏิบัติทางจริยธรรมที่ได้ร่างกันมานั้น ให้เป็น จริยทำ เสียที

ไม่เพียงแค่พยายามทำ แต่ต้องทำโดยอัตโนมัติ ทำจนกลายเป็นวัฒนธรรม หรือเป็น วิถีชีวิตคนทำงาน ตามหัวข้อบรรยายที่ผมตั้งชื่อไว้เลย

สำหรับ LSP 9 ผมได้ให้โจทย์สุดท้ายไว้ว่า การวิเคราะห์ วิจารณ์คนอื่นว่าต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง มันไม่ยาก ที่ยากกว่าก็คือ จะเชื่อได้อย่างไรว่า เมื่อท่านทั้งหลายเป็นใหญ่เป็นโตกันแล้ว ท่านจะไม่ทำในสิ่งที่ท่านพูดว่าไม่ดีงาม ผมจึงขอ คำมั่น จากพวกเขา แต่ขอให้ประกาศคำมั่นนั้นต่อสาธารณชน

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้บริหาร LSP 9 ได้ร่วมกันร่างคำมั่น แล้วขึ้นเวทีเปล่งวาจาพร้อมกันอย่างเข้มแข็ง ตอนนั้นคือนาทีที่ผมมีความสุข เพราะอย่างน้อยผมก็ได้เห็นผู้บริหารจำนวน 52 คน ที่ให้คำมั่นว่า จะไม่หลงทิศหลงทางในอนาคต

แม้ผมไม่อยากเรียกว่าเป็น คำปฎิญาณ ขอเป็นเพียง คำมั่น เท่านั้นก็พอ แต่ผมก็อดไม่ได้ที่จะย้ำกับพวกเขา หลังจากที่เขากล่าวจบว่า

มันคือคำมั่น... (แต่ก็ต้อง) สัญญา (นะ)!