ก้าวสู่ฟุตบอลโลกกับกฎหมายการกีฬา

ก้าวสู่ฟุตบอลโลกกับกฎหมายการกีฬา

“เล่นกีฬาฟุตบอล เล่นไปก็ไม่มีอนาคต จนปากแห้ง” และ “ทีมชาติไทยจะไปบอลโลก ฝันลม ๆ แล้ง ๆ” เป็นสองประโยค ที่เราคนไทยรับรู้ได้ถึงความชินชา

ที่แฝงมาในถ้อยคำ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและความคาดหวังที่ริบหรี่ต่อวงการกีฬาของประเทศไทย และมากไปกว่านั้นยังทำลายความฝันของเด็กไทยที่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ รวมถึงอีกหลาย 10 ล้านคน ที่อยากเห็นทีมฟุตบอลทีมชาติไทยลงแข่งขันในรายการฟุตบอลโลกเพียงเพราะความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า “กีฬาไม่ได้ให้อะไรแก่ใคร”

คำถามที่เกิดขึ้น คือ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2561 เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรกับบริบททางการกีฬาของสังคมไทยข้างต้น? คำตอบที่ชัดเจนที่สุดของ พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ การขับเคลื่อนการทำงานและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับวงการกีฬา ให้เกิดมิติทางการส่งเสริมการเล่นกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชน สมัครเล่นและระดับอาชีพ บูรณาการด้านรักษาสิทธิของนักกีฬาเพื่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ กำหนดแนวทางการลงโทษเพื่อรักษาไว้ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของการแข่งขันกีฬา รวมไปถึงวางนโยบายพัฒนาวงการกีฬาให้เติบโตสู่ระดับสากลผ่านทาง “พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560” และ “พ.ร.บ. ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556”

หลายประเทศในยุโรปและเอเชีย เช่น อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น เป็นต้น เล็งเห็นความสำคัญของวงการกีฬาว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานแห่งการพัฒนาสังคม จึงกำหนดเป้าหมายในการบัญญัติกฎหมายต่าง ๆ มาสนับสนุนวงการกีฬาเพื่อให้เกิดผลสุดท้าย 3 ประการ คือ 1) พัฒนาคุณภาพชีวิต 2) พัฒนาสังคม และ 3) พัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดที่ขับเคลื่อนมิติเหล่านี้จนเกิดเป็นบริบทการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองผู้เล่นกีฬาฟุตบอลเป็นอาชีพ ดังจะเห็นได้จากคดี Walker V. Crystal Palace Football Club (1910) ศาลตีความว่า สัญญาจ้างนักฟุตบอลนั้นต้องถูกคุ้มครองสิทธิพื้นฐานด้วยกฎหมายแรงงาน (Employment Right Act 1996) เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงในอาชีพและส่งเสริมประชาชนให้เล่นกีฬาฟุตบอลเป็นอาชีพ จากจุดนี้ทำให้ อังกฤษมีหลักกฎหมายด้านกีฬามากมาย อาทิเช่น The Football League Contract, The Doctrine of Restraint of Trade และ The Transfer Rules ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของนักกีฬาฟุตบอล โดยมีสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) เป็นผู้ควบคุม ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพนักฟุตบอลในประเทศอังกฤษเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างนักกีฬาที่มีคุณภาพ มีรายได้สูงและสร้างเงินจากการขายลิขสิทธิ์ในการถ่ายถอดสดรายการฟุตบอลอาชีพ (The English Premier league) ปีละหลายแสนล้านบาท

จากบริบทเดียวกัน พ.ร.บ. นโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2561” ซึ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะกำหนดโครงสร้างการจัดการและวางรากฐานในการพัฒนาวงการกีฬาให้เป็นเหมือนดังในประเทศอังกฤษ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติขึ้นมา เรียกชื่อย่อว่า คกช. ซึ่งต้องร่วมทำงานกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านกีฬา ด้านกฎหมายหรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการกีฬา รวมทั้งต้องมีผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยและผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเป็นกรรมการ มีปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอธิบดีกรมพลศึกษาและผู้ว่าการ กกท. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โครงสร้างกรรมการต่าง ๆ 

เหล่านี้ทำหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการกีฬาของประเทศ เสนอมาตรการในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากการปฏิบัติการตามนโยบายและแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการพัฒนาการกีฬาของชาติ นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติในเรื่องต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั่วถึงและมีความพร้อมให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลไปพร้อม ๆ กับผลักดันให้กีฬากลายเป็นอุตสาหกรรมของประเทศ อันสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพและนำเงินเข้าสู่ประเทศ โดยใช้ “พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560” และ “พ.ร.บ. ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556” มาเป็นกลไกสนับสนุน กล่าวคือ มีการกำหนดกรอบแห่งการจัดการแข่งขันที่มีกฎหมายคุ้มครองนักกีฬาอย่างชัดเจน จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลนักกีฬาทั้งในเวลาที่กำลังเล่นและเมื่อเลิกเล่นอาชีพ มีนายทะเบียนและเจ้าหน้าที่เข้าไปเป็นคนกลางในการตรวจสอบดูแลนักกีฬาอาชีพว่า นายจ้างหรือสโมสรต้นสังกัดได้ทำการดูแลตามที่กฎหมายกำหนดสิทธิพื้นฐานไว้หรือไม่ ที่สำคัญอีกประการคือมีบทกำหนดโทษทางอาญาที่ชัดเจนเอาผิดกับนักกีฬาอาชีพหรือบุคคลอื่นใดที่มีเจตนาหาผลประโยชน์โดยทุจริตในวงการกีฬา เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านระบบอันเป็นสากลวิธี

การที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความอันเป็นการยืนยันว่า ฟุตบอลทีมชาติไทยจะได้ไปโลดแล่นในฟุตบอลโลกสมัยหน้า แต่จะร่วมยืนยันว่า หากเรายังมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบโดยใช้บริบททางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมแล้ว ความฝันที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันอาจจะเป็นความฝันที่กลายมาเป็นความจริงได้ในไม่ช้า เพราะปัจจุบันเราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์เหมือนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาและเราพัฒนาระบบฟุตบอลอาชีพในประเทศจนกลายเป็นลีคฟุตบอลอันดับหนึ่งของอาเซียน มีนักกีฬาต่างชาติสนใจเข้ามาร่วมเล่น ด้วยองค์ประกอบด้านความเป็นมืออาชีพและค่าตอบแทน ทำให้ความคิดที่ว่า “เล่นกีฬาฟุตบอล เล่นไปก็ไม่มีอนาคต จนปากแห้ง” ได้ลบเลือนลงไป ดังนี้เหตุใดในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะลบเลือนความคิดที่ว่า “ทีมชาติไทยจะไปบอลโลก ฝันลม ๆ แล้ง ๆ” ไม่ได้เช่นเดียวกัน

โดย... 

อ.ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์