คุณภาพคนในชาติดูได้ที่ “นักฟุตบอลโลก”

คุณภาพคนในชาติดูได้ที่ “นักฟุตบอลโลก”

ผมเขียนบทความนี้ก่อนผลการแข่งขันฟุตบอลโลกสามสี่วันก่อนการแข่งขันรอบแรกจะแข่งครบทุกทีม ไม่ต้องการให้ผู้อ่านคิดไปว่า

ผมจะไปเอาดีทางการเป็น “กูรูฟุตบอล” หรืออาจมีคนเข้าใจว่าเพราะผู้เขียนมีอคติ คิดไปเองกับสิ่งที่จะเขียนให้ได้อ่านต่อไปนี้ ขอเรียนว่าเรื่องที่เล่าสู่กันฟังเป็นประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายปีทั้งด้วยการใช้ชีวิตในช่วงเล่าเรียนที่ต่างประเทศและผลของการได้รับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี ตามความเชื่อของผม “สายโหด”ในการแข่งขันฟุตบอลโลกคราวนี้เห็นชัดๆ อยู่สองทีม ถ้ามาถึงวันที่บทความนี้ลงพิมพ์พวกเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางดีขึ้นขอให้ถือเป็น “การติเพื่อก่อ” คือ ทีมชาติเซอร์เบีย กับ โครแอท สองประเทศนี้ประวัติศาสตร์บ่งชี้ไว้ว่า มีส่วนในการก่อให้เกิดสงครามโลกทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ลุกลามกระทั่งถึงสงครามกลางเมืองช่วงทศวรรษ 1990 ที่สร้างความอับอายให้ชาวยุโรป เพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์น่าจะยุติไปตั้งแต่สมัย “ฮิตเลอร์” กลับผุดขึ้นมาใหม่ในยุคของการต่อสู้ระหว่างเชื้อชาติเผ่าพันธ์ โดยชาวเซิบส์ กับ โครแอท มีความพยายามขับไล่ชาวมุสลิมออกนอกพื้นที่ปกครองของตัวเอง เกิดคลื่นมนุษย์ลี้ภัยสงครามไปทั่วยุโรป

 คนสองเผ่าพันธุ์นี้เคยอยู่รวมกันเป็น “ อดีตยูโกสลาเวีย” ที่แม้ นายพลตีโต้ (TITO) สามารถรวมชาติยูโกสลาเวียเป็นผลสำเร็จ แต่เป็นความสำเร็จที่ทิ้งร่องรอยความขัดแย้งของเผ่าพันธุ์ต่างๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ผมจึงไมแปลกใจกับภาษิตทางการเมืองที่มักได้ยินคุ้นหูว่า “ผู้นำหรือตัวแทนปวงชนเป็นเช่นไร ย่อมสะท้อนคุณภาพประชาชนที่เลือกคนเหล่านี้” หรือในวันนี้ อุปมาอุปมัย “นักฟุตบอลทีมชาติใด เล่นในเกมส์ นอกเกมส์ อย่างไร ย่อมสะท้อนลักษณะนิสัยใจคอของคนชาตินั้นอยู่บางส่วน” แน่นอนครับว่า การแข่งขันกีฬาย่อมมีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่พฤติกรรมที่เหมือนจะเอากันถึงตาย หรือมุ่งเอาชนะแบบไม่ลืมหูลืมตา ขนาดที่ต้องมีการดูวีเออาร์ หรือภาพวีดีโอฉายซ้ำเพื่อช่วยในการตัดสินชี้ขาด (VAR) กันหลายรอบกรณี “ใบแดง” ที่ผู้เล่น เซอร์เบีย เกือบได้ถึงสองใบในนัดแข่งกับทีมคอสตาริกา ในความพยายามเล่นเกมส์แรงทั้งเหยียบเตะรวบและถ่วงเวลาด้วยการไปยื้อแย่งบอลของฝ่ายตรงข้ามมากระทั่งเกือบจะมีเรื่องมีราวในสนาม หรือการเล่นแรงไม่แพ้กันของทีมโครเอเทียในนัดแข่งกับไนจีเรีย

ยอมรับว่าในยุโรปมีทีมที่เล่นแรงและมีลักษณะคล้ายกับทั้ง เซอร์เบีย และ โครเอเทีย อีกหลายทีม ยกตัวอย่าง ตุรกี” ที่อยู่ “สายโหด” เช่นเดียวกัน น่าจะโชคดีสำหรับรัสเซียเจ้าภาพปีนี้ ที่สายโหดมากันเฉพาะเซอร์เบียกับโครแอท ผู้เขียนยังจำได้ดีช่วงที่แฟนบอล “ทีมลีดส์ยูไนเต็ด” ของอังกฤษไปมีเรื่องกับกองเชียร์ตุรกี ในแมทซ์ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกเมื่อหลายปีก่อน มีการวิวาทและเจอแฟนบอลทีมกัลป์ลาตาซาลายน์ (Galatasarray) แทงตายไปสองคน มือแทงพฤติกรรมโหดเหี้ยมไม่แพ้คดีที่เพิ่งมีการงประหารชีวิตแบบในบ้านเรา แต่เพราะเขายกเลิกโทษที่ว่าอย่างเป็นทางการ มือแทงเลยรับโทษจำคุกไป แต่แทบทุกครั้งที่เห็นทีมยักษ์ใหญ่ของตุรกีทีมนี้ไปแข่งที่ใดก็มักมีเรื่องมีราวกันเสมอ อาจเรียกได้ว่าเป็นพวก “ฮูลิแกน (Hooligan)” หรืออันธพาลอีกกลุ่มที่มีความต่างจากทางอังกฤษที่มักเป็นอันธพาลแนวเมาแล้วหาเรื่อง แต่กลุ่มอันธพาลบางกลุ่มดูเหมือนจะตระเตรียมการกันไปทุกนัดเพื่อการวิวาทในลักษณะนี้โดยเฉพาะ

ขณะที่มองย้อนดูประเทศซึ่งไม่ใช่เข้าข้างหรือแลดูเป็นคนตะวันออกเหมือนเรา แต่ “ชาวญี่ปุ่น” ได้รับการกล่าวขวัญถึงน้ำใจนักกีฬาและยึดมั่นในกฎกติกามารยาทอย่างมาก กองเชียร์ยังคงสะท้อนความมีวินัย การมีน้ำใจไมตรีมี “จิตสาธารณะ” คอยเก็บขยะมูลฝอยเมื่อเสร็จการแข่งขัน ในขณะที่เยอรมันนีแม้จะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในการแข่งขันคราวนี้ แต่ยังคงรักษามาตรฐานของความมีวินัยในการเล่น เป็นนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ ที่เราน่าศึกษาเอามาเป็นแบบอย่าง เหมือนจะหนักในเกมส์แต่ยอมรับได้ ซึ่งการมีตัวตายตัวแทนของทีมชาติเยอรมันนี สะท้อนทั้งความสำเร็จในการพัฒนาประเทศและความเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรม การเป็นผู้นำทางองค์ความรู้ต่างๆ ได้ดีมากอีกประเทศหนึ่ง กระทั่งเคยมีคนตั้งคำถามกันว่า การที่ประเทศเยอรมันกับญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม คือ ฝ่ายสัมพันธมิตร น่าสนใจว่าการที่ฝ่ายพันธมิตรเอาชนะทั้งเยอรมันนีและญี่ปุ่นได้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นที่ฝ่ายพันธมิตรมีจำนวนกำลังพลหรือพละกำลังที่มากกว่า เรียกเป็นภาษาอังกฤษคือ outnumber ฝ่ายอักษะ ในขณะที่วิเคราะห์กันดีๆ จะเห็นว่าถึงกระนั้น ฝ่ายอักษะสามารถยันกำลังอำนาจฝ่ายพันธมิตรได้ถึง 4 ปี พูดอีกนัยหนึ่ง ถึงอักษะจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และเราไม่เคยมองข้ามความโหดเหี้ยมทารุณกรรมต่อมวลมนุษยชาติที่ฝ่ายอักษะทำไว้ ต้องถือว่าในเชิงยุทธวิธีของพวกเขาเป็นเรื่องน่าศึกษาไว้เป็นบทเรียน ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ระเบิดปรมาณูที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำไปทิ้งที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ รวมทั้งการบอมบ์กรุงเบอร์ลินแบบไม่มีชิ้นดี ย่อมสะท้อนความโหดเหี้ยมอันเนื่องมาจากสงครามเช่นเดียวกัน

ในทุกวันนี้อาจเชื่อกันว่า คนเยอรมันนี คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ มีแนวความคิดมุมมองทัศนคติที่แตกต่างไปจากคนในรุ่นเก่า เขาอาจไม่ใช่ผู้กระหายสงครามแล้ว แต่พื้นฐานความมีวินัยและความมานะอุตสาหะที่เขามี การเป็น “คนที่ล้มแล้วรีบลุกเดินหรือวิ่งต่อไปสู่จุดหมายปลายทาง” หรือ “การมีพลังแห่งการมุ่งมั่นเอาชนะ (ในทางที่ถูกที่ควร) ไม่ยอมแพ้กับอุปสรรคขวากหนามต่างๆ” เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่า มันคือ “เชื้อไฟสำคัญ” ที่ทำให้เขาสามารถยืนหยัดเจิรญก้าวหน้ามาได้ถึงทุกวันนี้